‘อีคอมเมิร์ซ' พุ่ง 'ลาซาด้า-ช้อปปี้' แข่งดุ ยกระดับโลจิสติกส์
โควิดรอบ 2 ดัน “ส่งพัสดุด่วน” แข่งเดือด จับตาอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ งัดกลยุทธ์ขนส่งสู้ทุกมิติ อาจรวบการจัดส่งไว้เองมากขึ้น 'ช้อปปี้' เร่งปรับระบบหลังโดนร้องประเด็นค่าขนส่ง "กูรูอีคอมเมิร์ซ" ระบุหากรายใหญ่ทำระบบขนส่งเองอาจไม่ง่าย เหตุออเดอร์ทะลักมหาศาล
“ช้อปปี้” เร่งปรับระบบขนส่งใหม่ ตอบโจทย์ยอดพุ่ง-กระแสร้องค่าส่งแพง “ลาซาด้า” ชูค่าส่งฟรีไม่มีเงื่อนไข พร้อมยกระดับคลังสินค้าทั้งระบบดึงดิจิทัลบริษัทแม่ “อาลีบาบา” เสริม
โควิดรอบสอง อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายกลุ่ม แต่กลุ่มหนึ่งที่ยังได้รับอานิสงส์ในวิกฤตินี้ คือ กลุ่มอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ รวมถึงธุรกิจขนส่งพัสดุด่วน ที่มีการแข่งขันกันสูงขึ้น จากปริมาณการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ขยายตัว อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในตลาด เริ่มงัดกลยุทธ์ขนส่งสินค้าในรูปแบบใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอลที่ชิงกันใน 3 เรื่อง ถูก เร็ว และดี
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า วิกฤติโควิด-19 ดันให้ภาพรวมอีคอมเมิร์ซไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 100% ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา ระบบขนส่งโลจิสติกส์และระบบการชำระเงินมีความพร้อมมากอยู่แล้ว อีมาร์เก็ตเพลส จะแข่งขันกันรุนแรงด้วยรายใหญ่ที่ทุนหนาพร้อมอัดโปรโมชั่นแข่ง
ขนส่งโลจิสติกส์แข่งเดือด
“ปีที่ผ่านมาเป็นการแข่งขันของวงการอีคอมเมิร์ซ และยังเป็นการแข่งขันของวงการโลจิสติกส์ด้วยเหมือนกัน เพราะแต่ละรายสาดกลยุทธ์กันแบบเลือดเดือด หลายรายหั่นราคาสู้กัน เช่น ช่วง 9 เดือน 9 ส่งกันออเดอร์ละ 9 บาท กลายเป็นการแย่งชิงลูกค้ากันเลยทีเดียว”
การแข่งขันของบริษัทขนส่ง จะกระตุ้นให้ค้าออนไลน์โตก้าวกระโดดอย่างมาก ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ เคอรี่ (Kerry) ที่เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือแฟลช เอ็กซ์เพรส ที่ระดมเงินได้หลายหมื่นล้าน ทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันการขนส่งแบบดุเดือด ราคาค่าส่งสินค้าจะถูกลง แต่ส่งได้เร็วขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ อาจจะรวบการจัดส่งเอาไว้เอง เหมือนอย่าง อเมซอน ยักษ์อีคอมเมิร์ซโลกที่ใช้วิธีจัดส่งสินค้าด้วยตัวเอง แต่มองอีกด้านอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะด้วยจำนวนคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ที่มีจำนวนมหาศาล หรือการครอบคลุมพื้นที่แบบ 100% ที่บางครั้งต้องส่งในพื้นที่ไกลมาก อาจไม่คุ้มกับการลงทุน
“ผมเชื่อว่า บริษัทที่ทำขนส่งโดยเฉพาะ ยังมีบทบาทสำคัญ และในกลุ่มนี้จะแข่งขันกันสูงมาก โดยเฉพาะรายใหญ่ อย่างเคอรี่ หรือแม้แต่ไปรษณีย์ไทย ก็ต้องหากลยุทธ์ในการตั้งรับเพื่อรักษาพื้นที่ผู้นำของตัวเอง ซึ่งในอนาคต สิ่งที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซต้องทำในมุมของการขนส่ง คือ ต้องมีทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น ในราคาค่าจัดส่งที่เหมาะสม” นายภาวุธ กล่าว
ขณะที่ นายสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทชิปป๊อป จำกัด สตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ สัญชาติไทย กล่าวว่า ภาพรวมของอีคอมเมิร์ซปีนี้แข่งขันกันก็จริง และตลาดก็คงขยายตัวแต่ไม่ได้พุ่งเต็มที่ เพราะมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ผู้บริโภคอาจคิดมากขึ้นในการซื้อสินค้า ดังนั้นย่อมส่งผลถึงการขนส่ง หรือธุรกิจส่งพัสดุด่วนด้วย ซึ่งแต่เดิม คาดการณ์ว่า จะมีจำนวนพัสดุที่ส่งต่อวันมากถึง 20 ล้านชิ้น แต่วันนี้เชื่อว่า ตัวเลขลดลงเหลือราว 13 ล้านชิ้น ขณะที่ การแข่งขันของผู้ให้บริการขนส่ง จะแข่งกันใน 3 เรื่องหลัก คือ ถูก เร็ว และดี
‘ช้อปปี้’แจงปัญหาจัดส่ง
ขณะที่ แหล่งข่าวระดับสูง บริษัท ช้อปปี้ ประเทศไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” หลังมีกระแสการร้องเรียนเรื่องการขนส่งสินค้าว่า บริษัทได้นำข้อร้องเรียนไปพิจารณาปรับให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งการปรับเปลี่ยนการขนส่งของช้อปปี่้ล่าสุด ได้ปรับวิธีจัดส่งสินค้ามาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน ปี 2563 เรียกว่า "Shopee standardized logistics service" แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ standard delivery (normal) และ standard delivery (Bulky) เพื่อความสะดวกของร้านค้าในการเปิดใช้งาน ระบบจะทำการเลือกบริการขนส่งให้อัตโนมัติ หลังจากที่ผู้ซื้อชำระเงินเรียบร้อยแล้ว
ทั้ง 2 แบบจะแบ่งบริษัทขนส่ง ให้ทำหน้าที่ขนส่งตามเงื่อนไข เช่น สินค้าที่มีน้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม จะใช้ ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส, เคอรี่ เอ็กซ์เพรส, นินจาแวน, เบสท์ เอ็กซ์เพรส, เจแอนที เอ็กซ์เพรส เป็นต้น ขณะที่ ถ้าเป็นสินค้าที่น้ำหนักไม่เกิน 100 กิโลกรัม จะใช้ ดีเอชแอล หรือช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส
“การปรับระบบขนส่งแบบนี้ ความตั้งใจแรกต้องการให้ผู้ค้าโฟกัสในเรื่องการขาย การสร้างยอดได้เต็มที่ ส่วนระบบหลังบ้านช้อปปี้จะจัดการให้ซึ่งรวมถึงระบบการขนส่ง ผูู้ค้าจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องการขนส่งสินค้า ส่วนผู้ซื้อเองจะได้รู้สึกสนุกไปกับการชอปปิงให้เต็มที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการขนส่งเช่นกัน” แหล่งข่าว ช้อปปี้ ประเทศไทย ชี้แจง
เร่งปรับค่าส่งให้เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดฟีดแบ็คขึ้นมา ช้อปปี้ ได้นำข้อร้องเรียนต่างๆ กลับไปพิจารณา จัดให้มีคูปองส่งฟรีมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของ Shopee from home ที่จะจัดส่งฟรีทั้งหมด ขณะที่จะพิจารณาคิดค่าจัดส่งในส่วนที่ต้องมีค่าจัดส่งในราคาที่เหมาะสมมากขึ้นกว่าเดิม พร้อมกับเร่งพัฒนาระบบขนส่งของตัวเองควบคู่ไปด้วยอย่าง "ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส" ที่ปัจจุบันยังให้บริการแค่เฉพาะกรุงเทพฯ และปริมลฑลเป็นหลัก ปัจจุบันช้อปปี้มีผู้ใช้ในประเทศไทยกว่า 30 ล้านคน และจำนวนผู้ใช้กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มียอดคำสั่งซื้อสูงที่สุดบนช้อปปี้
‘ลาซาด้า’ ชูส่งฟรี-อัพเกรดแวร์เฮ้าส์
ด้านแหล่งข่าวระดับสูง บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า กลยุทธ์การจัดส่งสินค้าที่ลาซาด้า ยังได้เปรียบคู่แข่ง คือ การจัดส่งฟรี โดยมีทั้งผ่านคูปองที่อยู่ภายในเว็บ ซึ่งสามารถใช้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด รวมไปถึงเมื่อซื้อสินค้า 3 ชิ้นก็จะคิดค่าจัดส่งฟรี
ขณะเดียวกัน ลาซาด้า ยังมีบริการจัดส่งที่เป็นของตัวเอง หรือ ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส ด้วยมีศูนย์คัดแยกสินค้า ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส ประเทศ (LEX) ที่ระบุว่า ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเมื่อเทียบกับศูนย์คัดแยกสินค้าแห่งอื่นใน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม โดยได้นำเทคโนโลยี อาทิ Shoes Sorter หรือระบบคัดแยกพัสดุอัตโนมัติแบบสายพานล้อเลื่อน
และ Wave Sorter ระบบคัดแยกพัสดุอัตโนมัติแบบถาดยกเท ทำให้ระบบการคัดแยกและลำเลียงสินค้ามีความรวดเร็วและแม่นยำสูง มาใช้ ซึ่งทำให้ LEX สามารถรองรับดีมานด์ที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแคมเปญ 12.12 ที่ผ่านมา ทาง LEX สามารถจัดส่งสินค้าแคมเปญถึงลูกค้าคนแรกภายในเวลา 07.41 น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ลาซาด้า ได้ยกระดับศูนย์บริการจัดการคลังสินค้าให้เป็นแบบครบวงจรมากขึ้นควบคู่ไปด้วย โดยนำเทคโนโลยีจากอาลีบาบามาประยุกต์ใช้ เช่น ระบบจัดการคลังสินค้า Dabao (Dabao Warehouse Management System) สำหรับควบคุมสินค้าคงคลัง ระบุตำแหน่งสินค้าเมื่อได้รับคำสั่งซื้ออย่างแม่นยำ