ใช้จ่ายไอทีไทยพุ่ง 7 แสนล.ปี65 ‘ซอฟต์แวร์องค์กร-ดีไวซ์’โตสูงสุด 

ใช้จ่ายไอทีไทยพุ่ง 7 แสนล.ปี65 ‘ซอฟต์แวร์องค์กร-ดีไวซ์’โตสูงสุด 

การ์ทเนอร์ เผย ทั่วโลกใช้จ่ายไอทีแตะ 4 ล้านล้านดอลล์ ชี้ “เวิร์คฟรอมโฮม” ดันมูลค่าใช้จ่ายไอทีไทยพุ่ง แตะ 6.8 แสนล้านบาท ประเมินปี 65 ทะลุ 7.1 แสนล้านบาท “ดีไวซ์ บริการสื่อสาร" ใช้จ่ายสูงสุด

กลุ่มบริการทางด้านไอที ปี 2564 มูลค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 62,825 ล้านบาท โต 1% ปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 66,573 ล้านบาท โตเพิ่มขึ้น 6% ส่วนบริการด้านการสื่อสารมีมูลค่าการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงที่สุด โดยปี 2564 อยู่ที่ 364,913 ล้านบาท โต 1.6% คาดว่าปี 2565 จะเพิ่มเป็น 379,603 ล้านบาท โตเพิ่ม 4.0%

นายจอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ อิงค์ กล่าวว่า ไอทีไม่เพียงแต่ปรับโฉมรูปแบบการดำเนินงานขององค์กรไปสู่สิ่งใหม่ แต่ยังมีส่วนสำคัญในการส่งมอบและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ นอกเหนือจากการพลิกบทบาท จากการทำงานเบื้องหลังไปสู่ส่วนหน้าของธุรกิจแล้ว ไอทียังเปลี่ยนต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กลายเป็นแหล่งเงินทุนใหม่ อาทิ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ การติดตามตรวจสอบ และบางครั้งตัดต้นทุนบางอย่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อให้องค์กรมุ่งเน้นในสิ่งที่สร้างรายได้

การ์ทเนอร์ คาดว่า การใช้จ่ายด้านไอทีทุกเซกเมนต์ทั่วโลกจะโตต่อเนื่องไปถึงปี 2565 อุปกรณ์ดีไวซ์จะเติบโตสูงสุด 14% ขณะที่ซอฟต์แวร์ระดับองค์กรเติบโต 10.8% เนื่องจากองค์กรหันมาให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานระยะไกลเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ทีมงาน

ทั้งนี้ การใช้จ่ายไอทีทั่วโลกปี 2564 อยู่ที่ 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.4% จากปี 2563 โดยแหล่งที่มาของเงินทุนเพื่อเริ่มธุรกิจดิจิทัลใหม่นั้นเริ่มมาจากแผนกธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่แผนกไอที และคิดเป็นต้นทุนการผลิตหรือต้นทุนการขาย (COGS) ขณะที่คาดว่าปี 2565 ใช้จ่ายไอทีทั่วโลกทะลุ 4,296,391 ล้านดอลลาร์โต 5.5%

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ องค์กรให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกับทั้งประสบการณ์ และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เป็นแนวทางขับเคลื่อนการลงทุนด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น โซเชียลซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มทำงานร่วมกัน รวมถึงและซอฟต์แวร์การบริหารทุนมนุษย์ในองค์กร ขณะที่ สิ่งที่ซีไอโอให้ความสำคัญตลอดในช่วงเวลาที่เหลือของปี คือ เร่งดำเนินการตามแผนธุรกิจดิจิทัล เพื่อยกระดับการดำเนินงาน ขยายและเปลี่ยนแปลงคุณค่าในการดำเนินงานของบริษัท

“ปีที่แล้ว การลงทุนด้านไอทีเป็นไปตามสภาวะการณ์ที่จำเป็น เพื่อเร่งเปิดใช้ระบบการทำงานจากระยะไกลให้พนักงานภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ในขณะที่รูปแบบการทำงานไฮบริดนั้นเกิดขึ้น ซีไอโอจะมุ่งให้ความสำคัญไปกับการใช้จ่ายไอทีที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมไม่ใช่เพียงทำงานให้สำเร็จลุล่วง” นายเลิฟล็อค กล่าว

อย่างไรก็ตาม การ์ทเนอร์ ระบุด้วยว่า การฟื้นตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก และกลุ่มไอทีในประเทศต่างๆ ยังแตกต่างกัน ทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในรูปแบบ K-Shape จากมุมมองในระดับอุตสาหกรรม ภาคการเงินการธนาคาร หลักทรัพย์และการประกันภัยจะฟื้นตัวกลับมาในระดับเดียวกับช่วงก่อนการระบาดเมื่อต้นปี 2564 ขณะที่กลุ่มค้าปลีกและภาคการขนส่งจะยังไม่ฟื้นตัวจนกว่าจะถึงปี 2566