‘สแทชอเวย์’ ผู้ช่วยนักลงทุน ส่งอัลกอลิทึมวิเคราะห์ลงทุนผ่าน ‘อีทีเอฟ’
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ภาคธุรกิจส่วนใหญ่จำต้องติดเบรก แต่ “สแทชอเวย์ (StashAway)” สตาร์ทอัพเวลธ์เทคสัญชาติสิงคโปร์ติดเครื่องลุยตลาดต่างประเทศ ล่าสุดเข้าสู่ประเทศไทย หลังจากศึกษาพบสิ่งที่ขาดหายไปในคนไทยคือ “ทักษะการวางแผนการเงินในระยะยาว”
โดยเห็นได้จากคนไทยมีเงินเพื่อการเกษียณไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากเครื่องมือการออม หรือการเข้าถึงคำแนะนำการลงทุนที่ดี ทั้งนี้สแทชอเวย์มีสำนักงานอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกงและไทย เป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีบริหารการลงทุนรายใหญ่ มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) และระดมทุนถึงรอบ Series C
จับจุดอ่อนการออมของคนไทย
ยศกร นิรันดร์วิชย กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน สแทชอเวย์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การลงทุนที่ดีควรจะเข้าถึงง่ายและตัดข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งข้อจำกัดที่พบเป็นส่วนใหญ่ในไทย คือ 1.ตัวเลือกในการลงทุนต่างประเทศมีจำกัด โดยทั่วไปจะเป็นลักษณะกองทุนรวมที่มีทางเลือกน้อย และค่าใช้จ่ายสูง 2.คำแนะนำการลงทุนไม่เพียงพอ อาจไม่เหมาะกับลูกค้าอย่างแท้จริง 3.ค่าธรรมเนียมสูง เงินขั้นต่ำสูง
สิ่งที่สแทชอเวย์เข้ามาช่วย คือเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนต่างประเทศ โดยเน้นกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลกด้วยกองทุน ETF อาทิ หุ้นเทคโนโลยี ตราสารหนี้ ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ถัดมาคือลูกค้าสามารถดูพอร์ตและคำแนะนำการลงทุนที่หลากหลายได้ตลอดเวลา และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และสุดท้าย สแทชอเวย์ได้ลดข้อจำกัดเรื่องจำนวนเงินขั้นต่ำ
ทั้งนี้ โครงสร้างค่าธรรมเนียม ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการจัดการของบริษัท 0.2-0.8% ต่อปี ตามมูลค่าของสินทรัพย์ ค่าธรรมเนียมการแลกเงินตามที่ธนาคารเรียกเก็บ และค่าธรรมเนียมการจัดการที่กองทุน ETF เรียกเก็บตามจริง ส่วน Revenue Model จะมาจากค่าธรรมเนียมการจัดการของบริษัทเท่านั้น
สแทชอเวย์มีเทคโนโลยีรองรับการลงทุนแบบเศษส่วนหุ้น (fractional share) ทำให้สามารถแบ่ง ETF เป็นเศษส่วนได้ละเอียดถึง 1 ต่อ 10,000 หน่วย จึงช่วยกระจายความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องกังวลว่า Asset Allocation จะเปลี่ยนจากเดิม
ยศกร กล่าวอีกว่า คู่แข่งของบริษัทคือ เงินสดที่อยู่ในธนาคาร เพราะในเอเชีย 46% ของสินทรัพย์ทางการเงินถูกจัดเก็บอยู่ในรูปแบบของเงินฝากธนาคาร ซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำมากและไม่งอกเงยในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะให้ความรู้กับลูกค้าในเรื่องวิธีการบริหารจัดการความมั่งคั่ง ซึ่งรวมถึงวิธีการนำเงินสดมาลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเป้าหมายที่วางไว้ และการพัฒนากลยุทธ์การลงทุนที่มีความละเอียดระดับมาตรฐานสากล
ตลาดไทยบูม โอกาสโตสูง
“ส่วนแผนการลงทุนของสแทชอเวย์ในภาพรวม คือ 1.จะขยายตลาดสู่ต่างประเทศ 2.พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนในประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเป็นทางเลือกใหม่ให้นักลงทุน คาดว่าจะเปิดตัวในไตรมาส 2-3 ปีนี้ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมตามที่ ก.ล.ต. กำหนด และพัฒนาแพลตฟอร์มควบคู่ไป โดยตั้งเป้าเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาในการลงทุนต่างประเทศมากที่สุด”
เมื่อถามถึงภาพรวมของตลาดในประเทศไทย ยศกร มองว่า ยังมีโอกาสในการเติบโต เนื่องจากคนไทยมีความต้องการลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงด้วย 2 ปัจจัยคือ 1.ความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยที่ผันผวนตลอดเวลา 2.เศรษฐกิจไทยมีบริษัทใหญ่ค่อนข้างมากที่อยู่ในเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ส่วนบริษัทที่เป็นเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ บริษัทเทคโนโลยีมีไม่มาก
ขณะเดียวกันทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งช่องทางการลงทุนต่างประเทศในไทยยังน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนรวม ดังนั้น สแทชอเวย์จึงเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเวลธ์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของบริษัท
“นักลงทุนประเทศไทยมีปัญหาการลงทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก หากผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ได้ดีก็จะมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก เนื่องจากพฤติกรรมคนไทยมีการปรับตัวใช้เทคโนโลยีดิจิทัลค่อนข้างสูง มีสัดส่วนการใช้โมบายแบงกิ้งสูงที่สุดในโลก และออฟชั่นในไทยในการลงทุนต่างประเทศค่อนข้างน้อย จึงทำให้สแทชอเวย์อยากเข้าสู่ตลาดนี้”
ยศกรมีคำแนะนำสำหรับนักลงทุนมือใหม่คือ เป้าหมายแรกคือมีเงินสำรองและบริหารจัดการรายจ่ายได้ 3-6 เดือน อีกทั้งเงินก้อนนี้ควรเก็บในลักษณะที่ความเสี่ยงต่ำ อาจจะเป็นเงินฝากและส่วนที่เหลือคือการลงทุน และหากต้องการให้เป็นลักษณะส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับตนเอง ควรที่จะกำหนดเป้าหมาย หรือ Goal ที่ชัดเจน อาทิ การเกษียณ การศึกษาบุตร และเลือกความเสี่ยงที่เหมาะสมกับ Goal หลังจากนั้นลงทุนแบบ Dollar Cost Average (DCA) ทุกเดือนเท่ากัน ที่สำคัญคือควบคุมค่าใช้จ่ายของตนเองให้ดีที่สุด
ส่งเครื่องมือสร้างความเชื่อมั่น
สิ่งที่เขามองว่าเป็นความท้าทายในการทำธุรกิจด้านเวลธ์เทค คือ “ความเชื่อมั่น” เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงและไม่มีใครสามารถการันตี ดังนั้น จะดีกว่าไหมหากมีผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารการลงทุนที่มาพร้อมกับ “เทคโนโลยี” เสมือนผู้ช่วยที่ทำให้การลงทุนต่างประเทศเป็นเรื่องง่าย แต่ด้วยความที่ “สแทชอเวย์” เป็นผู้เล่นใหม่ อาจจะต้องใช้เวลาสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทเติบโต 2-3 เท่าและได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน คือ ความสามารถในการสร้างผลตอบแทนที่ดี แม้จะต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น การปรับฐานอย่างรุนแรงสองครั้งในปี 2561 และ สถานการณ์โควิด-19
สแทชอเวย์ยังได้รับเงินลงทุนจากกองทุน Venture Capital รายใหญ่จากทั่วโลก อาทิ กองทุน Eight Roads Venturesสนับสนุนโดยบริษัท Fidelity Investment และเป็นผู้ลงทุนรายแรกๆ ใน Alibaba กองทุน Square Peg ซึ่งเป็นVCขนาดใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย และ Hubert Burla Mediaบริษัทสื่อและเทคโนโลยีชั้นนำจากเยอรมนี