"จีดีซีซี"เร่งจัดสรรคลาวด์กลางรัฐ-ยอดขอใช้งานพุ่งทะลุเป้า รอขยายเฟสสอง 35,000 วีเอ็ม
กสทฯเผยโครงการคลาวด์กลางภาครัฐจ่อขยายเฟสสองลุยอบรมสร้างบุคลากรภาครัฐบริหารงานบนคลาวด์ ตั้งเป้าพัฒนาคนไอทีภาครัฐต่อเนื่องกว่า 1,000 คน ใช้การเป็นรัฐบาลดิจิทัลทำให้ความต้องการเซิร์ฟเวอร์เสมือนมากขึ้น
นางสาวพัชรินี เทียนตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายธุรกิจคลาวด์และบิ๊กดาต้าบมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรภาครัฐเข้าสู่ยุคใหม่ของการบริหารงานราชการบนคลาวด์กลางภาครัฐ ภายใต้โครงการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (จีดีซีซี) กสทฯได้เปิดการบรรยายและอบรมหลักสูตรให้แก่ผู้แทนหน่วยงานรัฐจากกรมต่างๆ 350 คน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง ผ่านการขับเคลื่อนของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)
และเพื่อเป็นบริการรวมศูนย์การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเสมือน (Virtual Machine) ที่มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน ISO 270001 ISO 20000-1 CSA STAR และ SLA 99.99% ทั้งนี้ คลาวด์กลางภาครัฐตั้งเป้าให้บริการไว้รวมทั้งสิ้น 20,000 วีเอ็มในปี 2565 แต่สิ้นปี 2563 กลับมีตัวเลขขอเข้าใช้จากภาครัฐแล้วถึง 40,000 วีเอ็ม
“ปัจจุบันภาครัฐก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเพื่อให้บริการได้รวดเร็วผ่านคลาวด์ ทำให้มีความต้องการใช้งานเครื่องเซิร์ฟเวอร์เสมือนจำนวนมากเกินเป้าหมาย ล่าสุดจึงขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับเฟสต่อไปโดยปรับเป้าหมายปี 2565 ให้ สามารถรองรับได้อย่างน้อย 35,000 วีเอ็ม โดยจะดำเนินการจัดสรรทรัพยากรคลาวด์ ให้ตามลำดับความพร้อมของแต่ละหน่วยงานซึ่งมีความพร้อมด้านระบบไอทีสารสนเทศไม่เท่ากัน”
อย่างไรก็ตาม กสทฯได้โอนย้ายระบบงานของหน่วยงานต่างๆ ขึ้นสู่ระบบคลาวด์กลางภาครัฐเรียบรัอยแล้วกว่า 21,000 วีเอ็ม ทั้งนี้ นอกจากฮาร์ดแวร์ที่เพียงพอแล้ว การพัฒนาพีเพิลแวร์ หรือบุคลากรไอทีภาครัฐทุกหน่วยงานให้มีความรู้ความเข้าใจด้านคลาวด์ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพื่อให้หน่วยงานสามารถบริหารจัดการบิ๊กดาต้าภาครัฐบน คลาวด์กลางดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพบนมาตรฐานเดียวกัน โดยที่ผ่านมาโครงการจีดีซีซีได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่ภาครัฐเพิ่อ เป็นกำลังสำคัญในการบริหารระบบงานภาครัฐบนคลาวด์กลางแล้วกว่า 1,000 คน และมีเป้าหมายการอบรมรวมทั้งสิ้น 2,500 คน
เธอ ย้ำว่า เป้าหมายหลักของ จีดีซีซีคือการยกระดับประเทศไทยในด้านคลาวด์เพื่อให้ขับเคลื่อนไปถึงจุดหมายคือรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสมาร์ท และ โอเพ่น กอฟเวอร์เมนต์คือใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าในการตัดสินใจเมื่อมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐด้วยกัน นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มฐานรองรับสำคัญคือการกำกับดูแลและกฎหมายโดยปัจจุบันที่ได้มีการเริ่มดำเนินการร่าง นโยบายด้านคลาวด์ (Cloud Policy) และ ยุทธศาสตร์การบริหารข้อมูลแห่งชาติ (National Data Strategy)