'เกมเมอร์' ดึงแพชชั่นสู่ธุรกิจ ปั้น 'เอนจินเกม' ตีตลาดโลก
การเติบโตของธุรกิจเกมทำให้ผู้พัฒนาเกมอาชีพและนักสร้างเกมมือใหม่สนใจพัฒนาเกมในรูปแบบใหม่มากยิ่งขึ้น โดยในปี 2563 แต่การพัฒนาเกมให้เป็นที่สนใจของผู้เล่นและได้รับความนิยม นอกจากจะต้องใช้จินตนาการในการสร้างเรื่องให้น่าสนใจ ยังต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนสูว
และใช้ระยะเวลานาน เริ่มตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การสร้างวัตถุภายในเกมไปจนถึงการเขียนโปรแกรมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนภายในเกม ซึ่งบางเกมใช้เวลาสร้างนานกว่า 5 ปี
จากประเด็นดังกล่าวบวกกับความชื่นชอบที่มีต่อเกมเป็นทุนเดิมได้ผลักดัน “พลวัต ดีอันกอง” อดีตเด็กหนุ่มผู้คลั่งไคล้การเล่นเกมสู่ซีอีโอบริษัทสตาร์ทอัพ ที่เรียนรู้วิธีการเขียนเกมด้วยตัวเอง กระทั่งก้าวสู่ผู้พัฒนาเกม “อาร์เธอแลนด์” (Artheland) ภายใต้บริษัท อิมเมจ เอนจิน จำกัด
ปรัชญาการสร้างเกมแบบใหม่
พลวัต เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า ก่อนจะประสบความสำเร็จนั้นทุกอย่างล้วนมีสตอรี่ โดยเริ่มต้นจากแค่เกมกระดาษที่ออกแบบและวาดขึ้นเอง พอโตขึ้นก็ได้รับโอกาสจากครอบครัวในการสนับสนุนคอมพิวเตอร์ จึงทำให้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกม จนเริ่มหลงใหลกับศาสตร์ของเกมและรู้สึกอยากทำเกมเป็นของตัวเองอย่างจริงจัง
เขาเริ่มต้นเรียนรู้องค์ประกอบพื้นฐานของการเขียนเกม เช่น การเขียนโค้ด การทำภาพกราฟฟิก แอนิเมชัน และ Visual Graphic การเขียนเว็บไซต์ จากการหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต แต่หลังจากเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและการสร้างภาพเคลื่อนไหว ทำให้มีโอกาสหาความรู้วิธีการออกแบบเกม ที่นอกเหนือจากแค่ในหนังสือและระหว่างที่เรียนอยู่จึงได้ทดลองเขียนเกม 3-4 เกม และนำมาเล่นในกลุ่มเพื่อนที่มหาวิทยาลัย
“จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้ก้าวเข้าสู่เส้นทางสตาร์ทอัพ คือตอนเรียนชั้นปีที่ 3 มีวิชาชื่อว่า Senior Project ที่นักศึกษาจะต้องทำโปรเจคเพื่อส่งอาจารย์ จึงเลือกที่จะพัฒนาเกมตัวใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “อาร์เธอแลนด์" เป็นโครงการพัฒนาเกมจิตวิทยาเชิงวางแผน กึ่งจำลองสถานการณ์ เพื่อเป็นสื่อในการเสริมสร้างด้านภาษา การแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากยุโรปยุคกลาง ผสมกับความแฟนตาซี
เมื่อถึงวันส่งโปรเจค อาจารย์มองเห็นถึงศักยภาพ ได้แนะนำให้รู้จักกับโครงการ Startup Thailand League ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่เป็นเวทีประกวดไอเดียนวัตกรรมสำหรับเยาวชน เพื่อชิงเงินทุนสนับสนุนไปต่อยอดทำจริง จึงตัดสินใจคว้าโอกาสและลงสนามประชันแข่งขัน”
ทำให้เขาสามารถคว้าเงินทุนสนับสนุนก้อนแรกจากเวที Startup Thailand League ปี 2017 - 2018 และต่อมาเข้าร่วมโครงการ Open Innovation 2019-2020 หลังจากได้รับคำแนะนำมากมายจากผู้เชี่ยวชาญ ผ่านโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพเยาวชนต่างๆ ทำให้เริ่มมองเห็นลู่ทางในการพัฒนา “อาร์เธอแลนด์” เวอร์ชันใหม่ เพื่อนำออกสู่ตลาดและทำเงินได้จริง จึงตัดสินใจรวมกลุ่มกับเพื่อนและรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยจัดตั้งบริษัทในที่สุด
ความพิเศษที่ทำให้ อาร์เธอแลนด์ แตกต่างจากเกมกลยุทธ์ทั่วไป พลวัต บอกว่า คือการที่เขียน Node AI ขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้เกมสามารถเรียนรู้พฤติกรรมผู้เล่นแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น การตอบสนองของผู้เล่น อัตราคลิกต่อนาที ความสามารถในการบริหารทรัพยากร การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมไปถึงปัจจัยด้านจิตวิทยาต่างๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงระบบ ระดับความอดทน การตัดสินใจ ด้านภาษา และคณิตศาสตร์
อาร์เธอแลนด์เปิดให้ดาวน์โหลดทั้งหมด 3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และจีน บิซิเนสโมเดลเป็นแบบ B2C และ B2B โดยช่องทางการจำหน่าย B2C ได้แก่ บนแพลตฟอร์มตลาดเกมอย่าง Steampowered.com ที่เป็นการซื้อแบบถูกลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทให้บริการซื้อขายเกมที่ดีที่สุดในโลก และ Google Play Store อีกทั้ง Unity และ Unreal Engine (UE)
ทั้งหมดนี้จะถูกนำไปขายผ่านร้านค้าออนไลน์ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เกม โฆษณาและดาวน์โหลดคอนเทนต์สุดท้ายการซื้อโดยตรงจากผู้พัฒนา ส่วน B2B จะเป็นการขายไปต่างประเทศเป็นพวก Assets เกม ซึ่งตอนนี้รายได้ของบริษัท 75% เป็น B2B ส่วนในอนาคตจะมีการผลักดันให้เป็น B2C 100%
สตาร์ท อย่างไรให้ อัพ ได้
แผนธุรกิจด้านกลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า คือ 1.การใช้อีเมลตอบกลับการสนทนา 2.Live chat on website เป็นระบบถามตอบที่ใช้โปรแกรม Q&S 3.เฟซบุ๊คแฟนเพจ เป็นวิธีที่ง่ายและเข้าถึงผู้คนได้มากที่สุด ส่วนไทม์ไลน์การเปิดตัวตั้งเป้าวางจำหน่ายช่วงฤดูหนาวปี 2564
ขนาดและแนวโน้มตลาดมองว่า ตลาดของเกมกำลังเป็นที่ยอมรับในระดับโลกและเติบโตมากขึ้นทุกปี ตัวเลข SteamSpy เว็บให้บริการข้อมูลของ steam ชี้ว่าตัวเลขของผู้เล่นหนึ่งคนจะมีเกม 15 เกมขึ้นไป โดยเฉลี่ยของจำนวนเกมจะอยู่ที่ 71 เกมต่อบัญชี และเมื่ออาร์เธอแลนด์ ที่ออกมาในเวอร์ชั่นแรก พบว่ามีผู้เข้าเล่นมากกว่า 4 หมื่นครั้งในหนึ่งชั่วโมง และมีชั่วโมงรวมในการเล่นเกมมากกว่า 5 แสนชั่วโมง นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้ในงานวิจัยด้านพัฒนาการของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอีกด้วย
“แม้ทุกวันนี้เกมอาร์เธอแลนด์ใกล้เสร็จสมบูรณ์และพร้อมวางตลาด เป้าหมายต่อไปที่วางไว้ คือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคม ที่มักมองแค่ว่าเด็กส่วนใหญ่ เล่นเกมไปเพื่อความบันเทิงเท่านั้น และไม่ใช่ถูกตีตราว่าเป็นแค่เด็กติดเกม ส่วนความยากของการดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพ เกี่ยวกับธุรกิจเกมหรือซอฟต์แวร์ ที่ไม่ใช่ใครจะทำได้ เพราะคนที่ทำส่วนใหญ่เป็นเจ้าตลาด แต่เมื่อมีหน่วยงานคอยสนับสนุนก็จะโตขึ้นมาได้ เหมือนมีบางจังหวะที่อยู่ถูกที่ถูกเวลาเสมอ จึงได้คอนเทค ได้ทุน และส่วนหนึ่งคือการมีแรงผลัก”
ส่วนโรดแมพที่วางไว้ คือวางแผนที่จะหารายได้ 100 ล้านบาทภายใน 2 ปี เนื่องจากตอนนี้มีคอร์ไอเท็มทั้งหมด 3 ตัวที่จะปล่อยภายใน 1-2 ปีนี้ และจะเปลี่ยนตรงนี้ให้เป็นฮับ ส่วนในระยะ 3 ปี คาดหวังว่ากลุ่มเครือบริษัทจะต้องเติบโตขึ้น และมีชื่อเสียงเหมือนกับกลุ่มที่เกิดก่อนหน้าและเมื่อถึงจุดๆหนึ่งทุกคนจะพูดถึง “เรา”