'โชเซ่นฯ' โชว์ดีพเทค ระบบอัจฉริยะคุมอีวีชาร์จ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยและทั่วโลกต่างมุ่งเป้าการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยความที่กำลังเข้าสู่สังคมสมาร์ทซิตี้ และความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายประเทศทั่วโลกมีมาตรการ ส่งเสริมการใช้ "ยานยนต์ไฟฟ้า" หรือ อีวี
เมื่อเทรนด์มาในด้านนี้สิ่งที่ตามมาคือระบบการชาร์จ ซึ่งสิ่งสำคัญคือฮาร์ดแวร์ชาร์จเจอร์ เพราะรถไฟฟ้าอีวีใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก ทำให้มีจุดชาร์จ (EV Station) รถยนต์สาธารณะมากมาย แต่การใช้งานจำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ควบคุม เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการคิดค่าบริการการชาร์จไฟฟ้า
รวมถึงสามารถควบคุมกระแสไฟฟ้าไม่ให้มากไปจนเกิดอันตรายได้ อย่างเช่น รถยนต์อีวี 1 คัน ใช้กำลังไฟฟ้าในการชาร์จได้สูงถึง 22 กิโลวัตต์ในการชาร์จแบบไฟกระแสสลับ(AC) ซึ่งเท่ากับการเปิดเครื่องปรับอากาศ 30,000 BTU พร้อมกัน 8 ตัว เพราะฉะนั้นพลังงานไฟฟ้าจึงไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ บริษัท โชเซ่น เอ็นเนอร์จี้ จำกัด ภายใต้การบริหารงานของ “วรพจน์ รื่นเริงวงศ์” ประธานกรรมการบริหารบริษัท โชเซ่น เอ็นเนอร์จี้ จำกัด พัฒนา “แพลตฟอร์มในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EVen (อีวีเอ็น)” ขึ้น
วรพจน์ เล่าว่า เดิมที ‘โชเซ่น เอ็นเนอร์จี้’ เป็นบริษัทด้านไอทีมีความเชี่ยวชาญในด้านไอทีกว่า 20 ปี จึงนำจุดแข็งตรงนี้มาพัฒนาแพลตฟอร์มอัจฉริยะดังกล่าว เป็นโซลูชั่นแพลตฟอร์มที่จะมีการคุยกับรถแบบอัตโนมัติด้วยระบบ ที่มีความสำคัญในการบริหารจัดการพลังงานอัตโนมัติ โดยใช้ระยะเวลาในการพัฒนามาถึง 4 ปี
“อีวีเอ็น คือ ระบบการจัดการพลังงานยานยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนาและปรับแต่ง โดยคนไทยร่วมกับได้โนว์ฮาวบางส่วนจากเนเธอร์แลนด์ ทำให้เจ้าของสถานที่ผู้ให้บริการสถานี/จุด ชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ได้ทราบถึง สถานะการใช้ไฟฟ้าของยานยนต์เหล่านั้น อาทิ จำนวนไฟฟ้าที่ใช้ในการชาร์จ(kW) ตำแหน่งที่ตั้งของสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า, สถานะของเครื่องชาร์จ, เวลาที่ใช้ในการชาร์จ, การตั้งค่าใช้บริการในการชาร์จ, การชำระค่าบริการในการชาร์จ, การทำโปรโมชั่นร่วมกับสถานประกอบการ รวมไปถึงการติดต่อสื่อสารระหว่างแอปพลิเคชั่นร่วมกัน (API) เป็นต้น และที่สำคัญระบบของทางบริษัทฯ ได้ใช้ OCPP Protocol ที่จะทำหน้าที่สื่อสารกัน ซึ่งเป็นภาษากลางระหว่างเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้ากับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการ”
เชื่อมต่อแบบอัลลิมิต
ทั้งนี้อีวีเอ็น มีการประเมินการจ่ายไฟจากบอร์ดควบคุม เพื่อเป็นการควบคุมกำลังการจ่ายไฟไปยังแบตเตอรี่ได้อย่างเหมาะสมกับรถแต่ละคัน ช่วยรักษาอายุการใช้งานแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ให้เสื่อมก่อนกำหนด รวมถึงมีระบบ Load Balance สามารถจัดลำดับคิวการใช้บริการชาร์จไฟ เมื่อมีรถ EV หลายคันเข้ามาใช้บริการพร้อมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟฟ้าล่ม ณ สถานที่ให้บริการชาร์จเจอร์ มีระบบป้องกันไฟกระชาก ไม่เป็นอันตรายทั้งสถานที่และรถ อีกทั้งการบริหารจัดทั้งหมดนั้นจะแสดงผลผ่านแอพพลิเคชั่น บนมือถือ ที่จะทำให้ผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าสามารถตรวจเช็คข้อมูลด้านต่างๆได้อย่างง่ายดายอีกด้วย
อีกหนึ่งจุดเด่นของอีวีเอ็น วรพจน์ เล่าว่า คือ การปรับแต่งระบบการจัดการไฟฟ้าผ่านบัตร(RFID CARD) หรือผ่านมือถือ(NFC) ซึ่งสามารถต่อยอดทางด้านการตลาดได้ ไปยังระบบของร้านค้าหรือสถานประกอบการได้ เช่น การใช้บัตรคีย์การ์ดของคอนโดมิเนียม มาเชื่อมโยงเข้ากับระบบการจัดการ เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ใช้งาน เมื่อถึงสิ้นเดือนระบบจะทำการคิดเงินจำนวนการใช้ไฟ แล้วส่งไปยังผู้ใช้งานตามการใช้งานจริง (Postpaid)
ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาผู้พักอาศัยเรื่องการใช้ไฟส่วนกลางในการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งการใช้บัตรสะสมคะแนนของห้างสรรพสินค้า เพื่อทำโปรโมชั่นร่วมกันระหว่างการช็อปปิ้งและการชาร์จ อาทิ ช้อปครบ 1,000 บาท ชาร์จไฟฟรี เป็นต้น และยังมีการ ให้สิทธิกับรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ สามารถนำมาชาร์จในจุดจอดพิเศษของทางค่ายรถยนต์ เพื่อทำโปรร่วมกับทางสถานที่
ไร้ขีดจำกัด ‘จ่ายไฟข้ามค่าย’
นอกจากนี้ระบบอีวีเอ็นสามารถเข้าไปบริหารจัดการกับเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ได้เกือบทุกยี่ห้อโดยผ่านระบบสื่อสาร OCPP ซึ่งเป็นมาตรฐานกลางของเครื่องชาร์จ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องชาร์จทางฝั่งยุโรป เอเชีย หรือจีน
“โมเดลธุรกิจอีวีเอ็น สามารถนำไปทำแผนธุรกิจต่อยอดทางด้านการตลาดได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มประเทศแถบยุโรป เช่น บัตรการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสามารถทำโปรโมชั่นร่วมกับ ห้างสรรพสินค้า, ค่ายรถยนต์, การชำระค่าบริการเข้าเมืองชั้นใน, ร้านสะดวกซื้อ, โรงแรม, โรงภาพยนตร์ หรืออื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อสิทธิประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้งาน”
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าระบบบริหารการจัดการ การชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EVen) เป็นระบบที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับแต่งให้เข้ากับลูกค้าตามที่ลูกค้าหรือผู้ประกอบการต้องการ ทั้งนี้อีวีเอ็นยังมีจุดเด่นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลเป็นอย่างมากเพราะว่ามีการจัดเก็บข้อมูลและการควบคุมระบบไว้ในประเทศไทย ไม่ได้โรมมิ่งหรือฝากข้อมูลไว้ ณ เซิฟเวอร์ที่ต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นความมั่นคงทางข้อมูลระดับชาติ (National Security) เช่น ข้อมูลผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าทั้งประเทศ ดังนั้นหากข้อมูลเหล่านั้นถูกจัดเก็บไว้ยัง เซิฟเวอร์ในประเทศไทย ก็จะเป็นการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลในประเทศได้อีกทางหนึ่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง