'เนชั่น' เปิดหลักสูตร DTC รุ่น 3 เรียนรู้พาองค์กรสู้ 'ดิจิทัล ดิสรัปชั่น'
ซีอีโอเนชั่นขึ้นเวทีเปิดหลักสูตร DTC เพื่อซีอีโอรุ่น 3 ระบุทุกอย่างมาจากประสบการณ์ตรง ที่พาองค์กรหนีจากภาวะดิสรัปชั่น "ชัยวุฒิ" รมว.ดีอีเอส กล่าวปาฐกถาพิเศษแผนพัฒนาดิจิทัลประเทศ พร้อมด้วยซีอีโอ ปตท กล่าวถึงการทิศทางการทรานฟอร์มธุรกิจพลังงาน
นายฉาย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป ประธานในวันเปิดตัวหลักสูตร Digital Tranformation For CEO#3 กล่าวว่า หลักสูตร DTC วันนี้เป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งล้วนเกิดจากประสบการณ์ตรงขององค์กรเครือเนชั่นฯ จากผลของดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่กระทบต่อองค์กรส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้เสพสื่อและผู้บริโภคสื่อที่ลดลงอย่างฉับพลัน งบโฆษณาสิ่งพิมพ์ปี 2559 จากยอด 13,000 ล้านบาทลดเหลือ 3,800 ล้านบาทใน 4 ปี
ดังนั้น ถ้าผู้บริหารไม่ปรับตัว ปรับยุทธศาสตร์ จะรับมืออย่างไร จะนำพาองค์กรไปอย่างไร ดิจิทัล ดิสรัปชั่น จะส่งผลถถึงท่านอย่างไร การเข้ามายังหลักสูตรนี้ จึงถือเป็นกำลังสำคัญหรือฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
"ผมต้องขอขอบคุณนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ให้เกียรติมาร่วมเปิดงาน โดยส่วนตัวเชื่อว่ารัฐมนตรีชัยวุฒิจะนำพานโยบายในการขับเคลื่อนประเทศผ่านกระทรวงดีอีเอสได้เป็นอย่างดี"
ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่าหลักสูตร DTC ถือว่าเป็นหลักสูตรที่เป็นที่ยอมรับของคนในวงการเพื่อหาความรู้ในการประกอบอาชีพให้ประสบความสำเร็จต่อไป โดยสภาพที่เป็นอยู่ก็เชื่อว่าการเมืองน่าจะอยู่ครบปี เพราะมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกมาก ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปัจจุบันน่าจะดีขึ้น
ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก รวมถึงเรื่องของดิจิทัล ดิสรัปชั่นที่ทำให้ทุกหน่วยงานและองค์กรต้องปรับตัวอย่างรุนแรง หรือแม้แต่การค้าขาย ที่มีการปรับตัวไปอย่างมาก จากการแพร่ระบาดของโควิดที่เป็นตัวเร่งให้กระบวนการต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
“ดิจิทัล”เพิ่มขีดความสามารถ
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอสเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561- 2589) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงมีหน้าที่ในการสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริม สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการพัฒนากำลังคน ด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
"การที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้าไปแทรกซึมและเป็นส่วนหนึ่งของทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนประเทศ”
โดยปี 2564 พบว่ามีประชากรโลกมีจำนวนประมาณ 7,830 ล้านคน โดยมีจำนวนประชากรที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตประมาณ 4,660 ล้านคน หรือ 59.5% ของประชากรโลก ซึ่งมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่าปี 2560 ที่ผ่านมาคิดเป็น 7.3% มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรโลกซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์พบว่า ปีนี้ ประชากรโลกซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์คิดเป็น 76.8% ของประชากรโลก และมีการค้นหาสินค้าและบริการออนไลน์มากถึง 81.5% ของประชากรโลก
สังคม-ธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยน
เขา กล่าวว่า ในยุคนิวนอร์มอลประชาชนเกิดพฤติกรรมใหม่ ๆ ขึ้น ซึ่งยิ่งเป็นการย้ำความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เช่น สังคมมีความระมัดระวังเรื่องความสะอาด การรักษาระยะห่าง (CLEANLINESS AND TOUCH-LESS SOCIETY) และธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภค เกิดมาตรการเชิงป้องกันและเชิงรุก และสังคมตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการภาวะวิกฤติอย่างเป็นระบบ (PROACTIVE AND PREVENTIVE MEASURES) ธุรกิจและผู้บริโภคถูกเร่งให้ปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีดิจิทัล และกลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน (DIGITAL TRANSFORMATION) และ เศรษฐกิจดิจิทัลมีการขยายตัวสูงขึ้น ธุรกิจมีการเชื่อมต่อกับโลกมากยิ่งขึ้น และมีการให้บริการรูปแบบ ไร้พรมแดนมากขึ้น (ACCELERATED DIGITAL GLOBALIZATION ECONOMY)
พัฒนาจากสมาร์ทซิตี้สู่“5จี”ซิตี้
อย่างไรก็ดี ในส่วนของสถานการณ์พัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย มีตัวเลขที่น่าสนใจ ดังนี้ ประชาชนไทย ประมาณ 69.88 ล้านคน มีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ประมาณ 90.66 ล้านอุปกรณ์ คิดเป็น 129.7% นั้นหมายความว่ามีประชาชนมากกว่าครึ่งที่มีโทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 เครื่อง การใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ของคนไทยจะอยู่ที่ 8 ชั่วโมง 44 นาที ต่อวันมูลค่าสินค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซของไทย ประมาณ 7.29 พันล้านดอลล่าสหรัฐ อีกทั้ง เป็นที่ยินดีว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 1 สำหรับประเทศที่อัตราความเร็วเฉลี่ยของอินเทอร์เน็ตบ้านสูงสุดที่สุดในโลก โดยมีความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 308.35 Mbps
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เป็นดิสรัปชั่นที่จะมีผลกระทบมากที่สุดในขณะนี้ เขา กล่าวว่า คงหนีไม่พ้นเทคโนโลยี 5จี ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของเรามากยิ่งขึ้นโดยในอนาคต คาดว่า ความต้องการในการใช้งาน 5จี ของผู้บริโภค จะแนวโน้มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยคาดว่าในปี 2570 จะมีคนไทยจะใช้งาน 5จี ไม่ต่ำกว่า 70 ล้านราย (หรือประมาณ 73%)
โดย 5จี จะช่วยส่งผลให้ในอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ 5จี อยู่ที่ 2.3 – 5 ล้านล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลจะลดลงอย่างน้อย 38,000 ล้านบาทต่อปี 2. การขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย ได้เร่งดำเนินการผลักดันการดำเนินงานที่สำคัญ 1.นำร่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5จี ทั้งหมด 6 เซ็กเตอร์ ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านสาธารณสุข ด้านอุตสาหกรรม ด้านการศึกษา ด้านคมนาคม และด้านเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ท ซิตี้) รวมทั้งสิ้น 9 โครงการ ที่กระจายครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศโดยการดำเนินการในระยะถัดไป กำลังผลักดันให้เกิด 5จีซิตี้ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกพื้นที่