นักศึกษา AIT ปิ๊งไอเดีย “กากกาแฟ” สู่เม็ดดินเผาสารพัดประโยชน์
นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) คิดค้นเม็ดดินเผาสูตรพิเศษ ผสมวัสดุ 4 ชนิด มีคุณสมบัติดูดซับสารพิษและแร่ธาตุ เพื่อบำบัดน้ำเสีย และยังประสิทธิภาพปลูกต้นไม้ได้ โดยนำ “กากกาแฟ” ปั้นผสมกับดินลูกรัง ดินเบนโทไนท์ และซีโอไลท์
ทั้งนี้ดินที่ปั้นเป็นก้อนกลมขนาดเล็กจะถูกเผาด้วยความร้อน 650 องศาเซลเซียส ทำให้มีความแข็ง ทนทาน และน้ำหนักเบา ติดตั้งได้ง่ายแม้ริมกำแพงหรือผนังอาคาร
นางสาวพิชญา แซ่ตัน นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการ คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนา สถาบัน AIT กล่าวว่า วัสดุทั้ง 4 ชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน โดย ดินลูกรัง ซึ่งมีสีส้ม เป็นดินที่มีธาตุเหล็กสูง ช่วยกำจัดฟอสฟอรัส, ซีโอไลท์ โดดเด่นเรื่องช่วยลดค่าความสกปรกของน้ำ เช่น การกำจัดไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในน้ำเสีย ขณะที่ กากกาแฟ ช่วยดูดซับโลหะหนัก ทั้งยังช่วยลดน้ำหนักทำให้ดินเบาขึ้น และดินเบนโทไนท์ ลักษณะคล้ายดินเหนียว ช่วยผสานให้ดินปั้นแล้วเกาะตัวได้ดี นำไปเผาที่ความร้อน 650 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ทดลองแล้วพบว่าทำให้เม็ดดินน้ำหนักเบา ทั้งยังช่วยเพิ่มรูพรุน ทำให้แบคทีเรียเติบโตได้ แต่เม็ดดินยังแข็งแรง และทนทาน
โดยไอเดียนี้เริ่มต้นจากการคิดพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียแบบธรรมชาติ Constructed Wetlands ให้เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้แนวตั้ง (Vertical Garden) แบบติดผนังหรือกำแพง ที่สามารถบำบัดน้ำเสีย ซึ่งต้องใช้ดินที่มีน้ำหนักเบา โดย น.ส. พิชญา ได้รับทุนการศึกษาบางส่วนจากบริษัทบางจากฯ จึงได้ทดลองทำดินเผาจากวัสดุที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวสามารถดักจับแร่ธาตุและสารเคมีที่มากับน้ำเสีย (wastewater) และเห็นว่ากากกาแฟเป็นขยะที่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ จากธุรกิจคาเฟ่ที่กำลังเป็นที่นิยม สามารถหาได้ง่าย เป็นขยะออร์แกนิคที่ยังมีประโยชน์ จึงติดต่อร้านกาแฟอินทนิลในสถาบัน AIT และนำมาทดลองผสมรวมกับวัสดุอื่น
จากการทดลองร่วม 6 เดือน โดยนำเม็ดดินเผา Novel media มาเป็นวัสดุปลูกต้นไม้ในกระถาง 5 ชั้น ติดกับผนัง ติดตั้งถังสำหรับใส่น้ำเสีย และต่อสายให้น้ำไหลผ่านจากกระถางชั้นบนสุดลงมาสู่ชั้นล่างสุด โดยน้ำแต่ละหยดใช้ในการไหล 36 ชั่วโมง น้ำจะค่อยๆผ่านดินเผาแต่ละกระถางที่ดักจับของเสีย ผลการทดลองพบว่าน้ำเสียที่ไหลผ่านดินเผาตามกระบวนการดังกล่าว ช่วยลดของเสียในน้ำได้อย่างชัดเจน และได้ค่าที่ผ่านมาตรฐาน ขณะที่รากของต้นไม้ก็สามารถขยายเติบโตได้ดีในดินเผา Novel media นี้
“ขณะนี้งานวิจัยอยู่ในขั้นตอนรื้อต้นไม้ออกจากกระถาง เพื่อตัดและตรวจสอบว่าพืชสามารถดูดไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ไปได้จำนวนเท่าไหร่ ในส่วนของเม็ดดินก็จะบดแล้วตรวจว่าดูดสารพิษ และของเสียไปได้เท่าไหร่ เพราะในน้ำเสียมีธาตุอาหารสูง เป็นธาตุอาหารแบบเดียวกับในปุ๋ย จึงเหมือนเป็นการนำปุ๋ยจากน้ำเสียมาใส่ให้ต้นไม้” พิชญา กล่าว
ด้าน ศาสตราจารย์ ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย กล่าวเสริมว่า เป้าหมายของการคิดค้นและพัฒนาดินเผาสูตรพิเศษนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียของห้องสุขาตามสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งปกติแล้วห้องสุขาตามปั้มน้ำมันมาตรฐานจะมีระบบบ่อเกรอะ (Septic Tank) ซึ่งบำบัดน้ำที่ใช้แล้วได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยที่ค่าความสกปรกของน้ำยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควรจะเป็น
หากสามารถนำดินเผา Novel media มาโรยและปลูกต้นไม้บริเวณพื้นที่ปล่อยน้ำจาก Septic Tank ก่อนออกสู่ธรรมชาติได้ จะเป็นตัวกรองบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ จนได้น้ำที่มีค่ามาตรฐานสามารถปล่อยสู่ธรรมชาติได้ และยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับสถานที่อีกด้วย