นักพัฒนากลายเป็นฮีโร่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
สำหรับองค์กรธุรกิจหลายล้านแห่งทั่วโลกแล้ว การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการเติบโต ความยืดหยุ่น และความสามารถในการปรับขยายขนาดขององค์กร
เอกรัฐ งานดี ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเวียดนาม เอาท์ซิสเต็มส์ เปิดมุมมองว่า วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้หลายๆ บริษัทต้องคิดทบทวนเพื่อมองหาหนทางที่จะดำเนินธุรกิจและอยู่รอดให้ได้ในโลกวิถีใหม่ องค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปก็จะต้องเลิกกิจการไปในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ดี เมื่อมองย้อนกลับไปตลอดช่วงปีที่ผ่านมาซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาและความยากลำบาก กลับพบว่ามีความสำเร็จจำนวนมากเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่ง “นักพัฒนา” ได้กลายเป็นฮีโร่ในการสร้างสรรค์โซลูชั่นนวัตกรรมต่างๆ และนำแนวการพัฒนาโลกดิจิทัลไปพร้อมๆ กับผู้บริหารองค์กรธุรกิจ
ก้าวสู่แพลตฟอร์มยุคใหม่
สำหรับปี 2564 มีการคาดการณ์ว่า จะมีแพลตฟอร์มประเภทใหม่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากบริษัทต่างๆ เผชิญขีดจำกัดของแพลตฟอร์ม No-code และ Low-code ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย
ขณะที่บริษัทต่างๆ ใช้งานเครื่องมือแบบ No-code และ Low-code เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาแอพท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนในช่วงปี 2563 แต่อีกไม่นานบริษัทเหล่านี้ก็จะตระหนักถึงข้อจำกัดของแพลตฟอร์มดังกล่าว และจะเริ่มมองหาแพลตฟอร์มที่ก้าวล้ำมากกว่า เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่ทีมงานฝ่ายพัฒนาสำหรับการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ
ที่ผ่านมา แพลตฟอร์ม No-code และ Low-code รองรับการสร้างแอพพลิเคชั่นทั่วไปที่มีความสามารถในการทำงานเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อองค์กรต้องการสร้างแอพที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจหรือแอพใหม่ที่อยู่นอกขอบเขตของเครื่องมือดังกล่าว ท้ายที่สุดแล้วแพลตฟอร์มนี้ก็จะไปถึงทางตันและกลายเป็นเครื่องมือที่ล้าสมัย
ดังนั้น หลายๆ บริษัทจะเริ่มทิ้งแพลตฟอร์มระดับเบื้องต้นดังกล่าวซึ่งถูกใช้ในการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า แล้วหันไปใช้ “Modern Application Platforms” ที่มีความสามารถสูงกว่ามาก เพราะสามารถรองรับการสร้างแอrพลิเคชั่นทุกประเภท โดยนอกจากจะสร้างได้เร็วแล้ว ยังสามารถปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่น ปลอดภัย และช่วยสร้างความแตกต่างและข้อได้เปรียบที่จำเป็นสำหรับการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต
'เอไอ' ตัวจักรเพิ่มศักยภาพ
จากนี้แนวคิดของนักพัฒนาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยจะมุ่งเน้นสิ่งที่จะสร้าง มากกว่าวิธีการสร้าง โดยทั่วไปแล้ว นักพัฒนามักจะทุ่มเทความสนใจให้กับวิธีการสร้างซอฟต์แวร์ และความถนัดกับภาษาที่ใช้เขียนโปรแกรมและ “สแต็ก (Stack)” แต่ความคุ้นเคยที่ว่านี้จะค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไป เพราะปัญหาที่ต้องใช้ซอฟต์แวร์ในการแก้ไขจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
อีกทั้งจะมีโครงการพัฒนาจำนวนมากที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างฝ่ายธุรกิจและฝ่ายไอที นักพัฒนาจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อมุ่งเน้นการส่งมอบโซลูชั่นที่มีความสำคัญต่อการดำเนินงาน (mission-critical solutions) โดยไม่คำนึงถึงวิธีที่ใช้ในการสร้างโซลูชั่นนั้นๆ จากนี้นักพัฒนาจะเปิดกว้างมากขึ้นและยอมรับแนวทางใหม่ๆ เช่น การปรับใช้ระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัว ลดข้อผิดพลาด และลดการพึ่งพาฝ่ายเทคนิค
ที่น่าสนใจ เอไอจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับนักพัฒนาทุกกลุ่ม โดยบทบาทของเอไอต่อการพัฒนาแอพพลิเคชั่นในอนาคตเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก
โดยมีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับศักยภาพของเอไอ แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือเอไอ สามารถสร้างสรรค์โอกาสและความเป็นไปได้มากมายเกินกว่าขีดจำกัด และในปีนี้การพัฒนาแอพโดยอาศัยเอไอจะยกระดับมาตรฐานของการพัฒนา ด้วยรูปแบบการใช้งานที่แปลกใหม่และมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ เอไอสามารถใช้งานได้ทั้งสำหรับนักพัฒนามืออาชีพและมือสมัครเล่น ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มความรวดเร็วและความแม่นยำในการสร้างแอพพลิเคชั่น และจะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนานวัตกรรม มากกว่าที่จะเป็นอุปสรรค ปัจจุบันโลกอยู่ในจุดสูงสุดของการพัฒนาระบบอัตโนมัติและซอฟต์แวร์ที่เสริมสร้างกระบวนการทำงาน ก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญและในไม่ช้าเอไอจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้นักพัฒนาขยายขอบเขตการทำงานและการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเหนือชั้น