‘น้ำตาลลิน’ รับธุรกิจอนาคต เปิดแผนลุย ‘มัยคอโปรตีน’
“โปรตีนทางเลือกจากจุลินทรีย์” หรือที่เรียกว่า “มัยคอโปรตีน” (Mycoprotein) แม้จะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ใหม่เพราะมีการวางขายแล้วในยุโรป แต่ถือเป็นครั้งแรกที่ผลิตได้ในประเทศไทยด้วยฝีมือนักวิจัยไทย จุดความหวังที่จะลดพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ
ทีมวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) นำโดย “กอบกุล เหล่าเท้ง" จากกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชันและนวัตกรรมอาหาร ใช้เวลากว่า 4 ปีศึกษาค้นหาสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมนำมาผลิตโปรตีนทางเลือก คือเป็นสายพันธุ์ที่ผลิตโปรตีนปริมาณมาก มีความปลอดภัยและไม่สร้างสารพิษ โดยวิเคราะห์ข้อมูลลงลึกถึงระดับจีโนม เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย ต่อมาได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบ เพื่อต่อยอดสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการผลิตโปรตีนที่มีคุณภาพสูงและต้นทุนต่ำ เพื่อให้แข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ พร้อมกับการยื่นขอจดสิทธิบัตร
‘ตัวละครลับ’ในขั้นตอนการผลิต
ทีมวิจัยไบโอเทคพร้อมส่งต่อผลงานวิจัย “ขึ้นห้าง” หรือขยับสเกลสู่ระดับอุตสาหกรรม จึงร่วมกับบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด เจ้าของแบรนด์ “น้ำตาลลิน” ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ ซึ่งสนใจที่จะผลิตมัยคอโปรตีน จึงเดินหน้าการวิจัยต่อยอดในระดับกึ่งอุตสาหกรรม รวมทั้งการวิจัยพัฒนาเพิ่มมูลค่าโปรตีนทางเลือกสู่ผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมต่างๆ
อัจฉรา งานทวี ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า ทุกวันนี้น้ำตาลถูกมองเป็นสิ่งที่อันตรายต่อสุขภาพ และมีการรณรงค์ให้บริโภคน้อยลง บริษัทจึงพยายามมองหานวัตกรรมที่จะต่อยอดการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่ามากขึ้น กระทั่งมาเจองานวิจัยการพัฒนามัยคอโปรตีนจากจุลินทรีย์ของ “กอบกุล เหล่าเท้ง" นักวิจัยไบโอเทค ทำให้เห็นโอกาสและเกิดเป็นความร่วมมือในการวิจัยพัฒนา เนื่องจากในกระบวนการผลิตต้องใช้น้ำตาลเป็นอาหารให้แก่จุลินทรีย์ในการเปลี่ยนเป็นพลังงานสร้างเส้นใย ประกอบกับ โปรตีนทางเลือกเป็นเทรนด์อาหารแห่งอนาคต ซึ่งถือเป็น Specialty Market นำมาซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
บริษัทมองการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปที่อาหารสำเร็จรูป รวมถึงการขายเป็นวัตถุดิบเนื้อเทียมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร โรงแรมต่างๆ เพราะผู้บริโภคปัจจุบันรักสุขภาพมากขึ้น สังเกตจากผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ปรับเปลี่ยนมารับประทานโปรตีนจากพืชจำนวนมาก หรือแม้แต่ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพฟันและระบบการย่อยอาหาร โปรตีนจากจุลินทรีย์จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่มาทดแทนได้ นอกจากนี้ยังตอบโจทย์กลุ่มคนที่รักสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
“งานวิจัยเป็นเรื่องขององค์ความรู้ ทีมวิจัยของเราทำเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์อยู่แล้ว โดยใช้ทั้งเทคโนโลยีการหมักและเทคโนโลยีชีวกระบวนการ จะมีในเรื่องของการเน้นการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์และใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศ เพื่อเปลี่ยนเป็นสารมูลค่าสูง และในโครงการเริ่มตั้งแต่คัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ซึ่งจะต้องใช้ในอุตสาหกรรมได้ และมีประวัติในการใช้งานในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นเกรดอาหาร มีประสิทธิภาพในการผลิต สร้างโปรตีนได้สูง เจริญเติบโตได้เร็ว และมีสารอาหารหลากหลาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ทีมทำวิจัยคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่เหมาะสมมาไม่ต่ำกว่า 4 ปี ดูข้อมูลลงลึกถึงระดับจีโนม เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยและศึกษาในเชิงความรู้พื้นฐาน พร้อมกับการยื่นขอจดสิทธิบัตร”
ดึง ‘น้ำตาล’ เลี้ยงจุลินทรีย์
มัยคอโปรตีนสามารถใช้ประกอบอาหารปรุงรสทดแทนเนื้อสัตว์บด เช่น เบอร์เกอร์ ลาบ กะเพรา น้ำพริกอ่อง รวมถึงสาคูจากโปรตีนทางเลือก ส่วนคุณค่าทางโภชนาการก็มีโปรตีนสูงเทียบเท่ากับโปรตีนจากไข่ ไม่มีคอเลสเตอรอล ทั้งยังมีกรดอะมิโนจำเป็นครบทุกตัว มีไฟเบอร์ ไวตามิน รวมถึงเบต้ากลูแคน นอกจากจะเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพแล้ว ยังมีความปลอดภัยในการบริโภคด้วยเพราะไม่มีการปนเปื้อนสารเคมี และยาปฏิชีวนะ แต่เนื่องจากว่าการผลิตมัยคอโปรตีนต้องใช้เทคโนโลยีทางด้านชีวภาพ ไม่ใช่แค่ลักษณะการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ ต้องอาศัยหลายศาสตร์ ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงให้ได้เส้นใยคล้ายกล้ามเนื้อของสัตว์ การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ และการคำนึงถึงรสชาติ จึงมีผู้เล่นน้อยรายนักที่จะเข้าสู่ตลาดนี้
“จากการสำรวจพบว่าตลาดแพลนท์เบสมีมูลค่าสูงถึง 2.8 หมื่นล้านบาท เติบโต 20-30% ทุกปี ซึ่งรวมทุกโปรดักท์แพลนท์เบส แต่เซกชั่นมัยคอโปรตีนยังเล็กและยังหาไซต์ตลาดไม่ได้ ถึงอย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าจะเติบโตขึ้นในอนาคตดูจากเทรนด์ในต่างประเทศ และผู้เล่นในเมืองไทยที่ลงสู่ตลาดนี้กันจำนวนมาก ทั้งรายใหญ่ และสตาร์ทอัพ คาดว่า 1-2 ปีนับจากนี้จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากขึ้น”
สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอนนี้อยู่ระหว่างการวิจัยปรับเนื้อสัมผัสให้เหมือนเนื้อสัตว์มากที่สุดและต้นทุนการผลิตต่ำ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด คาดว่าอาจจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ได้ภายในปลายปี 2564 ในช่วงเทศกาลกินเจ และงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX
ส่วนบิซิเนสโมเดลตั้งเป้าเจาะทั้งตลาดในประเทศและส่งออก เป็นในลักษณะวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมอาหาร B2B ส่วน B2C จะเป็นในรูปแบบของอาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อมทาน ที่จะวางขายตามโมเดิร์นเทรด ทั้งนี้ มีแผนเจาะตลาดต่างประเทศจะเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) เป็นหลัก อาทิ จีน อินเดีย แต่ทั้งนี้บริษัทเน้น B2B มากกว่า B2C เพราะต้องการวางแผนผลิตต้นแบบเพื่อให้ B2B มาเห็นและซื้อวัตถุดิบ
‘ราคาเข้าถึงได้’ความท้าทายธุรกิจ
ทั้งนี้ ในส่วนของความท้าทายมองว่า คือ “ราคา” ซึ่งยังไม่ได้มีการตั้งราคา เพราะลักษณะผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย ส่วนช่องทางการจำหน่ายจะเน้นทั้งออฟไลน์และออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ในอนาคตอาจจะมีพรีเซ็นเตอร์เพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์ ส่วนออฟไลน์จะเป็นการวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตและโมเดิร์นเทรดต่างๆ เบื้องต้นจะใช้โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการเป็นสถานที่ผลิตอาหาร และใช้ผลิตมัยคอโปรตีน ในโครงการนี้สำหรับการนำร่องในช่วงของการทดลองตลาด เพราะอยู่ระหว่างการจัดตั้งโรงงานซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง
ทั้งนี้กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง มีโรงงานน้ำตาลในเครือ 6 โรง ผลผลิตน้ำตาลประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ดำเนินธุรกิจมากว่า 75 ปี เป็นเอกชนรายแรกที่ผลิตน้ำตาลและน้ำเชื่อมเป็นหลัก ที่ผ่านมามีการนำกากน้ำตาลไปใช้ประโยชน์ทั้งส่งไปผลิตอาหารสัตว์ ทำผงชูรส ในส่วนของเศรษฐกิจชีวภาพเป็นเรื่องของการนำประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพ ทั้งจุลินทรีย์ สินค้าทางการเกษตรจากอ้อย น้ำตาล มาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ “บีซีจี”