'เอ็นที' ชงแผน '5G' เข้า ครม.-เม.ย.รู้ผล 'เอไอเอส' หรือ 'ทรู' ร่วมพันธมิตร
เอ็นทีจ่ายค่าคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์งวดแรก พร้อมเดินหน้าต่อยอดพัฒนาธุรกิจ 5G ระบุส่งแผนไปยังสภาพัฒน์ฯแล้ว รอส่งต่อ ครม. ภายใต้กรอบการลงทุนจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท เผย "เอไอเอส-ทรู" ขอเป็นพาร์ทเนอร์ เม.ย.นี้รู้ผล
นายวิโรจน์ โตเจริญวาณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย 1 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที กล่าวว่า วานนี้ (16 มี.ค.) เอ็นทีได้ชำระเงินค่าคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ งวดที่ 1 จำนวนทั้งสิ้น 3,670.742 ล้านบาท ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์นั้น เอ็นทีเดิมคือ บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 จำนวน 2 ใบอนุญาต ในย่านความถี่ 738-748 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 793-803 เมกะเฮิรตซ์ด้วยราคาการประมูลสูงสุด 34,306 ล้านบาท โดยการชำระค่าคลื่นความถี่ดังกล่าวในงวดที่ 1 คิดเป็น 10% ของราคาการประมูลสูงสุด เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 3,670.742 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระเงินค่าคลื่นความถี่งวดที่ 2-10 รวมมูลค่ากว่า 33,000 ล้านบาท
ส่วนแผนการพัฒนาธุรกิจ 5จีของเอ็นทีไปส่งไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากนั้นจะส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยในแผนการลงทุนคือใช้งบลงทุนไปจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท เป็นการติดตั้งเสาสถานีฐาน 13,500 แห่ง นับตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2566 ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากการเข้าร่วมประมูลของกสทฯ ก่อนการควบรวมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงข่าย 5จี บนคลื่น 700 เพื่อรองรับการขับเคลื่อนและต่อยอดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5จี
“สำหรับการเปิดที่มีบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ยื่นข้อเสนอขอร่วมเป็นพันธมิตรกับเอ็นทีในการให้บริการ 5จีบนคลื่น 700 นั้น ขณะนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) อยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอซึ่งความชัดเจนจะได้เห็นภายในเม.ย.นี้ โดยเอ็นทีไม่ปิดโอกาสทางใด และข้อสรุปก็อาจจะเป็นทั้งเลือกของรายใดรายหนึ่งหรือแบ่งให้กับทั้งสองราย”
เขา กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานภายหลังจากการชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 นั้น เอ็นทีได้เดินหน้าขยายตลาดไร้สาย 5จี เพื่อให้รองรับความต้องการของลูกค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต รวมถึงสามารถต่อยอดการพัฒนา 5จี มุ่งเพิ่มลูกค้ารายย่อย การบริการขายส่งเอ็มวีเอ็นโอตลอดจนการให้บริการด้านดิจิทัล เซอร์วิส ในรูปแบบอื่นๆ ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจัดสร้างและใช้โครงข่าย 5จี ร่วมกันและลดการลงทุนซ้ำซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงการทำตลาดบริการมายและบริการดิจิทัล โซลูชั่นรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ 5จี ของเอ็นทีในหลากหลายด้าน ได้แก่ การพัฒนาแอพพลิเคชัน 5จีการสร้างระบบดิจิทัลของภาครัฐ และการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลตามแนวทางของอีอีซีเป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนของการชำระค่าคลื่นความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ชุดที่ 22-25 ช่วงคลื่นความถี่ 26.45-26.8 กิกะเฮิรตซ์ทีโอทีชนะประมูลนั้น ได้ดำเนินการชำระเงินจำนวน 1,920.65 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แก่สำนักงานกสทช. เรียบร้อย