ไอเดียปัง! จาก 'หน้ากากดำน้ำ สู่ 'หน้ากากป้องกันโควิด-19'

ไอเดียปัง! จาก 'หน้ากากดำน้ำ สู่ 'หน้ากากป้องกันโควิด-19'

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคสำหรับบุคลากรแพทย์ขาดแคลน ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จึงระดมความคิดประยุกต์สิ่งใกล้ตัวเป็นอุปกรณ์รับมือการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และชุดหน้ากาก PAPR จากหน้ากากดำน้ำ

หยิบสิ่งใกล้ตัวสู่นวัตกรรมรับมือโควิด
หน้ากากดำน้ำที่ประกอบเข้ากับชุดกรองอากาศเป็นหนึ่งในงานวิจัยการพัฒนาหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูงเพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี ผศ.นพ.อนุแสง จิตสมเกษม รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และร่วมพัฒนากับทีมวิจัยภาควิชาเทคโนโลยี วิทยาลัยชุมชนเมือง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 
161538476746
อ.พงศธร ชมดี ตัวแทนทีมวิจัยภาควิชาเทคโนโลยี วิทยาลัยชุมชนเมือง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช อธิบายว่า หน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูงหรือหน้ากาก PAPR ที่พัฒนาขึ้นมานั้น มี 2 รูปแบบ รูปแบบแรกที่พัฒนาขึ้นมาก่อนประยุกต์ใช้หมวกนิรภัยสำหรับอุตสาหกรรม มีพัดลมและชุดกรองอากาศที่เป่าลมเข้าไปในหมวกเพื่อให้แรงดันในหมวกเป็นบวกเป็นไปตามมาตรฐาน
ใช้ได้นานสูงถึง 6 ชั่วโมง

ซึ่งช่วยป้องกันอากาศจากภายนอกเข้าไปในหมวก ใช้พลังงานจากแบตเตอรีสำรองไฟหรือพาวเวอร์แบงก์ ซึ่งใช้งานได้นาน 4 - 6 ชั่วโมง จากนั้นได้พัฒนาอีกรูปแบบที่ประยุกต์หน้ากากดำน้ำมาใช้ โดยมีหลักการทำงานคล้ายกัน แตกต่างเพียงขนาดและความคล่องตัวในการใช้งาน
การเลือกใช้หน้ากากดำน้ำมาพัฒนานั้น อ.พงศธร อธิบายว่า ระหว่างการพัฒนาชุด PAPR ทีมพัฒนาได้หารือกันเรื่องการพัฒนา mini PAPR ที่สามารถสวมใส่และถอดได้ง่ายกว่าชุด PAPR แบบปกติ ทั้งนี้ ชุด PAPR ในต่างประเทศจะแบ่งออกเป็น 1. แบบ loose fitting PAPR ซึ่งเป็นชุด PAPR ที่มีขนาดใหญ่ และ 2. แบบ Tight-Fitting PAPR ที่เป็น mini PAPR ซึ่งมีขนาดเล็กและกระชับใบหน้ามากกว่า  
161538480392
  
ลดขาดแคลนอุปกรณ์
งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลจากการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานเพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่ง รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า ไม่มีโรงพยาบาลใดๆ ในประเทศไทยหรือในโลกที่เตรียมพร้อมกับการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวมาก่อน ทำให้เกิดการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลและหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งปกติมีการสำรองอุปกรณ์ดังกล่าวไม่มากอยู่แล้ว และมีใช้เพื่อการรักษาผู้ป่วยวัณโรคหรือผู้ป่วยอีสุกอีใส 
รศ.นพ.อนันต์กล่าวถึง อุปสรรคต่อการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และเล่าถึงสถานการณ์เมื่อครั้งโควิด-19 ระบาดในไทยระลอกแรกว่า ประเทศผู้ผลิตอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ต่างระงับการส่งออกอุปกรณ์ดังกล่าว ทำให้โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชซึ่งรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย N95 และไม่สามารถหาซื้อได้เลยในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 จึงต้องประยุกต์ใช้อุปกรณ์ใกล้ตัว
เสริมเกราะนักรบชุดขาว
“จากที่เห็นบุคลากรที่ใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวนี้ไม่มีใครติดเชื้อโควิด-19 เลย ทั้งที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลรับผู้ป่วยโควิด-19 ตลอด แต่ไม่มีบุคลากรติดเชื้อแม้แต่รายเดียว แต่หลังจากนี้จะทำอย่างไรให้มีความยั่งยืน ก็ต้องให้ผู้ประกอบเป็นผู้ผลิต ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนต่อไปที่จะรับนวัตกรรมนี้ไปพัฒนาต่อ”  รศ.นพ.อนันต์กล่าว 
 
161538483373
ทางด้าน วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในระยะแรกที่เริ่มมีการระบาดส่งผลให้อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคขาดแคลนเป็นอย่างมาก โรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์ป้องกันมาใช้งานได้อย่างเพียงพอ บุคลากรทางการแพทย์จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในขณะปฏิบัติงานสูง
ดังนั้น อว. จึงมอบหมายให้ วช. ซึ่ง เป็นหน่วยงานดำเนินการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  วช. จึงมีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันดังกล่าว