'เทดฟันด์' ส่งวิจัยเข้าห้าง กองทุนปั้นนักรบนวัตกร

'เทดฟันด์' ส่งวิจัยเข้าห้าง  กองทุนปั้นนักรบนวัตกร

ไอเดียดี! อย่างเดียวคงไม่พออีกต่อไป หากไร้ซึ่งแหล่งเงินทุนเพราะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีต้นแบบมาจากงานวิจัย หรือมีไอเดียที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้น มักมีความเสี่ยงด้านการลงทุน ทำให้ภาคเอกชนและนักลงทุนมือใหม่ตลอดจนสตาร์ทอัพไม่กล้าลงทุน

ทำให้ภาคเอกชนและนักลงทุนมือใหม่ตลอดจนสตาร์ทอัพไม่กล้าลงทุนเต็มร้อย จึงเป็นบทบาทของภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุนเพื่อสร้างความกล้าและมั่นใจที่จะลงทุนทำให้สินค้านวัตกรรมเกิดขึ้นจริง

"กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม" หรือเทดฟันด์ (TED Fund) ภายใต้การบริหารงานของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ถือเป็นกองหนุนสำคัญในการนำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง โดยเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อน ส่งเสริมผู้ประกอบการและเยาวชนรุ่นใหม่ ที่มีไอเดียด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นฐานในการทำธุรกิจ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560

สร้างฐานนักรบเศรษฐกิจใหม่

161279285413

ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาฯ กล่าวว่า ช่องว่างใหญ่สำหรับประเทศไทย คือ การที่งานวิจัยมักอยู่ในห้องแล็บ ซึ่งการที่จะข้ามสู่เชิงพาณิชย์ได้นั้นยาก ดังนั้นการที่จะข้ามได้ต้องมีทุน ที่จะผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ ดังนั้นกองทุนเทดฟันด์จึงตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์นี้ ฉะนั้นผู้ที่จะมาขอทุนส่วนใหญ่จะมีงานวิจัยพร้อมอยู่ในมือ และมีความตั้งใจที่จะทำธุรกิจ ทุนนี้จะผลักดันให้งานวิจัยบนกระดาษสู่สิ่งที่สามารถใช้จริงขึ้นมาได้

161279292336

หนึ่งในตัวอย่างที่สร้างมูลค่าทางธุรกิจให้มากที่สุดคือ “มายแบนด์ (Myband)” แพลตฟอร์มแมชชิ่งนักดนตรีกับคนจ้างงาน ที่มองเห็นปัญหาในการจัดหาวงดนตรีเพื่อแสดงในงานต่างๆ เหมือนกับการ customize ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบได้สูงถึง 100 ล้านบาท

ตัวอย่างถัดมาที่ได้รับการสนับสนุนจากเทดฟันด์ Space Walker อุปกรณ์ฝึกเดินสำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยกายภาพบำบัด นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุมีคุณภาพเทียบเท่ากับอุปกรณ์นำเข้ามีราคาสูงถึง 5 ล้านบาท แต่ลักษณะการทำงานไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานในบ้านเรา ขณะที่เอกชนไทยสามารถผลิตได้ในราคาประมาณ 6 หมื่นบาทเท่านั้น 

161279295010

ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมนี้ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าของประเทศไทย ในการสร้างฐานนักรบเศรษฐกิจใหม่ให้สามารถแข่งขันในตลาดระดับโลก โดยเทดฟันด์จะเร่งสปีดในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยการกำหนดเป้าหมายเชิงรุก ในปี 2564 เทดฟันด์ได้สานต่อโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (Youth Startup Fund) เป็นปีที่ 2 หวังพัฒนาเยาวชนไปสู่สตาร์ทอัพ มุ่งเน้นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ เปิดแนวรุกกระจายการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 

ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นผู้ประกอบการบุคคลธรรมดา และนักศึกษาซึ่งมีสัญชาติไทย อยู่ระหว่างการศึกษาในสถาบันการศึกษา ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก หรือจบการศึกษามาแล้วไม่เกิน 5 ปี พร้อมทั้งเป็นสมาชิกของเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ที่ได้รับการรับรองจากเทดฟันด์ ซึ่งมีทั้งหมด 32 แห่งทั่วประเทศ แบ่งสัดส่วนเป็นกรุงเทพฯ 50% ภูมิภาค 50% ทั้งมหาวิทยาลัยภาครัฐ และเอกชน 

เทดฟันด์จะเป็นพาร์ทเนอร์และทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อที่จะผลักดันเตรียมความพร้อมการวางแผนธุรกิจของคนรุ่นใหม่ เหมือนการพิสูจน์เทคโนโลยีในระดับหนึ่ง ทั้งเป็นการช่วยในการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาสมัคร และเป็นพี่เลี้ยงในการบ่มเพาะ โดยรอบที่ 2 จะเปิดรับสมัครวันที่ 1 มี.ค.นี้

ติดปีก ‘ยุวสตาร์ทอัพ’

การดำเนินการทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยผลลัพธ์ที่ได้อย่างแรกคือ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ฝีมือคนไทยออกสู่ตลาดมากขึ้น จะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ที่สำคัญหากผลิตได้เองในประเทศก็จะได้เปรียบทางด้านราคา ทั้งนี้สินค้านวัตกรรมส่วนใหญ่หากยอดขายติดตลาดจะเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดเพราะเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการ อีกทั้งไทยจะมีผู้ประกอบการที่มีการเติบโตในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ส่วนด้านสังคมคือนวัตกรรมจะราคาถูกลง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโปรดักท์ทางด้านนวัตกรรม

161279298472

ทั้งนี้ เคล็ดลับที่ทำให้สตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอีประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจนวัตกรรมได้นั้น ส่วนหนึ่งคือต้องมีความตั้งใจและใส่ใจกับเทคโนโลยี เชื่อในผลิตภัณฑ์ของตนเองที่ตอบโจทย์ความต้องการได้จริง และทุ่มเทกับการพัฒนา แต่ถึงแม้จะมีความตั้งใจแต่บางรายอาจติดข้อจำกัดในส่วนของเงินทุน สายป่านไม่ยาว จึงกลายเป็นว่ามีเพียงไอเดียแต่ไม่มีรูปลักษณ์ที่จับต้องได้ ดังนั้น เทดฟันด์จะเข้ามาเสริมตรงจุดนี้

อีกส่วนที่สำคัญคือพาร์ทเนอร์ หากต้องการจะโตต้องเปิดใจให้มีคนมาร่วมลงทุน อาจจะอยู่ในรูปแบบคลาวด์ฟันดิ้ง, Venture Capital หรือ Angel Investors เพื่อให้ธุรกิจขยายและเติบโตได้เร็วขึ้น ซึ่งเงินทุนตรงส่วนนี้จะเป็นเงินที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ต่างจากเงินอย่างที่เทดฟันด์หรือรัฐให้ เพราะถือเป็น Seed Money หรือ เงินทุนตั้งต้น ที่สามารถช่วยให้ในผลักดันให้สามารถต่อยอดไอเดียสู่การทำธุรกิจได้ แต่เงินที่จะขับเคลื่อนได้จริงและผลักดันให้โตได้เร็ว ส่วนใหญ่จะมาจากการร่วมลงทุน

“แม้จะมีการผลักดันจากภาครัฐ แต่ตัวของผู้ประกอบการ หรือ สตาร์ทอัพ ต้องมีการผลักดันธุรกิจในมิติต่างๆ ด้วยตนเองเช่นกัน จึงจะสัมฤทธิ์ผลในการทำธุรกิจและมีสายป่านที่จะสานต่อไปสู่การเติบโตในระยะยาวได้ในที่สุด” ชาญวิทย์ กล่าว