‘อีคอมเมิร์ซโต’ระลอกใหม่ ‘ขนส่ง-ผู้ค้า’แข่งโชว์จุดแข็ง
"ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส" เปิดรายงาน ระบุว่า โควิดกำลังทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโตระลอกใหม่
การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงลามไปทั่วโลก ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจด้านขนส่งหรือโลจิสติกส์ได้ประโยชน์ คนทั่วโลกหันซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น กลายเป็นวิถีชีวิตปกติ ยอดขนส่งสินค้าขยายตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ "ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส" เปิดรายงาน ระบุว่า โควิดกำลังทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโตระลอกใหม่
‘ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส’ ผู้ให้บริการขนส่งด่วนระหว่างประเทศระดับโลก เผยรายงานผลศึกษาฉบับใหม่ “The Ultimate B2B E-commerce Guide: Tradition is out. Digital is in” ซึ่งคาดการณ์การเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจ B2B อีคอมเมิร์ซ โดยระบุว่า ภายในปี 2568 ราว 80% ของการซื้อขายแบบ B2B ระหว่างซัพพลายเออร์และลูกค้าองค์กรจะดำเนินการผ่านช่องทางดิจิทัล
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล (digitalization) อย่างรวดเร็ว และพฤติกรรมการซื้อของคนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennial) ที่คุ้นเคยกับการใช้งานเทคโนโลยี ได้กลายเป็นผู้ตัดสินใจในกระบวนการทำธุรกิจแบบ B2B ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นการเติบโตของอีคอมเมิร์ซทั่วโลก
ผู้บริโภคทั่วโลกหันซื้อสินค้าออนไลน์
“จอห์น เพียร์สัน” ซีอีโอ “ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส” กล่าวว่า แม้การปิดประเทศเกิดขึ้นทั่วโลก กระแสโลกาภิวัตน์ยังคงดำเนินต่อไป โดยได้อานิสงส์จากการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล และความแข็งแกร่งของระบบการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันไปซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น สถานการณ์การแพร่ระบาดเร่งให้เกิดพัฒนาการในส่วนนี้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
"ธุรกิจที่ขายสินค้าในโกลบอลมาร์เก็ตเพลสเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ระบบอีคอมเมิร์ซ และบริการโลจิสติกส์ทั่วโลก คือ กุญแจสำคัญที่ปลดล็อคมาตรการล็อคดาวน์ของแต่ละประเทศ ช่วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อเนื่อง บรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดให้ลูกค้าจำนวนมาก"
อีกหนึ่งปัจจัยกระตุ้นการเติบโตตลาด B2B อีคอมเมิร์ซทั่วโลก คือ คนรุ่นมิลเลนเนียลที่คุ้นเคยการใช้เทคโนโลยี เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ ครองสัดส่วนมากถึง 73% ของผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการซื้อขายแบบ B2B ภายในองค์กร และเนื่องจากคนกลุ่มนี้เติบโตพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัลและคุ้นเคยกับการค้าแบบ B2C ดังนั้นจึงมีความคาดหวังสูงเมื่อทำธุรกิจ B2B ส่งผลให้องค์กรธุรกิจลงทุนในโซลูชั่นดิจิทัล เช่น แพลตฟอร์มการขายทางออนไลน์ ซึ่งคาดว่ามีโอกาสเติบโตอย่างมากในอนาคต
โควิดเร่งการเติบโตอีคอมเมิร์ซ
“เคน ลี” ซีอีโอของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ในเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) ยอดขายในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2563 เป็นช่วงพีคของปี เติบโตสูงถึง 17.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ผลจากจำนวนผู้ส่งสินค้ามากขึ้น และยอดใช้จ่ายเฉลี่ยลูกค้าแต่ละรายเพิ่มสูงขึ้นถึง 21%
โดยช่วงสองเดือนดังกล่าว กว่า 65% เป็นชิปเม้นท์แบบ B2C โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีคอนซูมเมอร์ และเครื่องแต่งกายแฟชั่น ย้ำถึงการขยายตัวธุรกิจชอปปิงออนไลน์ รวมถึงความต้องการบริการขนส่งระหว่างประเทศ ทำให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต้องเพิ่มความคล่องตัวการดำเนินงาน เพื่อปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยน ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้ทันที
นอกจากนี้ ก่อนเกิดการแพร่ระบาด ยอดขายทั่วโลกบนเว็บไซต์ B2B อีคอมเมิร์ซ และ B2B มาร์เก็ตเพลส เพิ่มสูงขึ้นถึง 18.2% จนแตะระดับ 12.2 ล้านล้านดอลลาร์ แซงหน้าตลาด B2C และผลจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลที่รวดเร็ว ทำให้คาดว่ายอดขาย B2B อีคอมเมิร์ซทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 20.9 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2570 ขณะที่ รวมยอดขาย B2C อีคอมเมิร์ซ ภายในเครือข่ายของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ปี2563 เพิ่มขึ้นราว 40% เมื่อเทียบกับปี 2562
ดีเอชแอลฯ หนุนไทยสร้างโอกาสการค้า
“เฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย” กรรมการผู้จัดการดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย และหัวหน้าภาคพื้นอินโดจีน กล่าวว่า ทรานฟอร์เมชั่นของธุรกิจ B2B อีคอมเมิร์ซเป็นไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่ต้องการสร้างโอกาสจากการค้าระหว่างประเทศ ต้องปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนตลอดเวลา ด้วยการให้บริการผ่านเครือข่ายที่มีทั่วโลก ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม
"บริการเราช่วยให้ธุรกิจและผู้บริโภคในกว่า 220 ประเทศสามารถทำการค้าทั่วโลกได้ตามปกติ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงของสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม” เฮอร์เบิร์ต กล่าว