'DryDye' อีโคอินโนเวชั่น ปฏิวัติวงการย้อมผ้าไม่ใช้น้ำ
รู้หรือไม่ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่น/สิ่งทอใช้น้ำมากเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำมัน อีกทั้งพลังงานจำนวนมาก ทำให้หลายธุรกิจเริ่มมองหานวัตกรรมการย้อมสีผ้าเพื่อลดการใช้น้ำ และสารเคมีให้น้อยลง
ภายใต้การดำเนินงานที่อยู่บนพื้นฐานการดูแลโลกไปในตัว จึงเป็นเหตุผลจุดประกายไอเดียให้กับ บริษัท เย่กรุ๊ป จำกัด ภายใต้การบริหารงานของรุ่นที่ 3 ซึ่งมี “พิชญ์สินี เย่” และ “กันตวัฒน์ เย่” ที่เป็นตัวแทนจะมาเล่าถึง DryDye การสร้างสรรค์ต่อยอดนวัตกรรมการย้อมสีผ้าแบบไม่ใช้น้ำ สร้างสมดุลที่ดีตอบแทนให้สิ่งแวดล้อม
พิชญ์สินี เย่ Marketing & Visual Designer บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แตกไลน์มาจาก บริษัท เย่กรุ๊ป จำกัด โดยเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 กล่าวว่า เย่กรุ๊ป เป็นบริษัทครอบครัวด้านรับจ้างผลิตผ้าให้กับแบรนด์ต่างๆ มากว่า 30 ปี แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่าง คือ การให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ วัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการพลิกธุรกิจครอบครัวให้เติบโตด้วยนวัตกรรมและไอเดียใหม่ๆ ที่ไม่ได้เน้นแค่ผลกำไร แต่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งบริษัททำธุรกิจสิ่งทอครบวงจรมีทั้งทอผ้าและย้อมผ้า การย้อมนั้นมีทั้งแบบใช้น้ำและไม่ใช้น้ำ ขณะที่การย้อมผ้าแบบดั้งเดิมมีการใช้น้ำ 50-150 ลิตรต่อผ้า 1 กิโลกรัม ทั้งยังใช้สารเคมีในการย้อมเพื่อให้สีติดลงในเนื้อผ้า ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน จึงเป็นเหตุให้ต้องการที่จะพัฒนาโซลูชั่นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหานี้ กระทั่งได้พบกับนวัตกรรมการย้อมแบบไม่ใช้น้ำในงาน ITMA FAIR งานแสดงสินค้าและนวัตกรรมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ
DryDye เป็นวิทยานิพนธ์ของศาสตราจารย์ท่านหนึ่ง ในขณะนั้นเป็นเพียงไอเดียเล็กๆ แต่ด้วยวิสัยทัศน์จึงมองว่าหากผลิตในเชิงพาณิชย์ได้จริง จะช่วยลดทรัพยากรได้มหาศาล จึงเริ่มลงทุนพัฒนาเครื่องร่วมกันจนเป็น DryDye เครื่องแรกของโลก ล่าสุดสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ภาคกลาง ภายใต้โครงการม้านิลมังกร จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ไปครอง
จับมือแบรนด์อินเตอร์รันธุรกิจ
พิชญ์สินี กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันบริษัทใช้นวัตกรรมดังกล่าวผลิตชุดกีฬาและชุดชั้นในให้กับแบรนด์ชั้นนำเกือบทุกแบรนด์ อาทิ ADIDAS, MIZUNO, DECATHLON, ODLO และการผลิตเสื้อวิ่งให้กิจกรรมวิ่งมินิมาราธอนการกุศล อย่างเช่น งาน TMB I ING PARKRUN 2018
ส่วนภาพรวมตลาดมองว่าผู้เล่นรายอื่นอาจจะมีการย้อมโดยไม่ใช้น้ำ หรือก็ไม่สามารถลดการใช้น้ำให้เหลือศูนย์ได้ แต่ไม่มีใครที่จะมองแล้วเป็นคู่แข่งที่มี control over supply chain มากเท่าบริษัท บวกกับเรื่องของความสามารถและโนว์ฮาวที่เป็นแห่งแรกของโลก จึงสามารถซ่อมและปรับเครื่องเองได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร
“บิซิเนสโมเดล แบ่งเป็น B2B ที่ร่วมกับแบรนด์ต่างๆ และ B2C ที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้นผ่านการซื้อขายเสื้อผ้าได้โดยตรง อาทิ งานวิ่งที่ร่วมกับทางมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งบริษัทเอกชน อาทิ ฮาโตริ กรุงเทพประกันภัย ที่เริ่มสนใจทางนวัตกรรมในการใช้สินค้าที่มีแหล่งที่มาที่ยั่งยืน”
ส่วนการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ กันตวัฒน์ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของทางโรงงานการสร้างแบรนด์ คือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจเป็นที่เข้าใจและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด ปัจจุบันเน้นสร้างความตระหนักกับลูกค้าโดยตรงเพื่อให้รู้จักแบรนด์มากขึ้น อีกทั้งจับมือกับมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านงานวิ่งต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์
“ความท้าทายของ Green Business คือ การสร้างความตระหนักเนื่องจากแบรนด์ที่กรีน และยั่งยืนลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าต้องกรีนให้ได้ 100% เท่านั้น แต่เราต้องการที่จะสื่อว่าไม่ต้องกรีนให้ได้ 100% แต่ต้องกรีนให้ได้มากที่สุด จึงอยากทำให้นวัตกรรมของเราจับต้องได้ เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ว่า เสื้อ 1 ตัวก็สามารถลดผลกระทบต่อโลกได้ อีกทั้งทุกคนมักมองว่าสินค้าที่ยั่งยืนมักจะมีราคาสูง แต่เมื่อกระตุ้นให้ผู้คนเริ่มหันมาใช้ กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนเหล่านี้จึงลดลงเช่นกัน ทำให้ปัจจุบันราคาในตลาดกับ DryDye ต่างกันไม่มากนัก จึงสามารถจับต้องได้ง่ายขึ้น และปัจจุบันในตลาดไม่สามารถหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่กรีนกว่านี้ได้อีกแล้ว ”
กว่าจะได้ใส่เสื้อ น้ำอาจไม่เหลือให้ใช้
นวัตกรรมนี้จะช่วยลดขั้นตอน ลดพลังงานโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวจับสีกับโครงสร้างผ้า ทั้งนี้ การใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีถังกักเก็บไม่ให้ปล่อยเป็นของเสียในชั้นบรรยากาศแถมยังสามารถนำก๊าซกลับมาย้อมซ้ำได้เช่นเดียวกับผงสี Pure Dyesที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ ส่วนด้านพลังงานที่ใช้ในการย้อมจะใช้น้อยกว่า 50% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำ และยังช่วยลดการใช้สารเคมีที่ทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วยผ้าที่ย้อมเสร็จจะแห้งไม่ต้องนำไปล้างหรือซักแห้งอีก
ขั้นตอนการย้อมแบบใช้น้ำโดยปกติเสื้อ 1 ตัวใช้น้ำสูงถึง 25 ลิตร แต่ขั้นตอนของ DryDye ทั้งหมดไม่มีการใช้น้ำแม้แต่หยดเดียว จึงไม่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย อีกทั้งคาร์บอนไดออกไซด์และผงย้อมจะสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้กว่า 95%
ข้อดีของการย้อมผ้าโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์คือ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ, ประหยัดเวลาการย้อมผ้าและเพิ่มปริมาณการดูดซึมสีย้อมบนวัสดุสิ่งทอ, ประหยัดพลังงาน เพราะลดขั้นตอนการทำผ้าให้แห้ง, ไม่จำเป็นต้องเติมสารช่วยย้อม โดยย้อมแบบใช้น้ำใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง ส่วน DryDye ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง ซึ่งนิยมใช้กับผ้าจำพวกโพลีเอสเตอร์ ไมโครไฟเบอร์ และไนลอน แต่ยังมีข้อจำกัดในส่วนของผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ
“เพราะโรงงานผ้า เป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ (Fashion Textile Industry) ซึ่งทรัพยากรที่นำมาใช้ยังมีปริมาณก๊าซเรือนกระจก และปริมาณน้ำที่เกิดจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ดังนั้น ที่ต้องคำนึงคือทำอย่างไรให้ดีที่สุดก่อนจะกระชั้นชิดเกินไป เพราะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต้องร่วมมือกัน” พิชญ์สินี กล่าวทิ้งท้าย