‘สเปซเอฟ’ หนุนฟู้ดเทคไทย ปั้น ‘วูฟเฟีย’ ซุปเปอร์ฟู้ดบุกตลาดโลก
“แอดวานซ์ กรีนฟาร์ม”สตาร์ทอัพสายฟู้ดเทคนำวูฟเฟีย(Wolffia) หรือที่รู้จักในชื่อไข่น้ำ/ผำ วัชพืชน้ำที่มีขนาดเล็กที่สุดแต่คุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เข้ารับการบ่มเพาะจากโครงการสเปซเอฟ (SPACE-F) รุ่นแรก บิ๊กโปรแกรมที่ปลุกปั้นและเร่งการเติบโตทางธุรกิจ
ให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรมด้านอาหาร ขับเคลื่อนโดยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนชั้นนำของประเทศ ถือเป็นการเข้าสู่อีโคซิสเต็มของฟู้ดเทคสตาร์ทอัพอย่างเต็มรูปแบบ
ปั้นคาเวียร์แห่งสายน้ำ
“ผำ” สุดยอดอาหารแห่งอนาคต ที่ได้รับความสนใจจากนาซาเพื่อทำเป็นอาหารให้กับนักบินอวกาศ เป็นอาหารคู่ครัวไทยมาแต่โบราณ ทั้งยังเป็นที่นิยมของต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น อิสราเอล สหรัฐอเมริกา โดยเริ่มมีการทำธุรกิจเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชน้ำชนิดนี้มากขึ้น เพียงแต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบเกษตรพื้นบ้าน ซึ่งให้ผลผลิตต่ำและประสบปัญหาการปนเปื้อน
ด้วยความที่เป็นพืชที่โตไวและมีคุณค่าทางอาหารสูงระดับซูเปอร์ฟู้ด ที่ภาคอุตสาหกรรมเสาะแสวงหา จึงเป็นเหตุผลให้ “ผศ.เมธา มีแต้ม” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประยุกต์ใช้ทักษะความรู้บวกกับเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ ในการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงที่ให้ทั้งผลผลิตและธาตุอาหารสูงในปี 2562 พร้อมทั้งการก้าวสู่โลกธุรกิจโดยเปิดตัวบริษัท แอดวานซ์ กรีนฟาร์ม จำกัด
"ผมมีประสบการณ์ด้านงานวิจัยมากมาย อาทิ การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็ก การผสมพันธุ์ข้าวให้มีสารอาหารที่สูงขึ้น จนกระทั่งปี 2559 มีศาสตราจารย์จากเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพืชตระกูลแหนหรือ Duckweed ได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อศึกษาการบริโภคและการเพาะเลี้ยงผำ ซึ่งเป็นพืชตระกูลแหนชนิดหนึ่ง ทำให้มองเห็นโอกาสที่จะผลักดันให้เป็นอาหารแห่งอนาคตของโลก ทั้งยังเห็นถึงการเติบโตของตลาด และความต้องการที่เพิ่มขึ้น จึงทำงานวิจัยร่วมกัน"
ปั้นเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงขั้นสูง
แอดวานซ์ กรีนฟาร์ม ได้ผสมผสานความรู้จากงานวิจัยด้านพืช และการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็ก สู่ฟาร์มที่มีเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงขั้นสูง 1.คัดเลือกพันธุ์ดีที่สุดที่มีอยู่ในไทย พร้อมกับพัฒนาสายพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้น 2.ศึกษาสภาวะการเลี้ยงให้ผลผลิตสูงตลอดปี 3.พัฒนาวิศวกรรมของระบบเพาะเลี้ยง 4.การวิเคราะห์ตรวจสอบคุณภาพตลอดกระบวนการเพาะเลี้ยง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารอาหารสูง ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังลงทุนในโรงงานเพาะปลูกขนาดใหญ่เพื่อผลักดันให้สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร และวิจัยพัฒนาเพื่อให้มั่นใจว่า จะสามารถผลิตป้อนภาคอุตสาหกรรมในปริมาณที่เพียงพอตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นแบบสด แช่แข็ง ผงแห้ง หรือผลิตภัณฑ์พร้อมทาน
ทางด้านบิซิเนสโมเดลได้วางกลยุทธ์ที่จะเจาะตลาดอาหารสุขภาพและวีแกนเป็นอันดับแรก เริ่มจากจำหน่ายแบบ B2C ที่ส่งให้ผู้บริโภคนำไปประกอบอาหารเองที่บ้าน ปัจจุบันส่วนใหญ่จำหน่ายแบบออนไลน์ และมีออฟไลน์เล็กน้อย
ตั้งเป้าบุกตลาดส่งออก
อีกกลยุทธ์ที่สำคัญคือ ร่วมมือกับธุรกิจอาหารขนาดเล็ก โดยเฉพาะร้านอาหาร Fine Dining อาทิ มิชลินสตาร์ และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารรายย่อยที่เน้นอาหารพรีเมียมเพื่อสุขภาพ อาหารเด็ก หรือวีแกน เช่น เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว สเปรด เพราะส่วนใหญ่ความท้าทายจะอยู่ที่ผู้บริโภคไม่รู้วิธีการนำไปประกอบอาหาร ต่อมาจะขยายสู่สเกลที่ใหญ่ขึ้นผ่านทางพาร์ทเนอร์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ
พร้อมทั้งตั้งเป้าที่จะขยายสู่ตลาดต่างประเทศ เริ่มเจาะตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ดูไบ และขยายสู่ตลาดยุโรปที่กำลังมีความต้องการอาหารสุขภาพและอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ แอดวานซ์ฯ เป็นเพียงไม่กี่รายที่ทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างจริงจัง ในฝั่งของกำลังการผลิตนั้นจำเป็นจะต้องเร่ง เพื่อให้เพียงพอต่อดีมานด์ของตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งภายในและนอกประเทศ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถ จึงต้องอาศัยทั้งภาครัฐและนักวิชาการของไทยมามีส่วนช่วยในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม
เขายกตัวอย่างต้นปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยจากต่างประเทศที่เริ่มต้นถอดรหัสพันธุกรรมของผำ เพื่อค้นหายีนที่ช่วยให้เติบโตเร็วที่สุดในโลก เป็นการผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ รวมถึงช่วยให้คนไทยได้กลับมารู้จักและทานอาหารสุขภาพดีแห่งโลกอนาคต