วว. ตรวจประเมินคุณภาพอากาศ 'ห้องผู้ป่วยควบคุมแรงดัน' ศิริราชพยาบาล
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ลงพื้นที่ประเมินตรวจเชื้อในห้องความดันลบของโรงพยาบาลศิริราช เพื่อรองรับและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการหนัก ระบุผลทดสอบห้องความดันลบมีความสะอาดของอากาศเป็นไปตามมาตรฐานสากลกำหนด
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า หนึ่งในการดำเนินงานที่ประสบผลสำเร็จของ วว. และพันธมิตร ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ก็คือ การเปิดให้บริการห้องความดันลบของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งผ่านการทดสอบและปรับปรุงระบบโดย วว. ในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการหนัก นับเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปสนับสนุนส่งเสริมด้านการแพทย์ของประเทศ
ทั้งนี้เพื่อให้ห้องความดันลบดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 ทำการประเมินตรวจเชื้อในห้องความดันลบของโรงพยาบาลศิริราช เพื่อรองรับและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการหนัก ดังนี้ ตรวจคุณภาพอากาศทางจุลชีววิทยา ในห้องผู้ป่วย ICCU และ CCU ควบคุมแรงดันลบ และควบคุมแรงดันบวก นอกจากนี้ได้ทำการเก็บตัวอย่างอากาศใน ตำแหน่งต่างๆ ตามที่กำหนดในแต่ละห้อง ด้วยเครื่องเก็บอากาศ MAS - 100TM เป็นการทดสอบและวิเคราะห์ หาปริมาณเชื้อแบคทีเรีย รา และยีสต์ จากตัวอย่างอากาศ โดย วว. ได้นำเชื้อมาบ่มต่อในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูผลว่าห้องมีความสะอาดของอากาศเป็นไปตามมาตรฐานที่สากลกำหนด
ห้องความดันลบ (Negative pressure) หรือห้องแยกผู้ป่วยแพร่เชื้อทางอากาศ เป็นห้องพักสำหรับผู้ป่วยแบบแยกเดี่ยว ที่มีการควบคุมคุณภาพอากาศเพื่อป้องกันการติดเชื้อทางอากาศภายในสถานพยาบาล หรือพื้นที่ที่ต้องการการควบคุม โดยมีแนวทางการควบคุม เช่น การควบคุมความดันระหว่างพื้นที่ให้ความดันอากาศภายในห้องผู้ป่วยต่ำกว่าภายนอก ส่งผลให้อากาศภายในห้องผู้ป่วยไม่ไหลออกไปภายนอก ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่บริเวณอื่นๆ
รวมถึงการวัดอัตราการไหลเวียนของอากาศเพื่อให้มั่นใจว่ามีการถ่ายเทของอากาศที่เหมาะสม ไม่มีการสะสมของเชื้อโรค นอกจากนี้การวัดอุณหภูมิ ความชื้นภายในห้องผู้ป่วยเพื่อหาสภาวะที่เหมาะสม ไม่กระทบกับสุขภาพของผู้ป่วย และสามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ รวมทั้งอากาศที่ไหลออกจากห้องจะต้องผ่านการกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงเจือจางและฆ่าเชื้อในอากาศก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก
ทั้งนี้ วว. ได้รับมอบหมายจากกระทรวง อว. ให้เข้าร่วมทดสอบห้องความดันลบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปรับปรุงห้องผู้ป่วยของโรงพยาบาลศิริราช ให้เป็นห้องสำหรับแยกผู้ป่วยแพร่เชื้อทางอากาศ เมื่อปี 2563 จวบปัจจุบัน
กรอบการดำเนินงานทดสอบห้องความดันลบโดย วว. มีดังนี้ ศูนย์เชี่ยวชาญความหลากหลายชีวภาพ ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพอากาศเพื่อหาปริมาณเชื้อจุลินทรีย์จากตัวอย่างอากาศ ตามวิธีทดสอบมาตรฐาน ISO 14698 ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา วว. ดำเนินการทดสอบ ดังนี้ 1. การวัดอัตราการไหลของอากาศที่ไหลผ่านพื้นที่ช่องระบายอากาศโดยใช้เครื่องมือวัดความเร็วลม (Air Velocity Meter) เพื่อหาอัตราการไหลเวียนของอากาศภายในห้องที่ทราบปริมาตร 2. การวัดค่าความดันอากาศภายในห้องเทียบกับความดันภายนอก (Differential Pressure) 3.การวัดอุณหภูมิ (Temperature) และ 4. ความชื้นสัมพัทธ์ (Relative humidity) ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ ดำเนินการตรวจวัดการรั่วไหล (leak test) ของอนุภาคออกจากห้องความดันลบ เพื่อประเมินประสิทธิภาพการกรองอนุภาคของระบบ HEPA filter ของห้องความดันลบแต่ละห้อง