‘สมาร์ทเพาส์’ ฝีมือไทย แรงหนุนเทเลเมดิซีน
"เมดิออท" ผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์สัญชาติไทย โดยการผนึกกำลังระหว่างทีมแพทย์กับทีมวิศวกรหลากหลายสาขาทั้งด้านเครื่องมือแพทย์ ไฟฟ้า สมองกลและคอมพิวเตอร์ เดินหน้าทำตลาด "สมาร์ทเพาส์ (Smart Pulz)” เครื่องมือวัดสัญญาณชีพระยะไกล
ผลงานอนุสิทธิบัตรที่ช่วยลดการติดเชื้อโควิด-19 ในบุคลากรการแพทย์ ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนวัตกรรมมุ่งเป้า (Thematic Innovation) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การวัดสัญญาณชีพเป็นหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่สร้างความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากพยาบาลจะต้องใช้อุปกรณ์วัดความดันและชีพจรวัดที่ข้อแขนของผู้ป่วย ใช้เครื่องวัดออกซิเจนวัดที่ปลายนิ้วของผู้ป่วย และใช้ปรอทหนีบทางรักแร้ของผู้ป่วย จะต้องกระทำเช่นนี้ในทุกๆ เตียงผู้ป่วย วันละหลายครั้ง
อีกทั้งจากกรณีที่คนไข้มีอาการแย่ลงในช่วงที่แพทย์หรือพยาบาลไม่ได้ตรวจวัดสัญญาณชีพ ทำให้บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต จึงนำมาสู่การพัฒนาเครื่องมือวัดสัญญาณชีพระยะไกล ติดตั้งระบบไวไฟสามารถส่งข้อมูลถึงมือแพทย์ด้วยระบบไอโอทีบนสมาร์ทโฟน เพื่อลดการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง
‘ชีพจร’ตัวบ่งชี้สุขภาพ
“โครงการนี้ได้แรงบันดาลใจมาตั้งแต่สมัยเรียนนักศึกษาแพทย์ เนื่องจากพบว่ามีผู้ป่วยอาการแย่ลง ซึ่งในระหว่างนั้นไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ทราบเรื่อง จนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต จึงมองว่าหากมีอุปกรณ์ที่จะช่วยติดตามอาการของผู้ป่วยได้ถี่มากกว่าการที่พยาบาลเดินไปตรวจดูอาการทุกๆ 4 ชั่วโมง ส่วนอุปกรณ์วัดสัญญาณชีพทั่วไปก็มีราคาแพง ส่วนใหญ่จึงติดตั้งใช้งานเฉพาะแผนกไอซียูเท่านั้น มีเพียงประมาณ 10% ของห้องผู้ป่วยที่จะสามารถใช้ได้ จึงได้พัฒนาเครื่องมือนี้ตั้งแต่ปี 2561 และเสร็จปลายปี 2562 ซึ่งมีแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” นายแพทย์ณัฐวุฒิ ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ หจก.เมดิออท กล่าว
สมาร์ทเพาส์ทำงานผ่านเทคโนโลยีไอโอที แสดงผลการตรวจผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น 4 รายการ อุณหภูมิในร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจและการเคลื่อนไหว ผ่าน central monitor (ชุดศูนย์กลางเพื่อจัดเก็บและเฝ้าติดตามสัญญาณชีพ) ผู้ที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้นั้นต้องเป็นผู้ที่กำหนดไว้เท่านั้น ทั้งนี้ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บไว้บนคลาวด์ จึงสามารถย้อนดูประวัติผู้ป่วยผ่านทางเว็บไซต์ได้อีกด้วย
ขณะนี้ได้ส่งเครื่องต้นแบบให้โรงพยาบาลรัฐทดลองใช้งานแล้วกว่า 27 แห่ง ส่วนใหญ่จะติดตั้งใช้ในหอผู้ป่วยโรคโควิด-19 สำหรับผลจากการใช้งานในระยะแรก พบว่าสามารถตรวจวัดได้ค่อนข้างแม่นยำ แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการที่ผู้ป่วยเคลื่อนไหวตัวบ่อย จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพเครื่อง และเป็นเหตุผลให้เดินหน้าพัฒนาฟังก์ชั่นเพิ่มเติมคือ การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อให้ความแม่นยำสูงขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบคาดว่าใช้เวลาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี
ทั้งหมดนี้เป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องสำหรับอุปกรณ์ หรือเครื่องมือทางการแพทย์ ช่วยยกระดับศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำหรับการสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพของประเทศ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนเพื่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ โดยการนำผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์
รุกตลาด รพ.ก่อนบุกครัวเรือน
กลุ่มเป้าหมายหลักในขณะนี้คือ โรงพยาบาล เพราะการอ่านผลยังจำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ในการแปลและสรุปผล แต่ในอนาคตจะนำเอไอมาช่วยในการประมวลผลที่จะสามารถบอกได้แบบเรียลไทม์ และพัฒนารูปแบบให้อ่านผลได้ง่ายสำหรับประชาชนทั่วไป เนื่องจากจุดเด่นของนวัตกรรมคือ การส่งสัญญาณผ่านไวไฟที่มีตามบ้าน ดังนั้น การติดตั้งจึงไม่ยากเหมือนอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ
“ตอนนี้ยังไม่ได้นำไปใช้อย่างแพร่หลายในคนไข้ทั่วไป เพราะยังตรวจวัดได้ไม่ครบทุกพารามิเตอร์ จึงยังอยู่ในขั้นที่จะต้องพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อครบทุกฟังก์ชั่น โดยจุดที่จะพัฒนาเพิ่มเติมคือ การวัดความดัน รวมถึงคลื่นไฟฟ้าหัวใจ”
นายแพทย์ณัฐวุฒิ กล่าวถึงความยากในการดำเนินธุรกิจว่าด้วยความที่เป็นแพทย์จึงไม่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการตลาดซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้บางอย่างต้องลองผิดลองถูก ส่วนช่องทางการตลาดที่วางไว้คือ นำเสนอผ่านทางออนไลน์ แต่หากจำหน่ายจริงในสเกลใหญ่จะต้องเป็นระบบการขายตรงผ่านการเสนอขายต่อโรงพยาบาลโดยตรง และการนำเสนอแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านอีเวท์ต่างๆเช่น การประชุมราชวิทยาลัยการประชุมด้านโรงพยาบาลและด้านการแพทย์ต่างๆ
ลดนำเข้านวัตกรรม
ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดนั้น สถานพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ มีความต้องการระบบและเครื่องมือการแก้ปัญหาอย่างสูงในช่วงสภาวการณ์โควิดและในอนาคต ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างให้สามารถทดลองใช้และได้ผลลัพธ์จริงจากโรงพยาบาล ซึ่งมีทั้งสิ้นกว่า 1,400 โรง และระดับสถานพยาบาลอีกนับหมื่นแห่ง จำนวนผู้ป่วยนอกกว่าปีละ 200 ล้านต่อปี ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีสูงถึง 14 ล้านคน จึงเป็น potential user และ customer ที่มีปริมาณมหาศาล
“หากมีการใช้อุปกรณ์อย่างแพร่หลายจะสามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนมาก และมีจำนวนน้อยที่ได้ใช้อุปกรณ์ central monitor เพราะราคาสูง หากใช้อุปกรณ์มาตรฐานที่ใช้อยู่ตามห้องไอซียู เครื่องละประมาณ 1 แสนบาท และ central monitor ต่อหอผู้ป่วยประมาณ 1 ล้านบาท”
เพราะฉะนั้น ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และทำตลาดจึงดำเนินการ 2 รูปแบบคือ ระบบที่ใช้ในแผนกไอซียูและระบบที่ใช้กับผู้ป่วยทั่วไป โดยทั้งสองส่วนอยู่ระหว่างการพัฒนาเวอร์ชั่นใหม่ ส่วนภาพรวมเครื่อง central monitor ที่ใช้ในไอซียูนั้น ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ มีทั้งจากโซนตะวันตกและเอเชีย โดยยังไม่มีของไทย จึงถือได้ว่าเป็นบลูโอเชี่ยนที่สามารถตีตลาดตรงจุดนี้ได้ แต่กระนั้นจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพให้เทียบเท่ากับต่างประเทศเช่นกัน