'สไมล์ไมเกรน' ธุรกิจเฮลธ์เทค อีโคซิสเต็มพิชิตอาการปวด!

'สไมล์ไมเกรน' ธุรกิจเฮลธ์เทค อีโคซิสเต็มพิชิตอาการปวด!

Smile Migraine Platform แอพพลิเคชั่นสำหรับบันทึกอาการปวดศีรษะของผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรน จะมีอัลกอริทึมช่วยวิเคราะห์ระดับความรุนแรงของโรค แสดงผลสถานะต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ปรับพฤติกรรม ควบคุมการทานยาแก้ปวด ปรึกษาแพทย์ได้

อาการปวดศีรษะ “ไมเกรน” โรคยอดฮิตตามติดชีวิตคนวัยทำงาน เป็นอาการที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ ซึ่งสาเหตุของไมเกรนมีหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญกับสิ่งกระตุ้นอย่าง ความเครียดสูง ฮอร์โมน พักผ่อนไม่เพียงพอ อากาศเปลี่ยนแปลง ความไวต่อแสง เสียง และกลิ่น แต่กระนั้น โรคไมเกรนกลับไม่ใช่แค่อาการปวดหัวทั่วไป แต่เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างแท้จริง

161952720554

จึงเป็นเหตุผลให้ ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปวดศีรษะจาก University College London (UCL) ทำงานรักษาคนไข้ไมเกรนมากว่า 15 ปี ได้ก่อตั้ง สไมล์ไมเกรน (Smile Migraine)' ขึ้น โดยพัฒนาการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียและเป็นชุมชนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังได้สร้างแอพพลิเคชั่นสไมล์ไมเกรนสำหรับคนไข้ไมเกรน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามอาการปวดศีรษะ วัดระดับความรุนแรงของโรคไมเกรนและปรึกษากับทีมงานที่เชี่ยวชาญได้อย่างสะดวก เพื่อให้ชาวไมเกรน ได้มีนวัตกรรมในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ การันตีฝีไม้ลายมือได้จากโครงการ Open Innovation และโครงการม้านิลมังกร โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ผศ.นพ.สุรัตน์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีคนไข้ไมเกรนจำนวนกว่า 10 ล้านคน จากการสำรวจพบว่ามักจะมีปัญหาเพราะขาดความรู้ความเข้าใจ และการเข้าถึงแพทย์ระบบประสาทที่มีเพียงน้อยนิด จนทำให้เกิดการรักษาที่ผิดวิธี การซื้อยาทานเอง จนก่อให้เกิดปัญหาตามมา อาทิ เป็นโรคปวดไมเกรนเรื้อรัง โรคไต กระเพาะอาหารอักเสบ ดื้อยา และสมองติดยาแก้ปวด เนื่องจากไมเกรนเป็นโรคที่ไม่ใช่แค่อาการปวดหัวทั่วไป ด้วยเกิดจากการกระตุ้นของ แสง สี เสียง ความเครียด ทำให้อาการปวดมีความรุนแรงและเรื้อรัง และก่อให้เกิดปัญหาทุพพลภาพสูง ดังนั้นการมีความรู้ และความเข้าใจ อย่างถูกต้อง จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการเริ่มต้นสังเกตพฤติกรรมตนเอง ให้ห่างไกลจากโรคไมเกรนได้ดียิ่งขึ้น

 ยิ้มสู้เทรนด์โรคทางสมอง

"ปัจจุบันเฟซบุ๊กเป็นคอมมูนิตี้หลัก ที่มีประมาณ 1.3 แสนคน มีผู้เช้าชมต่อเดือนประมาณ 1 ล้านคน อีกทั้งมีการทำคอนเทนต์ผ่านยูทูป Clubhouse ,พอดแคสต์ เพื่อให้ความรู้จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ต่อกันของคนไข้ไมเกรน ส่วนแอพพลิเคชั่นสไมล์ไมเกรน เป็นนวัตกรรมที่ออกแบบให้สามารถบันทึก ติดตาม วิเคราะห์ อาการปวดศีรษะได้ด้วยตัวเอง และยังมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ทั้งการปรึกษาจากทีมเชี่ยวชาญไมเกรนเฉพาะทาง ในการช่วยในการรักษาโรคไมเกรนให้ดีขึ้น"

161952733437

ประกอบด้วย ฟังก์ชั่นที่ 1 ประเมินระดับความรุนแรงของโรคไมเกรนด้วย “ระดับไมเกรน (Migraine Level)" ผ่าน Smile Migraine Algorithm โดยระบบจะวิเคราะห์และประมวลผลอาการปวดศีรษะเบื้องต้นให้แก่ชาวไมเกรน พร้อมกับแนะนำแนวทางการรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็น หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ปรับพฤติกรรมและการใช้ยา รวมถึงแนะนำการรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี

ฟังก์ชั่นที่ 2 คือ การปรึกษาทีมผู้เชี่ยวชาญด้านไมเกรน ประกอบไปด้วย แพทย์ทางระบบประสาท เภสัชกร นักกายภาพบำบัด พยาบาล นักจิตวิทยา ที่จะคอยซัพพอร์ตและให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคไมเกรนและโรคร่วมอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคปวดกล้ามเนื้อ โดยจะเป็นการตอบโต้ผ่านแชทและแชทบอทแบบเรียลไทม์ ขณะเดียวกันกำลังพัฒนาฟีเจอร์เทเลเมดิซีนขึ้นเพื่อตอบโจทย์การใช้งานอย่างครอบคลุม

ส่วนในอนาคตจะมีการนำเอไอมาช่วยทำนายพร้อมกับส่งข้อมูล อย่างเช่น สถานที่มีอากาศร้อน 30 องศา ควรระมัดระวัง ทั้งนี้ข้อมูลต่างๆจะถูกนำไปจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อที่จะนำไปวิเคราะห์ประมวลผลและแนะนำข้อมูลให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

161952735157

ฟังก์ชั่นที่ 3 เครือข่ายทางการแพทย์ ผ่านการติดต่อร้านขายยา เพื่อจ่ายยาและติดต่อสื่อสารพร้อมกับประเมินคนไข้ นำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมมีแผนที่สำหรับร้านยาที่เป็นเครือข่ายของสไมล์ไมเกรน กว่า 20 แห่ง (อยู่ในช่วง Pilot project เพื่อติดตามการใช้งาน ที่จะนำไปสู่การขยายทั่วประเทศในลำดับต่อไป ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือกับสมาคมการค้าร้านขายยาและชมรมเภสัชกรจังหวัดเชียงใหม่ ไว้แล้วเบื้องต้น คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน ทั้งยังได้มีการพัฒนาเทเลฟาร์มาซีเพื่อนำมาประยุกต์ใช้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับช่วยชาวไมเกรน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและสมุนไพร จากหลักฐานงานวิจัย อาทิ สารสกัดจากขิง (Migra G) ในการลดอาการปวด และการใช้ผลิตภัณฑ์แมกนีเซียมสกัด (Migra และ Migra Plus) เพื่อลดความรุนแรง โดยขณะนี้ ทั้งในส่วนผลิตภัณฑ์และแอพ ฯ ได้เก็บข้อมูลเพื่อต่อยอดด้านการวิจัย ให้มีหลักฐานทางการแพทย์ตามหลักสากล อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ มช. อีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงถือได้ว่าสไมล์ไมเกรน ช่วยในการดูแลแบบ“อีโคซิสเต็มของไมเกรนหรือระบบนิเวศวิทยาของไมเกรนอย่างแท้จริง

ผุดโมเดล ‘คิดค่าบริการตามยอดขาย

ผศ.นพ.สุรัตน์ กล่าวต่อไปว่า แผนการดำเนินงานที่วางไว้คือ ปัจจุบันแพลตฟอร์มมีคนไข้ใช้ประมาณ 2 หมื่นคน ตั้งเป้าในปีนี้จะมีการลอนซ์การทำเทเลมิดิซีนไมเกรนโดยตรง และช่วงปลายปีจะเพิ่มฟังก์ชั่นภาษาอังกฤษ เพื่อที่จะขยายสู่การใช้งานในต่างประเทศ พร้อมกับขยายทีม และผู้ใช้งาน

จากการเปิดใช้งานแพลตฟอร์มมาประมาณ 1 ปี ที่มี UX/UI ตอนนี้กำลังจะลอนซ์ Paid user ที่มีพรีเมี่ยมโมเดลคือใช้ฟรี แต่หากมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หลังจากนี้อีก 1 เดือน จะขยายตลาดทำฟลูสตรีมโดยราคาต่อเดือนประมาณ 169 บาท ดาวน์โหลดได้ทั้ง IOS และ Android เพราะมองว่าด้วยลักษณะของธุรกิจสตาร์ทอัพจะต้องสเกลอัพได้

161952737072

ทั้งนี้ บิซิเนสโมเดล แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1.Subscription Model เมื่อกดอาการเข้ามาระบบจะทำการวิเคราะห์ให้ทันที พร้อมกับวางแผน และรับปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ และผ่านทางแชทบอท 2.ที่ปรึกษา ผ่านการแมชชิ่งกับกลุ่มร้านขายยา และทีมแพทย์ เพราะฉะนั้นจะมีค่าบริการในการปรึกษาแพทย์ บริษัทฯจะได้ Revenue sharing จากการจำหน่ายยา-ค่าปรึกษา 3.โปรดักท์ลด อาการปวดไมเกรน อาทิ อาหารเสริม สมุนไพร อุปกรณ์ต่างๆ จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์

ส่วนอื่นๆจะเป็นการทำ B2B ที่ร่วมกับโรงพยาบาล ในการใช้เครื่องมือติดตามอาการคนไข้ให้กับโรงพยาบาล ทำให้การรักษาสะดวก และมีประโยชน์มากขึ้น ทั้งมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านไมเกรนเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมทั้งอีโคซิสเต็ม เช่น นวัตกรรมแว่นตากรองแสง ครีมระงับปวด ฯลฯ

บิซิเนสโมเดลที่ใช่และอยู่ให้รอด

161952740082

ทั้งนี้ความท้าทายในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ผศ.นพ.สุรัตน์ มองว่า ความสำเร็จจะมีอยู่แค่ 10% เนื่องจากความยากของสตาร์ทอัพคือ ต้องทดสอบรูปแบบธุรกิจนั้น ๆ ว่าเป็นความต้องการตลาดมากน้อยแค่ไหน ลูกค้ายอมที่จ่ายเงินหรือไม่และตอบโจทย์ปัญหาของสังคมได้จริง ซึ่งการพัฒนาตรงจุดนี้จะต้องใช้ทุน และกำลังคน เพราะสตาร์ทอัพไม่เหมือนคอร์ปอเรท หรือ เอสเอ็มอี ตรงที่ไม่มีทุนมากนัก ดังนั้นการที่จะหล่อเลี้ยงได้คือ บิซิเนสโมเดลต้องใช่และพร้อมปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ส่วนการมีรายได้หลายช่องทาง ก็จะทำให้บิซิเนสยั่งยืนมากขึ้น โดยที่ผ่านมา ขณะที่    สไมล์ไมเกรน อยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาด้านรายได้จากแพลตฟอร์ม จึงต้องหารายได้จากส่วนอื่น ทั้งจากทุน หรือ ผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้เกิดการเติบโตในปีที่ผ่านมากกว่า 500% เพื่อนำมาพัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ชาวไมเกรนอย่างแท้จริง

ส่วนความท้าทายในตลาดไมเกรน คือ ต้องหาสิ่งที่ใช่สำหรับผู้ป่วย ต้องหาวิธีที่จะแก้ ความเดือดร้อน หรือ จุดเจ็บปวด ที่เรียกว่า pain point ห้ได้ และเนื่องจาก โรคไมเกรน เป็น Lifestyle disease หรือ โรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม จึงต้องสร้างแรงจูงใจในการลดการปวดและทำให้โรค ดีขึ้น เช่น การปรับพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย โดยที่สไมล์ไมเกรนจะช่วยตรงจุดนี้ ทำให้โรคดีขึ้นในระยะยาวอีกด้วย

ทั้งนี้ทางฝั่งภาพรวมตลาดไมเกรน มองว่า เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศไทย มีขนาดตลาดคนเป็นไมเกรนกว่า 10 ล้านคน และในอนาคตอาจจะเพิ่มขึ้น เพราะสิ่งแวดล้อมต่างๆเอื้อที่จะเกิดไมเกรน แต่หากถามถึงผู้เล่นในตลาดในประเทศไทยนั้น สไมล์ไมเกรนถือเป็นเจ้าแรก ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสิงคโปร์แต่โปรดักท์จะแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นสไมล์ไมเกรนจึงบริษัทเดียวที่ครบวงจรของอีโคซิสเต็มด้านไมเกรน และเป็นคอมมูนีตี้ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย