'แฮนดี้เซ้นส์' ระบบฟาร์มอัจฉริยะ สู่โอเพ่นเดต้า หนุนเกษตรกรพันธุ์ใหม่

'แฮนดี้เซ้นส์' ระบบฟาร์มอัจฉริยะ สู่โอเพ่นเดต้า หนุนเกษตรกรพันธุ์ใหม่

'เนคเทค' สวทช. จับมือ พันธมิตร รุกเผยแพร่พิมพ์เขียวต้นแบบผลงานวิจัย 'แฮนดี้เซ้นส์' ระบบเกษตรแม่นยำฟาร์มอัจฉริยะ เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ ค่าตอบแทนการใช้สิทธิรายปี มุ่งหวังพลิกโฉมด้านเกษตรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ

หัวใจสำคัญ 'ไอโอที' 

เนคเทค-สวทช. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาระบบสมาร์ตฟาร์มที่ชื่อว่า “HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ” มาตั้งแต่ปี 2560 ในระยะแรกได้มีการนำผลงานวิจัยไปขยายผลให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ภายใต้โครงการ “ดีแทคฟาร์มแม่นยำ” ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ดีแทค ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

161607544911

โดยมีเป้าหมายการพัฒนาให้เกิดฟาร์มต้นแบบ โดยใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และควบคุมคุณภาพการเพาะปลูก ซึ่งได้มีการทดลองใช้กับ 30 ฟาร์ม ใน 23 จังหวัด โดยการใช้อุปกรณ์ที่สำคัญประกอบด้วยกล่องเซนเซอร์ที่กระจายอยู่ในโรงเรือนเพาะปลูก ใช้สำหรับวัดความชื้นในดินและในอากาศ อุณหภูมิ และแสง จากนั้นทำการประมวลผลแล้วส่งข้อมูลจากแปลงเพาะปลูกไปยังสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ตของเกษตรกรแบบ real-time เพื่อให้เกษตรกรสามารถควบคุมได้อย่างใกล้ชิด 

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวทีมนักวิจัยของเนคเทค-สวทช. ได้เดินหน้าสู่การนำผลงานวิจัยและองค์ความรู้ของอุปกรณ์ HandySense ไปขยายผลในหลายพื้นที่ อาทิ ในปี พ.ศ. 2562 โดยการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดฉะเชิงเทรา มีการขยายผลการใช้งานจริงในพื้นที่ทำการเกษตรปลอดภัยสูงหรือผักปลอดภัยให้กับเกษตรกรผู้สนใจใน 34 แห่ง ผลการดำเนินงาน พบว่าช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืช ระบบใช้งานง่าย ทนทาน ราคาประหยัด สามารถลดการใช้แรงงานได้ประมาณ 50% มีรายได้จากการเพิ่มคุณภาพปริมาณผลผลิตและลดการใช้ทรัพยากรโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 20% และในปีงบประมาณ 2564 สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ขยายผลเพิ่มอีก 50 แห่ง โดยเป็นการมุ่งเน้นการควบคุมกระบวนการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดฉะเชิงเทราให้ได้อย่างเหมาะสม

161607547152

ดันพิมพ์เขียวต้นแบบวิจัยสู่มือผู้ใช้จริง

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า จากผลสำเร็จที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรที่เป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศไทย ประกอบกับทีมนักวิจัยของเนคเทค-สวทช. ผู้วิจัยพัฒนา HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ มีความมุ่งมั่นที่อยากจะเห็นทุกบ้าน ทุกหลังคาเรือนของเกษตรกรไทย ได้เข้าถึงและสามารถใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีด้านเกษตรสมัยใหม่ได้โดยง่าย ในราคาที่ประหยัดและเหมาะสมต่อการใช้งาน อีกทั้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของผลผลิตทางด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

ทั้งเดินหน้าขับเคลื่อนสมาร์ทฟาร์มแบบเปิดสู่สังคมไทย ตั้งเป้าเปิดเผยพิมพ์เขียวต้นแบบผลงานวิจัย HandySense ให้เกษตรกร ผู้ประกอบการไทย หรือผู้สนใจทั่วไปนำไปผลิตเพื่อใช้หรือจำหน่ายได้ เป็นการเปิดเผยรายละเอียดการผลิต และอนุญาตให้สาธารณะนำไปผลิตและใช้งานโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ และค่าตอบแทนการใช้สิทธิรายปี โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรไทยยุคใหม่ ได้มีเครื่องมือที่ทันสมัย ใช้งานในราคาที่จับต้องได้ และต้องการให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือทางด้านสมาร์ตฟาร์มโดยผู้ประกอบการไทย และในอนาคต หากเกษตรกรไทยมีการใช้ระบบนี้อย่างแพร่หลาย การบริหารจัดการด้านการเกษตรของไทยก็จะสามารถก้าวกระโดดไปสู่ยุคเกษตรอัจฉริยะได้

เปลี่ยนผันสู่เกษตรแม่นยำ

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่เกษตรกร  เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก โดยการสนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์ นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเชื่อมโยงการทํางานกับ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อยกระดับสู่การทําเกษตรสมัยใหม่ และเกษตรแบบแม่นยํา

และนโยบายของ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นการเกษตร โดยมีจุดเน้นในด้านการเกษตรอัจฉริยะ คือการให้เกษตรกรและหน่วยงานเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลระบบเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันต่าง ๆ และเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

161607548631

กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่เกษตรกร ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมการเกษตรบนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่ม นำไปสู่การพัฒนาอาชีพการเกษตรและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร 2.การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรจากแหล่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและพัฒนาเข้าสู่การเกษตรสมัยใหม่

และ 3.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากการศึกษาวิจัยสำหรับถ่ายทอดสู่เกษตรกร โดยระบบการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ จะเป็นการสร้างต้นแบบแปลงเรียนรู้การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ ที่ ศพก. และศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 50 ศูนย์ 

พร้อมพัฒนาความรู้ทักษะในการบริหารจัดการให้แก่เกษตรกรต้นแบบ เพื่อยกระดับเป็นวิทยากรเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบอัจฉริยะ แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของชุมชนต่อไป  ซึ่งในปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตรมีเป้าหมายจะดำเนินรวม 16 จุด แบ่งเป็น ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 6 ศูนย์ (เขตละ 1 ศูนย์) และศูนย์ปฏิบัติการของกรมส่งเสริมการเกษตรอีก 10 ศูนย์ และมีแผนจะขยายผลให้ครบทั้ง 50 ศูนย์ปฏิบัติการภายในปี 2566 

ส่งเสริมสินเชื่อเกษตรกร

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้มีบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  (สวทช.) โดยมีเป้าหมายเพื่อประสานความร่วมมือในการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมการเกษตร และร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตลอดห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมการเกษตร  สำหรับงานส่งมอบนวัตกรรมด้านการเกษตรแบบเปิด เพื่อประโยชน์สาธารณะในวันนี้ ธ.ก.ส. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการติดตั้ง ระบบเกษตรแม่นยำฟาร์มอัจฉริยะ (HandySense) ให้กับเกษตรกร ที่เป็นเกษตรกรต้นแบบของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 6 แห่งๆ

โดย ธ.ก.ส. มุ่งหวังให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านนวัตกรรมเกษตร สำหรับเกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้และนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการประกอบอาชีพการเกษตร ในขณะเดียวกันหากเกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs เกษตร มีความสนใจในระบบ HandySense ไปผลิตเพื่อใช้งานหรือจำหน่าย และพร้อมที่จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อรองรับความต้องการด้านเงินทุนในลักษณะ การส่งเสริมความรู้คู่ทุน ให้กับเกษตรกร โดยมีโครงการต่าง ๆ รองรับ อาทิ โครงการสินเชื่อ Smart Farmer สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน เป็นต้น”

161607550024

นางสาวอัจฉริยา จันทรวงศ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า  ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้เกษตรกรสามารถควบคุมปัจจัยในการผลิตและยังสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรได้ง่ายขึ้น  โดยในปี 2562 จังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นที่ทำการเกษตรปลอดภัยสูงหรือผักปลอดภัยให้กับเกษตรกรผู้สนใจ 34 แห่ง กระจายอยู่ในทุกอำเภอของจังหวัด และในปีงบประมาณ 2564 จังหวัดฉะเชิงเทราได้อนุมัติโครงการขยายผลต่อเนื่องโดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 43 ราย แบ่งออกเป็นพืช 33 ราย (ผักผสมผสาน พืชในโรงเรือน เห็ด ฝรั่ง มะนาว มะม่วง มันญี่ปุ่น ทุเรียน ไผ่ มะพร้าว กล้วย เมล่อน ลำไย สะเดา ปาล์ม ขนุน) ประมง 5 ราย (ฟาร์มกุ้งขาว) และปศุสัตว์ 5 ราย (ฟาร์มไก่ไข่) ช่วยพัฒนาให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร และปรับเกษตรกรให้เป็นผู้ใช้ข้อมูลในการทำการเกษตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

กรุยเส้นทางเอคเทคสตาร์ทอัพ

ดร. ปรีสาร รักวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ดีป้า มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพ (Digital StartUp) สัญชาติไทย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ซอฟต์แวร์ หรือแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการเกษตร ดีป้าผลักดันเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa mini Transformation Voucher) ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้รับการสนับสนุนและเลือกเทคโนโลยีดิจิทัลด้วยตนเอง กระตุ้นให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างดิจิทัลสตาร์ทอัพกับเกษตรกร

นายณฤต ดวงเครือรติโชติ หัวหน้าส่วนงาน IoT และพันธมิตรธุรกิจ 5G บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมีความพร้อมในการให้บริการ Smart IoT Management เพื่องานด้านการจัดการด้านการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่นำเสนอในรูปแบบโซลูชันบริการครบวงจรเพื่อผู้ประกอบการทุกราย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาดีแทค และ เนคเทค-สวทช. กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ร่วมมือในการนำเทคโนโลยี IoT เพื่อการเกษตรภายใต้ชื่อโครงการ “ฟาร์มแม่นยำ” เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

เพื่อยกระดับเกษตรกรรายย่อยให้สามารถจัดการการเพาะปลูกด้วยการตัดสินใจบนข้อมูลที่แม่นยำ โซลูชันเกษตรแม่นยำช่วยให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนำร่องสามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตโดยเฉลี่ยร้อยละ 20 ของผลผลิตเดิม นี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรไทยสู่ระบบเศรษฐกิจสังคมดิจิทัล อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อยกระดับผลิตผลและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรของไทย

161607553613