'เอ็นไอเอ' เผย 6 วัคซีนกู้วิกฤติโควิด! สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อวิถีชีวิตแห่งอนาคต
“เอ็นไอเอ” เผย 6 วัคซีนกู้วิกฤติเศรษฐกิจ สังคม และความเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อวิถีชีวิตแห่งอนาคต
จากวิกฤติที่แพร่สะพัดไปทั่วโลก ส่งผลทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมคงหนีไม่พ้นการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงในปีนี้ แต่กระนั้นมวลมนุษยชาติเริ่มมีความหวังจาก “วัคซีน” ซึ่งเป็นตัวแปรที่จะทำให้การใช้ชีวิตกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากวัคซีนที่เป็นภูมิคุ้มกันจากโรคระบาดแล้ว ยังมีอีกหลายมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องการ “วัคซีน” ที่ตอบโจทย์ ช่วยฟื้นฟูให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้ง และเพื่อให้ทุกคนได้รู้จักกับภูมิคุ้มกันที่จำเป็นและโลกกำลังต้องการ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงจะพาไปรู้จักกับ 6 วัคซีนสำคัญโดย 6 นักกลยุทธ์ชั้นนำจากงาน Innovation Thailand Forum 2021 ซึ่งมีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ และควรค่ากับการนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
'วัคซีน' ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
นางสาวสินี จักรธนานนท์ ประธานมูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่การระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมในสังคมชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงระบบสาธารณสุข สุขภาพ การศึกษา การจ้างงานในกลุ่มคนเปราะบาง และแรงงานที่ใช้ทักษะเฉพาะ เช่น งานบริการที่ต้องโดนเลิกจ้างอย่างกะทันหัน เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างทางสังคมอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่จะเข้ามาช่วยเยียวยาความเหลือมล้ำได้ในตอนนี้ คือ การสร้างแพลตฟอร์ม – แอปพลิเคชันให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงระบบบริการได้อย่างสะดวก ง่าย ไม่ซับซ้อน หรือการทำโครงการแบ่งปันช่องทางการสร้างงาน สร้างอาชีพในช่วงที่เกิดวิกฤต รวมถึงการสร้างโอกาสด้านการเรียนให้แก่เด็ก ๆ ได้เข้าถึงการเรียนรู้ในช่วงที่ต้องปิดโรงเรียนหรือในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์ โดยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนในสังคมจะต้องเริ่มเปลี่ยนตัวเองเป็น “Change Maker” หรือนักสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อลดช่องวางความเหลื่อมล้ำในสังคม
“คาดการณ์ วางแผน” วัคซีนกระตุ้นความก้าวหน้าทางการแพทย์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ปกรัฐ หังสสูต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเกิดโรคระบาดในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นความไม่แน่นอนของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์และสาธารณสุข แต่การระบาดในครั้ กล่าวว่า งนี้ช่วยให้หลายประเทศทั่วโลกได้กลับมาทบทวนความพร้อมในการรับมือโรคระบาดที่อาจจะอุบัติขึ้นได้ใหม่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้ระบบการแพทย์สามารถหาแนวทางขึ้นมารองรับก่อนที่โรคระบาดจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ยังถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบสุขภาวะ การเข้าถึงบริการทางแพทย์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากมีระบบการให้บริการทางแพทย์ผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยี หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน และลดการแออัด
รวมไปถึงการคิดค้นวิจัยวัคซีนที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพราะโดยปกติแล้ววัคซีน 1 ตัวจะต้องใช้เวลาวิจัยและพัฒนานานกว่า 10 ปี จึงจะสามารถนำมาฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ แต่ในขณะนี้ทั่วโลกสามารถผลิตวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว และหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นวัคซีนที่เพาะมาจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว วัคซีนที่สกัดจากโปรตีน หรือวัคซีนที่เอายีนของไวรัสโคโรนา 2019 มาสกัดและฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าโรคระบาดช่วยให้ระบบสุขภาวะ บริการทางการแพทย์ เทคโนโลยีด้านการแพทย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้เช่นกัน
'วัคซีน' กระตุ้น - ฟื้นฟูการท่องเที่ยว
นายภัทรพร โพธิสุวรรณ์ นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association (TTSA) กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาเจ้าของธุรกิจไม่ได้เตรียมตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ดี ณ เวลาคือ การปรับตัวให้เข้าสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ การเปลี่ยนวิถีชีวิต รวมถึงการปรับสภาพจิตใจ แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการเตรียมความพร้อมของธุรกิจการท่องเที่ยว และบริการต่อจากนี้ เพื่อรองรับวิถีชีวิตที่จะเกิดขึ้นหลังโรคระบาดจบลง ซึ่งแน่นอนว่าการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก
ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะต้องคำนึงถึง คือ การสร้างมาตรฐานความปลอดภัยของธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น ปรับรูปแบบรองรับพฤติกรรมของคนในสังคมที่อาจจะเปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวแบบกลุ่มเล็ก รองรับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมการจองล่วงหน้าจะลดลงเหลือเพียงแค่ 2-3 วันก่อนกำหนดการ รวมถึงรูปแบบการท่องเที่ยวผ่านระบบ VR หรือการท่องเที่ยวในรูปแบบ visual จะกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นด้วย ฉะนั้น สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะต้องเร่งดำเนินการคือการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลขึ้นมารองรับความต้องการของผู้คนที่จะเปลี่ยนไป เพราะหากสามารถปรับตัวได้ทันก็จะช่วยให้ธุรกิจฟื้นตัวเร็ว และไปได้ไกลมากขึ้น
'วัคซีน' เสริมแกร่งบริการภาครัฐ
นางสาวอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (กพร.) กล่าวว่า นวัตกรรมภาครัฐมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยฉพาะในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เพราะนวัตกรรมเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะช่วยทำให้ระบบการบริการต่าง ๆ เกิดความสะดวกมากขึ้น ลดความแออัด และลดความเสี่ยงให้แก่ประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของภาครัฐโดยตรง
ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐจะต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และรองรับอนาคตคือจะต้องมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในระบบบริการมากยิ่งขึ้น สร้างหน่วยงานรัฐให้เป็นระบบเปิดมากกว่าที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน สร้างระบบ E-service ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแพลตฟอร์มสำหรับประชาชน (Citizen Platform) อย่างไรก็ตามทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้น สามารถดำเนินการด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย เพราะนวัตกรรมถือว่าเป็นคำตอบแห่งอนาคตของภาครัฐ
'วัคซีน' กู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม
รองศาสตร์จารย์ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่อยู่กับโลกเรามาเป็นเวลานาน แม้ว่าในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 จะช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพราะผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านน้อยลง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงลดลงตามไปด้วย แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลดีแบบถาวรต่อสภาพแวดล้อมของโลก อย่างไรก็ตามจากการจัดอันดับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม 2021 (Global Risk Report 2021) พบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระทบกับมนุษย์มากที่ คือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันภาวะโลกร้อนมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากระบบการผลิตต่าง ๆ ที่ดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ออกมาเป็นจำนวนมาก
และในปี 2564 มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดปัญหาภัยแล้งหนักขึ้นกว่าที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่จะเริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น สิ่งที่จะสามารถบรรเทาปัญหาเหล่านั้นคือ การนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการนวัตกรรมเชิงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง และเขตอุตสาหกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาต่าง ๆ เช่น การสร้างเครื่องฟอกอากาศสำหรับกรองอากาศในช่วงวิกฤต PM 2.5 ซึ่งสามารถส่งอากาศบริสุทธิ์กลับไปให้ประชาชนได้เป็นจำนวนมาก
'วัคซีน' เพื่อโลกแห่งอนาคต
นายวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภายหลังจากที่เกิดการระบาดของโควิด-19 และดิจิทัลทรานฟอร์ม สิ่งหนึ่งที่สังคมจะได้เห็นชัดคือ ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ( Digital Economy) จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่หลากลายรูปแบบเข้ามาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นระบบ 5G ระบบ AI ระบบ Cloud ระบบ BigData และระบบ IOT เพื่อยกระดับเศรษฐกิจ และพัฒนาระบบอุตสาหกรรมในแขนงต่าง ๆ โดยคาดการณ์ว่าปี 2025 ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่ามากถึง 23 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 680 ล้านบาท จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือว่ามีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศ 4.0 ผ่านการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อนกระบวนการผลิต ระบบอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยจะเติบโตขึ้นประมาณ 30% ของ GDP
ดังนั้น ในอนาคตจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องเร่งดำเนินการต่อยอดระบบโครงสร้างทางเทคโนโลยีให้มากยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการ และรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์ม การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม หรือ การสร้างแอปพลิเคชันในประเทศไทยให้มีความสมบูรณ์เพื่อผลักดันให้ไทยกลายเป็น ASEAN Digital Hub ผ่านการสร้างความเป็นเลิศและความพร้อมใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.Connectivity Hub หรือความพร้อมในด้านการเชื่อมต่อแบบไร้สาย (Wireless) ด้วยระบบ 5G เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านระบบ 5G ของภูมิภาค 2. Cloud Hub ความเป็นเลิศด้านระบบคลาวด์ เพราะมีแพลตฟอร์มที่ดีที่จะผลักดันให้องค์กรภายในประเทศหันมาใช้ระบบดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. Digital Ecosystem Hub ความเป็นเลิศด้านระบบนิเวศดิจิทัล โดยการสร้างให้ประเทศไทยมีความพร้อม และมีพาร์ทเนอร์ เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรม รวมถึงการนำเทคโนโลยีพื้นฐานเข้าไปปรับใช้ในระบบอุตสาหกรรม 4. Digital Talent Hub ความเป็นเลิศด้านบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ และสร้างศักยภาพให้ประชากรกว่า 60 ล้าน ได้การเข้าถึงดิจิทัลและมีการใช้งานระบบดิจิทัลให้มากยิ่งขึ้น