‘มูฮัมหมัด ยูนุส’ ยกย่อง ‘ศก.พอเพียง' ดันไทยก้าวสู่เศรษฐกิจโลก

‘มูฮัมหมัด ยูนุส’ ยกย่อง ‘ศก.พอเพียง'  ดันไทยก้าวสู่เศรษฐกิจโลก

มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2549 ปาฐกถาพิเศษผ่านระบบออนไลน์ร่วมกับ ศ.(พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ในงานประชุมวิชาการฯ ปีที่ 55 นิด้า

ความร่วมมือครั้งสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลง

161728626899

มูฮัมหมัด ยูนุส ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ผู้ริเริ่มและพัฒนาแนวคิด “ไมโครเครดิต” หรือ การให้กู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันสำหรับผู้ประกอบการหรือชาวบ้านที่ยากจน ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง “กรามีนแบงก์” หรือ ธนาคารเพื่อคนจน ได้ชื่นชมและยกย่องประเทศไทยที่มีการส่งเสริมในเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้สามารถเดินหน้าสู่เศรษฐกิจระดับโลกได้ตามแผนการที่วางไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจพอเพียงเป็นผลผลิตทางปัญญาของคนไทย

ขณะที่สถานการณ์เรื่องโรคระบาดที่ทั่วโลกเผชิญร่วมกันนี้ได้สอนหลายอย่างให้กับมนุษยชาติ โดยทำให้เห็นข้อผิดพลาดที่มนุษย์สร้างขึ้นมาในอดีต ซึ่งรวมถึงความเหลื่อมล้ำหรือช่องว่างทางสังคมและเศรษฐกิจที่สร้างระยะห่าง ความโกรธและความหวาดกลัวในผู้คน จึงไม่ใช่เรื่องที่ดีที่จะนำพาเราเดินไปข้างหน้า

สิ่งที่มนุษย์พัฒนาขึ้นมาเพื่อความสะดวกสบาย เช่น บ้าน สิ่งก่อสร้าง รถยนต์ ล้วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่มนุษย์ก็ไม่ได้ใส่ใจส่งผลให้ลูกหลานก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน กระทั่งเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นซึ่งช่วยหยุดและชะลอกิจกรรมต่างๆ เปรียบเสมือนการโดยสารรถไฟเมื่อไหร่ที่ไปถึงสถานีปลายทางก็เท่ากับว่าทุกอย่างจบหรือวิกฤติ 

โรคระบาดโควิด-19 สร้างโอกาสให้ตัดสินใจว่าจะลงจากรถไฟเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่แตกต่าง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำร้ายโลก และนี่ก็ไม่ใช่หน้าที่ใครที่ไหนแต่เป็นหน้าที่ของทุกคน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างมูลนิธิยูนุส กระทรวง อว.และสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนิด้าเป็นพันธมิตรหลัก ในการพัฒนาทางวิชาการและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านการศึกษา วิจัยและนวัตกรรม โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์กับการวิจัยและวิชาการ นำไปสู่การปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งหนทางในการหยุดปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในไทยและบังกลาเทศ

แก้ไขปัญหาความยากจน

ยูนุส กล่าวอีกว่า ความร่วมมือนี้เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของการคิดร่วมกัน และการหลีกหนีต่อสิ่งที่เคยทำ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโลกร้อน และสิ่งเลวร้ายมากมาย อย่างเช่น ความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ โดยเฉพาะความมั่งคั่ง ซึ่งทั้งโลกมีคนร่ำรวย1% ถือครองทรัพย์สินถึง 99%และมีแนวโน้มที่ปัญหาจะขยายลุกลามและใหญ่ขึ้น

ทางมูลนิธิฯ จะเน้นนำเสนอในเรื่องศักยภาพความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อหางานทำ แต่มีความสามารถที่จะพึ่งพาตัวเอง คล้ายกับการเป็นผู้ประกอบการที่จะต้องแก้ปัญหาของตน ขณะที่การเป็นลูกจ้างเท่ากับไปทำงานแล้วไม่ได้รับอะไรเท่าที่ควร จะตกอยู่ใน “หลุมความยากจน” หากไม่ต้องการอยู่ในวังวนนี้ ไม่ต้องการให้ลูกหลานประสบเช่นนี้ จะต้องสอนให้ค้นหาและรู้จักตัวตนที่แท้จริงของตน ซึ่งเขาหมายถึงความชอบ ความถนัด ความสามารถและทักษะต่างๆ เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นผู้ประกอบการ

“ความรับผิดชอบของเราคือ การสร้างมูลนิธิทางการเงินให้กับคนรุ่นหลังที่มีไอเดียใหม่ๆแต่ไม่มีงบลงทุน พวกเขาก็สามารถพึ่งพามูลนิธิได้ต่อมาเมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จก็คืนเงินในส่วนที่ได้ทำการยืมไป และนี่ก็เป็นจุดประสงค์หลักของมูลนิธิยูนุสที่จัดตั้งขึ้นมา”ยูนุส กล่าว

เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นก็ยิ่งทำให้คนจนตกต่ำไปอีก ในขณะเดียวกันกลุ่มคนรวยที่สุดที่ถือครองทรัพย์สิน 99% แทบจะไม่ถูกกระทบ แถมยังคงทำรายได้เป็นล้านล้านบาท เพราะฉะนั้น หากต้องการแก้ไขจะต้องสร้างระบบใหม่ขึ้นมาเพื่อดึงตัวเองออกจากวงจรนี้ และสอนลูกหลานให้ทำเช่นเดียวกัน เพื่อที่จะไม่ให้ความมั่งคั่งเหลื่อมล้ำกับผู้คนมากจนเกินไป

161728639211

ด้วยเหตุนี้จึงต้องพลิกโฉมการแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยกลไกทางธุรกิจ พร้อมสร้างนิยามใหม่ “ความสุขที่แท้จริง” เป้าหมายสำคัญคือ การผลักดันให้เกิดชุมชนธุรกิจเพื่อสังคมขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก และเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนแนวคิด “โซเชียลบิซิเนส” ให้เป็นต้นแบบแก้ปัญหาสังคมและตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

ยูนุส กล่าวต่อไปว่า เป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่อารยธรรมใหม่ เริ่มจากความเชื่อว่าสามารถทำได้ และทุกการกระทำมีความหมาย ผ่านการผลักดันเยาวชนให้เป็นผู้ที่สืบสานต่อไปในอนาคต และด้วยแนวคิดนี้ก็ทำให้เกิด “ธนาคารกรามีน” และ “ไมโครเครดิต” เพราะต้องการช่วยเหลือคนจนในบังกลาเทศ

‘ศิลปวิทยาการ’ตัวเร่งศก.ใหม่

161728634058

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์และศิลปวิทยาการเพื่อขยับประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง” ว่า ประเทศไทยได้พัฒนาตนเองมาเป็นลำดับ และจัดเป็นอันดับแนวหน้าของเอเชีย แต่ก็ยังอยู่ในประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูง และมีความพยายามขับเคลื่อนเพื่อขยับเข้าไปอยู่กลุ่มที่มีรายได้สูง โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มาใช้เป็นฐานที่สำคัญของการพัฒนา จึงถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนในครั้งนี้

การพัฒนาประเทศไทยในรอบ 60-70 ปี นับตั้งแต่มีสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอาศัย 3 ปัจจัยหลัก เริ่มจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานการพัฒนา ถัดมาเป็นการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง นำมาซึ่งความสัมพันธ์ด้านการซื้อขาย แลกเปลี่ยนแรงงาน รวมทั้งการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และปัจจัยที่สามคือ การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้าและเพื่อการส่งออก

“ตอนนี้เราไม่สามารถเติบโตบนฐานสามปัจจัยข้างต้นได้อีกต่อไป เพราะประเทศเพื่อนบ้านมีความได้เปรียบเรื่องค่าแรง ที่ดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศเหล่านี้ และปัญหาค่าแรงสูงนี้ก็เป็นหนึ่งในกับดักสำคัญของไทยที่จะก้าวพ้นกลุ่มรายได้ปานกลาง หากไทยจะเดินหน้าตรงส่วนนี้จะต้องคำนึง 2 ปัจจัย คือ การนำเข้าแรงงานค่าแรงถูกมาใช้มากขึ้น และการยกระดับผลิตภาพ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีมูลค่าสูง”

ขณะที่ประเทศชั้นนำกลุ่มรายได้สูงอย่าง ญี่ปุ่น จีนและชาติตะวันตก เน้นการพัฒนาประเทศบนฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่มีสถาบันศึกษาและหน่วยงานวิจัยชั้นนำอยู่ในสังกัด โดยเป็นแหล่งความรู้และเทคโนโลยีชั้นสูง มีบุคลากรนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย อาจารย์ บัณฑิต มหาดุษฎี ที่เป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น อว.จึงเป็นกระทรวงที่ขาดไม่ได้ในการนำพาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง

"คนไทยบางส่วนขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ฯ ของประเทศว่าจะสามารถนำประเทศให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง จึงต้องเปลี่ยนความคิดให้รู้ว่า ประเทศไทยเป็นชาติวิทยาศาสตร์ได้ จึงถึงเวลานำคนเก่งหรือนักเรียนทุนที่ส่งไปเรียนต่างประเทศกลับมาทำงานสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ”