‘เทคซอส’ ปักหมุด สตาร์ทอัพไทยเต็งหนึ่งอาเซียน
กว่า 10 ปีที่เทคซอส (Techsauce) ได้ผลิตคอนเทนท์เพื่อวงการเทคโนโลยีในโลกธุรกิจ ครอบคลุมทั้งในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานให้กับ “เทคอีโคซิสเต็ม” ของไทย มาวันนี้ได้ยกระดับสู่ Tech Knowledge Sharing Platform
อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเทคสตาร์ทอัพในไทยมีการระดมทุนรวมสูงถึง 845.268 ล้านดอลลาร์ (ปี 2555-2564) แม้จะไม่มากเมื่อเทียบกับสิงคโปร์และอินโดนีเซีย แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้มีโอกาสเติบโต ส่วนยอดระดมทุนปีที่ผ่านมาประมาณ 364.37 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ จำนวนดีลอาจไม่มาก แต่มีหลายดีลที่น่าสนใจและสะท้อนให้เห็นว่า ส่วนใหญ่ที่มีการระดมทุนจะเป็นระดับ Growth Stage ส่วนกลุ่ม Early Stage หรือระยะเริ่มต้นธุรกิจอาจจะยังมีไม่มาก เนื่องด้วยสถานการณ์วิกฤติที่เข้ามาและส่งผลกระทบ
ภาคธุรกิจที่มีการระดมทุนสูงสุดในแง่ของจำนวนบริษัทเมื่อปีที่ผ่านมาคือ ภาคธุรกิจทางด้านฟินเทค เช่น เพย์เมนท์เกตเวย์ ที่ได้รับอานิสงส์จากอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม กลุ่ม wealth management หุ้น หรือการลงทุนรูปแบบใหม่อย่างคริปโตเคอเรนซี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโลจิสติกส์ และแพลตฟอร์มที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ ขณะเดียวกันโควิดยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้ภาคธุรกิจอย่างเฮลท์แคร์ และเทคโนโลยีด้านการศึกษาทำการระดมทุนอีกหลายราย ส่วนสตาร์ทอัพทางด้านอาหารและการเกษตร ปัจจุบันเริ่มมี accelerator ภาครัฐ และหลากหลายองค์กรเข้ามาสนับสนุนเช่นกัน
ต้องคิดให้ไกลกว่าแค่ในประเทศ
อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพไทยประสบความสำเร็จ คีย์สำคัญจะเป็นเรื่องของโมเดลธุรกิจและมายด์เซ็ตตั้งแต่เริ่มต้น ที่จะคิดเฉพาะในประเทศไทยไม่ได้อีกต่อไป เพราะทุกวันนี้เกิดโลกาภิวัตน์ การทำตลาดในไทยใหญ่ไม่พออีกต่อไป ฉะนั้น สตาร์ทอัพหลายรายที่มีโอกาสระดมทุนในระดับภูมิภาคส่วนใหญ่ จะเป็นบริษัทที่มีความพร้อมและคิดโมเดลธุรกิจได้ตั้งแต่วันแรกที่จะขยายไปในระดับภูมิภาค แต่เริ่มแรกอาจจะต้องพิชิตตลาดไทยให้ได้ และต้องเป็นผู้เล่นเบอร์ต้นๆ ด้วย
ขณะเดียวกัน การที่ประเทศไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางเทคสตาร์ทอัพได้นั้น จะเห็นได้ว่าทางฝั่งภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญในการสนับสนุนโดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐาน อย่างสมาร์ทซิตี้ หรือแม้กระทั่งกลุ่มที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงด้านอาหารและการเกษตร จึงต้องโฟกัสว่าอะไรคือจุดแข็งของประเทศ และมุ่งโฟกัสไปตรงนั้น จะทำให้เกิดการปรับแก้เรื่องของกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยมี Incentive ที่ดีขึ้น
ในขณะเดียวกันจะมีนักลงทุนที่พยายามจะสนับสนุน อาทิ 500tuktuks ช่วยเหลือสตาร์ทอัพกลุ่ม early stage จากปัจจัยขับเคลื่อนต่างๆ นี้คาดว่าจะมีสตาร์ทอัพของไทยที่ก้าวสู่ระดับยูนิคอร์นได้ภายในปลายปีนี้
อรนุช กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มสถานการณ์การลงทุนสตาร์ทอัพไทยในปีนี้และเซกเตอร์ที่นักลงทุนยังสนใจ ซึ่งตอนนี้ดีลที่มีการเปิดเผยข้อมูลอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 24.2 ล้านดอลลาร์ มีรายที่สตาร์ทอัพเปิดเผยว่าได้ระดมทุนแล้วทั้งหมด 13 บริษัท แต่ความน่าสนใจคือไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่โดดขึ้นมา อาทิ การศึกษา การเกษตร ประกันภัย 2 บริษัท สายพลังงาน สายอีวี ดีพเทค อย่างด้านเอไอ และคริปโตฯ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีทาเล้นจ์อยู่หลายราย
"เราไม่สามารถประสบความสำเร็จหากเทคอีโคซิสเต็มของไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ คีย์สำคัญคือมองว่าทุกๆ ดีล เป็นผู้วางรากฐานที่ช่วยให้พวกเขามีโอกาสเจอนักลงทุน เพราะฉะนั้น ยอดระดมทุนเป็นเป้าหมายสำคัญ หากมากขึ้นเท่าไรก็จะสามารถสะท้อนกลับมาที่ความสำเร็จของการสร้างอีโคซิสเต็มนี้ด้วย”
สาย ‘อีคอมเมิร์ซ’ ยังคงมาแรง
อรนุช กล่าวต่อไปว่า เทคซอสมีแผนการขยายกิจการในต่างประเทศเช่นกัน แต่เมื่อมีโควิดจึงชะลอโปรเจคและต้องดูสถานการณ์ในช่วง 1-2 ปีนี้ แต่หลังจากที่มีการฉีดวัคซีน หากสร้างภูมิคุ้มกันและมีการเดินทางได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่ามีแพลนจะขยายไปที่สิงคโปร์เพื่อหาผู้เล่นรายใหม่เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศไทย
ส่วนภาคธุรกิจที่กำลังได้รับการจับตามอง คือ 1.สตาร์ทอัพด้านอาหารและการเกษตร ที่ต้องทำ collaboration กับมหาวิทยาลัย และคอร์ปอเรท เพราะต้องใช้การวิจัยและพัฒนาเข้ามาช่วย 2.สตาร์ทอัพสายการศึกษาที่เติบโตขึ้นจากการอัพสกิล รีสกิล 3.สตาร์ทอัพสายเฮลท์แคร์ ที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัย และเศรษฐกิจสูงวัยที่เป็นเชิงลึกมากขึ้น อาทิ การวิเคราะห์ดีเอ็นเอ การทำอวัยวะเทียม
และเมื่อถามถึงจุดแข็งสตาร์ทอัพไทย อรนุช ชี้ว่า สตาร์ทอัพในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่ระดมทุนได้จะเป็น B2B หรือ B2B2C มีรายได้มาจากฝั่งธุรกิจ และทำพาร์ทเนอร์ชิพกับคอร์ปอเรท ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจาก 1.ผู้ก่อตั้งอาจจะเคยทำงานในคอร์ปอเรทมาก่อนมีความรู้ความเข้าใจที่ดีและการนำเอาข้อมูลมาทำการวิเคราะห์และพัฒนาออกมาจะเห็นมากในสายฟินเทค 2.ครอบครัวมีธุรกิจส่วนตัว ซึ่งจะมีความเข้าใจในเรื่องนั้นอย่างดีและมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าในการตลาดของตนเอง ดังนั้นจะสามารถพัฒนาต่อยอดนำเทคโนโลยีมาเสริมเพื่อสปินออฟให้เกิดนิวเอสเคิร์บได้ ทั้งหมดนี้จึงถือเป็นจุดแข็งของสตาร์ทอัพในประเทศไทย