สวทช. เสริมแกร่งเยาวชน สร้างการเรียนรู้ พร้อมรับมือโควิด-19
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมออนไลน์คุยกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ใน "Fun Science Buffet ตอน เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโควิด และการป้องกัน” ให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดทั่วโลก พร้อมแบ่งปันประสบการณ์
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ สวทช. กล่าวว่า Fun Science Buffet เป็นโครงการที่รวม 4 โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ 1.DESY Summer Student Program 2.โครงการไปประชุมกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่ประเทศเยอรมัน 3.โครงการ Global Young Scientists Summit (GYSS) 4.โครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย ซึ่งทั้ง 4 โครงการจะดูแล บ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ระดับประถมจนถึงนักวิทยาศาสตร์วิชาชีพรุ่นใหม่ที่อายุไม่เกิน 35 ปี โดยครั้งนี้จัดในหัวข้อ “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโควิด-19 และการป้องกัน” ซึ่งมีนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความรู้มาร่วมแบ่งปันความรู้ เพื่อให้เยาวชนไทยรู้และเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ ยังเป็นการติดอาวุธให้เยาวชนสามารถดูแลตัวเองและรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาได้อีกด้วย โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร 6 ท่านที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ในหัวข้อที่หลากหลาย อาทิ
ทำความรู้จักไวรัสวายร้าย
เริ่มต้นจากการทำความรู้จักกับรูปร่างหน้าตา รวมถึงองค์ประกอบของไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้เป็น 4 กลุ่ม คือ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า ช่องทางการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และอาการเมื่อร่างกายได้รับเชื้อ เช่น ไอ หายใจติดขัด มีไข้หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียนท้องร่วง รวมถึงการสูญเสียสัมผัสรับรสหรือดมกลิ่น นอกจากนี้ยังให้ความรู้เรื่องจุดกำเนิดของการระบาดแรกเริ่มจากประเทศจีนสู่ประเทศไทย การติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในสัตว์เลี้ยงทั้งต่างประเทศและในประเทศ โดย ดร.นายสัตวแพทย์สุทัศน์ แสงชูวงศ์ วิทยากรจากวิทยาลัยการแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
การทำงานของไวรัสโคโรนา
เจาะลึกถึงกระบวนการทำงานของไวรัสโคโรน่าที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 โดย ดร.ภคพฤฒ คุ้มวัน จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ที่สอนให้น้องๆรู้จักพันธุกรรมของไวรัสก่อนจึงจะพัฒนาชุดตรวจซึ่งมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็น 1.Rapid antigen (Ag) test ที่ใช้ตรวจโปรตีนของไวรัสในร่างกาย 2.Rapid IgM/IgG test เป็นชุดตรวจที่ใช้สำหรับตรวจแอนติบอดี้หรือภูมิคุ้มกันที่สร้างแล้วหลังติดเชื้อ 1-2 สัปดาห์ 3.PCR & NAAT คือการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส และให้ความรู้เรื่องเทคนิคแลมป์ที่พัฒนาจากเทคนิค RT PCR จนเกิดเป็นชุดตรวจ COXY-AMP ที่สามารถตรวจวัดได้รวดเร็ว แม่นยำและสามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่า
การป้องกันตนเองจากโควิด-19
เป็นการแชร์ประสบการณ์จากคุณหมอที่ดูแลคนไข้โควิด-19 ในช่วง peak of covid-19 ที่ระบาดในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย พญ.ธมลวรรณ สุรเกียรติชานุกูล จาก University of Virginia (UVA) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มาเล่าถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งการแบ่งปันประสบการณ์การดูแลตนเอง เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือด้วยสบู่และน้ำเปล่า รวมถึงการฉีกวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
รู้จักใช้อุปกรณ์ป้องกันปลอดภัยจากโควิด-19
หนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระบาดหนักคือการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตัวทางการแพทย์ ในหัวข้อนี้บรรยายโดย ดร.ขจรวุฒิ อุ่นใจ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจองเกล้าธนบุรี ที่ได้ช่วยให้น้องๆ รู้จักอุปกรณ์ป้องกันตัวทางการแพทย์ เช่น หน้ากาก N95 ที่มีหลายประเภท ซึ่งบางประเภทที่ไม่เหมาะกับทางการแพทย์ เพราะไม่สามารถทนต่อการซึมซับของเหลวได้ รวมถึงความแตกต่างของชุด PPE ทั้ง 3 แบบ ได้แก่ 1.Standard PPE 2.Full PPE 3.Enhanced PPE `ที่มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของการป้องกันเชื้อและวัสดุที่ช่วยในการสะท้อนน้ำ ที่ป้องกันละอองฝอยเบื้องต้นได้ นอกจากนี้ยังเล่าถึงประสบการณ์ในการสร้างห้องแรงดันลบเพื่อฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินที่อุปกรณ์ขาดแคลนอย่างหนักจนต้องนำอุปกรณ์เดิมมาใช้งาน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรครวมถึงการคงประสิทธิภาพในการป้องกันของตัวอุปกรณ์
เรื่องน่ารู้ของยารักษาโควิด-19
เมื่อเกิดโรคสิ่งที่ช่วยให้หายจากโรค คือ ยา ในหัวข้อนี้วิทยากร ดร.กังสะ อัมพรดนัย จาก University of Liverpool สหราชอาณาจักร ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของยา ความหมาย และกระบวนการผลิตยารักษาโรคตั้งแต่แรกเริ่ม จนถึงท้ายสุดที่ตัวยาออกสู่คนไข้ รวมถึงกระบวนการในการสังเคราะห์ยาที่ใช้ในการรักษาโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนา ซึ่งปัจจุบันเจาะกลุ่มยาที่ใช้เพื่อวิจัยและพัฒนาต่อได้ประมาณ 7 ชนิด ได้แก่ 1.Chloroquine ที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย 2.Remdesivir 3.Favipiravir 4.Molnupiravir 5.Lopinavir/Ratonavir ซึ่งกลุ่มยาที่ใช้กับไวรัส 6.Bamlanivimab/Etesevimab 7.Casirivimab/Imdevimab ซึ่งทั้งสองชนิดเป็นยาในกลุ่มแอนติบอดี้ โดยได้ให้ความรู้ถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละประเภท รวมถึงอธิบายทำงานของยาดังกล่าวในการยับยั้งเชื้อไวรัสอีกด้วย
รู้จักวัคซีนและกลไกการทำงานพิชิตโรค
วัคซีนถือเป็นอีก 1 สิ่งที่ช่วยรับมือกับการระบาดได้ ซึ่งในหัวข้อนี้ ดร.ทวีศักดิ์ เชี่ยวชาญศิลป์ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้ในเรื่องกระบวนการพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19รวมถึงกระบวนการในการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีน พร้อมยกตัวอย่างประเภทของวัคซีน เช่น Inactivated vaccines หรือวัคซีนเชื้อตาย ที่นำไวรัสมาทำให้เสียสภาพหรือเสียความสามารถในการติดเชื้อ ที่มีข้อดีความเสถียร ตัวอย่างวัคซีนประเภทนี้ได้แก่ Sinovac และ Sinopharm จากประเทศจีน หรือประเภท Subunit vaccines (peptide) เป็นวัคซีนที่จำลองเฉพาะส่วนของโปรตีนของไวรัส ซึ่งมีข้อดีคือ ทำง่ายและมีความเสถียร เช่น Novavax ที่ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา และสุดท้ายคือ Non-replicating viral vector vaccines หรือการใช้ไวรัสเวคเตอร์ที่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ด้วยตัวเอง ให้นำพาสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้นกัน ซึ่งมีข้อดีคือสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก เช่น Sputnik V จากประเทศรัสเซีย รวมถึง AstraZeneca และ Johnson & Johnson