'ฟีโบ้' มจธ. พัฒนาระบบเฝ้าระวัง-แจ้งเตือน ป้องกันแผลกดทับในผู้สูงอายุ
ฟีโบ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) วิจัยและพัฒนา “ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเพื่อป้องกันแผลกดทับในผู้สูงอายุ” ปัจจุบันได้นำมาใช้งานจริงในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน และล่าสุดเปิดขายระบบเชิงพาณิชย์
ตอบโจทย์สังคมสูงวัย
ในปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ผู้สูงอายุจำนวน 20.42 ล้านคน จากประชากร 66.5 ล้านคน ในจำนวนนั้นจะมีผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งปัจจุบันคาดว่ามีผู้สูงอายุเป็นผู้ป่วยติดเตียงประมาณ 1 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุ 12 ล้านคน
ปัญหาที่ตามมาของผู้ป่วยติดเตียงเป็นระยะเวลานานๆ คือ เกิดแผลกดทับและติดเชื้อ
ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต นอกจากนี้ยังส่งผลถึงการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และรายจ่ายด้านสุขภาพที่จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ป้องกันแผลกดทับ
ดร.ปราการเกียรติ ยังคง อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเพื่อป้องกันแผลกดทับในผู้สูงอายุจะช่วยเหลือและสนับสนุนงาน 3 กลุ่ม คือ 1.ช่วยโรงพยาบาล สำหรับดูข้อมูลผู้ป่วยระยะยาว 2. สถานดูแลผู้สูงอายุ Nursing Home ที่จะมีข้อมูลในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุ
และ 3. ช่วยคนที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่บ้าน ระบบนี้ยังจะช่วยผ่อนแรงให้กับผู้ดูแลเพราะระบบจะให้รายละเอียดข้อมูลและจะแสดงให้เห็นความคืบหน้า (progress) ของผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง
“ระบบนี้ จะสามารถบอกได้ว่าการเคลื่อนไหวของร่างกายผู้สูงอายุเคลื่อนที่มากน้อยแค่ไหนในเชิงวิเคราะห์ข้อมูลว่าช้าลงกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะผู้สูงอายุติดเตียงจะมีความเสื่อมถอยของร่างกาย” ดร.ปราการเกียรติ กล่าว
ลดสูญเสีย-ค่าใช้จ่ายสูญเปล่า
ดร.ปราการเกียรติ กล่าวว่า “ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเพื่อป้องกันแผลกดทับในผู้สูงอายุ” นี้ เป็นระบบเซนเซอร์ที่จะติดตั้งและประกอบเข้ากับแผ่นคล้ายผ้ารองเตียงวางไว้ใต้ฟูกนอน เพื่อจับการเคลื่อนไหวการกดทับของร่างกาย ผู้สูงอายุจะไม่ทราบและไม่รู้สึกว่ามีใส่แผ่นนี้ไว้ใต้เตียงดังนั้นจะไม่เกิดความกังวล
โดยมีทั้งแผ่นแบบเต็มเตียง และครึ่งเตียง โดยเซนเซอร์จะส่งข้อมูลไปที่คอมพิวเตอร์ของวอร์ดพยาบาล ซึ่งจะสามารถติดตามดูคนไข้ได้พร้อมๆ กันหลายเตียงผ่านจอคอมพิวเตอร์ ระบบนี้จะเป็น AI ที่คอยเก็บข้อมูล เนื่องจากแต่ละคนมีลักษณะการนอนไม่เหมือนกัน
และ AI จะเรียนรู้ข้อมูลการนอนของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งก็จะเป็นการเก็บข้อมูลให้กับแพทย์ได้ และหากเราต้องการมอนิเตอร์เป็นพิเศษสามารถใส่ข้อมูลคำสั่งเพิ่มเติมการเตือนเซนเซอร์ได้
หลักการทำงานของระบบเซนเซอร์ คือ จะปรากฏภาพร่างกายของผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียง โดยจะใช้สีแทนค่าเพื่อระบุว่าร่างกายบริเวณใดมีการกดทับเป็นเวลานาน เช่น สีขาวคือปกติ สีเหลืองคือเตือน (alert) ว่า ผู้ป่วยนอนท่านี้นาน สีแดง คือ alarm ส่งสัญญาณเรียกให้ไปดูแลผู้ป่วย และ ถ้าออกนอกเตียง (out bed) ต้องไปทันที หรือ หากนอนกดทับมาก เช่น บริเวณศีรษะ ส้นเท้า ข้อศอก จะเป็นสีแดงแสดงว่าอวัยวะบริเวณนั้นกดทับมาก
ส่วนสีฟ้าแสดงว่าการกดทับบริเวณนั้นน้อย ทั้งนี้ระบบจะสามารถตั้งค่าสำหรับผู้ป่วยเฉพาะเตียงนั้นๆ ได้ เช่น ต้องพลิกตัวทุกกี่ชั่วโมง ซึ่งพยาบาลจะเป็นผู้กำหนดและตั้งเวลา จากนั้นระบบก็จะเตือนมาที่เคาท์เตอร์พยาบาล
ดึงไอโอทีช่วยวิเคราะห์
ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเพื่อป้องกันแผลกดทับในผู้สูงอายุ ประกอบด้วยเซนเซอร์ส่งขึ้นระบบคลาวด์ คอมพิวติ้ง เชื่อมต่ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไปยังเครือข่ายเพื่อดึงข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์และการตัดสินใจด้วย Internet of Things เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ผู้ดูแลมองเห็นบริเวณที่กดทับซ้ำๆ ซึ่งผู้สูงอายุบางคนเจ็บจนเนื้อด้านหรือเป็นไต หากเห็นแผลก่อนก็อาจช่วยแพทย์วินิจฉัยได้ดีขึ้น
สำหรับราคาอุปกรณ์แบบครึ่งเตียง ราคาเริ่มต้นสามหมื่นบาท แบบเต็มเตียงราคาก็จะสูงขึ้น แต่ราคานี้ถูกกว่าต่างประเทศที่อยู่ที่หลักแสนบาท
เตือนเคลื่อนไหว สู่นวัตกรรมช่วยพลิกตัว
ดร.ปราการเกียรติ กล่าวว่า “เทคโนโลยีที่อยากจะพัฒนาต่อ คือ เตียงช่วยพลิกตัวผู้ป่วย เพราะการพลิกตัวผู้ดูแลจะต้องออกแรงมาก โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักมากและต้องพลิกตัวบ่อย, โรคออฟฟิศซินโดรม โดยจะติดเซนเซอร์ที่เก้าอี้เพื่อจะเก็บข้อมูลว่าการนั่งเก้าอี้นาน ๆ ในลักษณะท่านั่งเดิมๆ ส่งผลอย่างไรบ้าง และควรจะต้องปรับการนั่งอย่างไร อาจจะมีเซนเซอร์เตือนให้ลุก เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ
รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเซนเซอร์ติดที่เก้าอี้วีลแชร์ด้วย เนื่องจากจะมีคนพิการกลุ่มหนึ่งที่ต้องใช้วีลแชร์และนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ ซึ่งอาจเกิดแผลกดทับได้
ทั้งนี้ ระบบเซนเซอร์เฝ้าระวังผู้ป่วยติดเตียงจากแผลกดทับ เป็นหนึ่งในโครงการ AI / ROBOTICS FOR ALL ซึ่งเป็นโครงการเพื่อพัฒนานวัตกร นักวิจัย วิศวกร วิสาหกิจเริ่มต้น ให้เกิดความตระหนัก และมีความรู้ความสามารถด้านหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ ที่ดำเนินการโดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. ภายใต้โครงการ AI for All ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)