วว.-ไทยฟู้ดส์ฯ พัฒนาเทคโนโลยีสกัดโปรตีนเข้มข้นจากพืชฐานชีวภาพสำเร็จ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดโปรตีนเข้มข้นจากพืชฐานชีวภาพของไทยระดับห้องปฏิบัติการ พร้อมต่อยอดขยายการวิจัยสู่การผลิตเป็นอาหารฟังก์ชั่น
ศ. (วิจัย)ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ วว. ประสบผลสำเร็จระดับห้องปฏิบัติการในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดโปรตีนเข้มข้น และ/หรือโปรตีนโซเลทจากพืช โดยใช้วิธีการทางเคมีให้ได้ผงโปรตีนเข้มข้นและ/หรือผงโปรตีนไอโซเลทเบื้องต้น เพื่อนำมาทดสอบคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพต่างๆ ประกอบด้วย ปริมาณผลผลิต องค์ประกอบทางเคมี การพองตัวและการละลาย สารก่อภูมิแพ้ และค่าสี เป็นต้น ซึ่งผลการทดลองอยู่ในระดับเป็นที่น่าพอใจ สำหรับการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไป วว. จะทำการเลือกสภาวะการสกัดโปรตีนในระดับห้องปฏิบัติการที่ดีที่สุด สำหรับนำไปใช้ในการผลิตระดับกึ่งอุตสาหกรรมเบื้องต้น เพื่อดูแนวโน้มปริมาณผลผลิตและการปรับกระบวนการผลิตให้เหมาะสม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการผลิตจริงสำหรับผู้ประกอบการต่อไป
ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงที่มาของผลสำเร็จดังกล่าวว่า วว. และบริษัท ไทยฟู้ดส์ฯ หรือ TFG ร่วมดำเนินงานภายใต้ “โครงการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชฐานชีวภาพของไทย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชฐานชีวภาพ สำหรับผลิตเป็นอาหารฟังก์ชั่นสู่เชิงพาณิชย์ (Plant Based Meat ) ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเป็นส่วนผสมของอาหาร (Functional food Ingredients) ที่ไม่มีสารก่อภูมิแพ้ เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์เทียม รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่น ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโครงการฯ จะผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ ทดสอบคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงผ่านการทดสอบความปลอดภัย และการทดสอบประสิทธิภาพ ตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่จะวางจำหน่ายในตลาดทั้งในและต่างประเทศ
“ความร่วมมือของ วว. ซึ่งเป็นภาครัฐ และบริษัท ไทยฟู้ดส์ฯ ที่เป็นภาคเอกชนนั้น จะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชน รวมทั้งสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งตามนโยบาย BCG Model ของรัฐบาล ที่มุ่งบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและตอบโจทย์ของประเทศ เพื่อสร้างคุณค่า (Value Creation) จากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรมของประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มแหล่งอาหารที่ดี มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการให้กับผู้บริโภค...” ชุติมา กล่าวตอนท้าย