‘บล็อคฟินท์’ ประกบบล็อกเชน ปฏิวัติระบบธนาคาร
ระบบการบริหารจัดการของสถาบันทางการเงินในปัจจุบันของไทย ยังคงมีความซับซ้อนและมีต้นทุนในการดูแลที่สูงมาก ไม่สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของวงการการเงินการธนาคารในยุคดิจิทัล ทำให้ไม่สามารถรองรับความต้องการใหม่ ๆ ของลูกค้าได้เต็มที่
ประกอบกับปัญหาของลูกค้าที่ต้องการที่ปรึกษาทางการเงินที่ไม่มีอคติในการบริหารเงินของตัวเอง และสามารถบริหารเงินแบบจบได้ในที่เดียว จึงเป็นเหตุผลให้ “บล็อคฟินท์” ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านฟินเทคพัฒนา “ธิงค์เกอร์ (Thinker)” แพลตฟอร์มบนเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อเป็นทางออกให้กับปัญหาข้างต้นของสถาบันการเงิน ตอบโจทย์ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น
เสิร์ฟโซลูชันออล-อิน-วัน
สุทธิพงศ์ กนกากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บล็อคฟินท์ จำกัด กล่าวว่า ธิงค์เกอร์ซีรี่ย์จะโฟกัสไปที่สถาบันการเงินและธนาคาร โดยนำเสนอระบบปฏิบัติการที่หลากหลายตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย 1.Thinker Bank แพลตฟอร์มที่ช่วยในการบริหารจัดการผลตอบแทนทางด้านการเงินให้กับลูกค้า ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยการรวมทุกบัญชี ทุกธุรกรรมทางการเงินเข้าด้วยกันให้จัดการได้ง่ายในที่เดียว
2.Thinker Bond แพลตฟอร์มตลาดทุนแห่งแรกในประเทศไทย ที่สามารถให้ลูกค้ารายย่อยสามารถเข้าถึงพันธบัตรได้ง่ายขึ้นในทุกที่ทุกเวลา พลิกโฉมระบบการซื้อขายพันธบัตรที่เคยยุ่งยากในอดีตให้ง่ายขึ้น ผ่านการซื้อขายผ่านระบบดิจิทัลทั้งหมด ในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที 3.Thinker Insurance แพลตฟอร์มที่ช่วยทำให้การประเมินการซื้อขายประกันในทุกรูปแบบให้ง่าย และรวดเร็วมากขึ้น
4.Thinker LOS หรือ Loan Origination System ระบบที่จะเข้ามาช่วยในการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าได้ง่าย รวดเร็วขึ้น รวมถึงการออกแบบสินเชื่อแบบใหม่สำหรับสถาบันการเงิน โดยผสานการทำงานของคนเข้ากับเทคโนโลยี และเทคนิคการใช้ดาต้า เพื่อจัดกระบวนการใหม่ โดยไม่ต้องเขียนโค้ดเพิ่ม
5.Thinker Wise ระบบที่ดึงความชำนาญของคนในการทำและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ออกมาจำลองไว้ในระบบ ซึ่งทำให้การตัดสินใจทางธุรกิจต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างอัตโนมัติ แม่นยำ โปร่งใส และตอบสนองธุรกิจในโลกดิจิทัลเสมือนหนึ่งมีผู้ชำนาญการมาทำด้วยตัวเอง จึงไม่จำกัดแค่ระบบการให้สินเชื่อ การทำประกัน เท่านั้น สามารถนำไปใช้ในการทำธุรกิจอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น การตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งของร้านค้าปลีกต่าง ๆ จึงถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดดิจิทัลบิซิเนสทรานส์ฟอร์เมชั่น
ส่วนบิซิเนสโมเดลมีช่องทางสร้างรายได้ 2 ทางคือ 1.ค่าตอบแทนการให้ใช้สิทธิ (Licensing Fee) เริ่มต้น 40-500 ล้านบาท ตามด้วย m pay 15-25% และ 2. ค่าบริการในการทำธุรกรรม (Transaction Fee)
“ปัจจุบันตลาดการเงินในประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่า 19 ล้านล้านบาท ตลาดพันธบัตรมีมูลค่า 14.2 ล้านล้านบาท ในขณะที่ตลาดประกันมีมูลค่า 8 แสนล้านบาท ประกอบกับปีที่ผ่านมาตลาดการเงินทั่วโลกกำลังเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีการเงินดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่มีเพียง 1% ของตลาดการเงินทั่วโลกที่ใช้ฟินเทคและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ จึงเห็นโอกาสมากมายที่โซลูชันของบล็อคฟินท์จะสามารถตอบโจทย์สถาบันการเงิน และอีโคซิสเต็มอื่น ๆ ได้ ในการเสนอเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกคนสามารถทำงานได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น โดยคาดหวังว่าจะมีการเติบโต 400% ใน 3 ปีข้างหน้า พร้อมกับมองตนเองเป็น Beacon of light หรือความหวังแห่งอนาคตของทุกคน”
บล็อกเชนสร้างโปรดักท์
ทั้งนี้ เซกเมนต์ลูกค้าจะเป็นผู้ให้บริการทางการเงินเป็นกลุ่มธนาคาร การประกัน หรือ Non-bank พร้อมทั้งมองว่าหากพัฒนาโปรดักท์ครบทุกโมดูลประมาณปลายปี 2565 จะขยายสู่ตลาดต่างประเทศ อาทิ สิงคโปร์ อเมริกา ผ่านการนำซอฟต์แวร์ไปจำหน่ายให้กับทางสถาบันการเงิน ทั้งนี้การตื่นตัวของสถาบันทางการเงินยังมีความกลัวๆ กล้าๆ จึงอาจจะต้องมีการนำเสนอโซลูชั่นเพื่อสร้างการรับรู้ เนื่องจากการที่ธนาคารลงทุนโดยเฉพาะทางด้านไอทีในระยะเวลา 5 ปีจะมีการใช้เงินลงทุนประมาณ 27 พันล้านบาท ดังนั้นซอฟต์แวร์ที่บล็อคฟินท์พัฒนาขึ้นสามารถปรับได้ตามไซต์ก็จะสามารถลดต้นทุนตรงส่วนนี้ได้
“มองการเติบโตและแผนธุรกิจไว้ว่าบล็อคฟินท์มี traction แรกในปีนี้กับธนาคารเกียรตินาคิน ซึ่งต้องการใช้ระบบการออกสินเชื่อแบบดิจิทัล จึงได้มีการทำงานร่วมกันด้วยระบบ Thinker LOS ทั้งนี้บล็อคฟินท์ได้มีการขยายตัวเยอะในช่วงโควิดที่ผ่านมา”
นอกจาก Thinker Series แล้ว บล็อคฟินท์ยังได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาพัฒนาเพื่อโซลูชันอื่น ๆ อีกไม่ว่าจะเป็นการใช้ฟินเทคร่วมกับความรู้ด้านพลังงานพัฒนาแพลตฟอร์มด้านการแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานที่ชื่อว่า Gideon ซึ่งขณะนี้ได้ทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐและเอกชนไปแล้วหลายแห่ง ตลอดจนยังมีการพัฒนาโซลูชันอื่น ๆ ที่จะสามารถช่วยตอบโจทย์การเป็น Smart City ในอนาคต
ตั้งเป้าระดมทุนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 80 ลบ.
ทั้งนี้ บริษัทเริ่มต้นจดทะเบียนด้วยมูลค่า 20 ล้านบาท ส่วนเมื่อต้นปี 2563 ได้ระดมทุนครั้งแรก 36 ล้านบาทที่ทำให้มูลค่าของบริษัทอยู่ที่ 400 ล้านบาท และในเดือนนี้บล็อคฟินท์ก็จะระดมทุนอีกครั้งกับ VC หรือธุรกิจร่วมลงทุน เพื่อที่จะพัฒนาขีดความสามารถไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท คาดว่าจะมีการทำ Due Diligence (การสอบทานธุรกิจ) จบภายในต้นไตรมาส 4 ของปีนี้
“ด้วยจุดแข็งนอกจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย อีกทั้งประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีกว่า 20 ปี และทีมงานรุ่นใหม่ ที่เข้าใจเทคโนโลยีและความต้องการของลูกค้าเป็นอย่างดี จึงมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาพัฒนาโซลูชันต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้าเพื่อรองรับยุคดิจิทัลแห่งอนาคต โดยตั้งเป้าที่เป็นบริษัทฟินเทคสัญชาติไทยที่พัฒนาเทคโนโลยีด้วยคนไทย พร้อมกับนำเทคโนโลยีไปขายทั่วโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า และก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของประเทศไทย” สุทธิพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย