ชวนรู้จัก 'อารีเทค' หมุดหมายใหม่ ดีพเทคสายแข็งสร้างอนาคต
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หนึ่งในหน่วยงานที่ขับเคลื่อนและสนับสนุนวงการสตาร์ทอัพไทย เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลก และหนึ่งในนั้นคือ "ARItech" ประกอบด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง 3 ด้าน
“ARItech” หรือ อารีเทค เทคโนโลยีขั้นสูงอีกหนึ่งกลุ่มที่จะเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าให้แก่สตาร์ทอัพในบ้านเรา โดยเทคโนโลยีในกลุ่มนี้วนเวียนอยู่รอบตัวเรามากมายตั้งแต่ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร ไปจนถึงแว่นตา AR มีการคาดการณ์กันอีกว่าในอนาคตเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในกลุ่ม ARItech จะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีมูลค่ามหาศาลและน่าจับตาในอนาคต
อะไรคือ ARITech
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า ARItech ประกอบด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง 3 ด้าน ได้แก่ A - Artificial Intelligence (เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์) R-Robotics (เทคโนโลยีหุ่นยนต์) และ I- Immersive (เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง) โดยทั้ง 3 เทคโนโลยีเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงและรับส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet of Things, IoT) ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้กับประเทศ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะในการช่วยวิเคราะห์หรือจัดเก็บข้อมูลและพฤติกรรมของผู้บริโภค
ขณะที่ Robotics เองก็เข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้ช่วยมนุษย์ทั้งด้านการขนส่ง ไลน์การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม และที่เด่นชัดและเริ่มเห็นกันจนชินตาก็คือการเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของหลายครัวเรือนกับบทบาทในการช่วยดูแลผู้สูงอายุ การจัดการงานในบ้าน รวมถึงงานที่แรงงานมนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ เป็นต้น ส่วนทางด้าน Immersive หรือเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงกำลังเป็นที่จับตาในอุตสาหกรรมบันเทิงและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงกิจกรรมหรือบรรยากาศสถานที่ต่าง ๆ ได้ราวกับเข้าไปเยือนสถานที่หรือเหตุการณ์จริง โดยเฉพาะการสร้างปรากฏการณ์ “เที่ยวทิพย์” ในโลกออนไลน์ ตลอดจนยังเป็นนวัตกรรมที่สำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคให้ได้สัมผัสกับโลกจำลอง ก่อนเลือกใช้บริการหรือจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้า เช่น ที่อยู่อาศัย การจัดอีเว้นท์ ฯลฯ
ARITech กับภาคอุตสาหกรรมของไทย
Artificial Intelligence หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มีบทบาทในแทบทุกอุตสาหกรรม แต่ที่โดดเด่นเป็นอย่างมากในช่วงเวลานี้หนีไม่พ้น “อีคอมเมิร์ซ” ซึ่งจะเป็นทั้งตัววิเคราะห์และติดตามพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มสามารถนำเสนอสินค้าและบริการให้เข้าถึงผู้ซื้อได้แบบเรียลไทม์ สำหรับในอุตสาหกรรมการแพทย์ก็มีการใช้งานในหลากหลายรูปแบบ เช่นการวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยในรูปแบบของการแพทย์ทางไกล (Telehealth) หรือแม้แต่ในภาคการผลิต AI มีบทบาทสำคัญกับเกี่ยวกับระบบเซ็นเซอร์ เช่น การคาดการณ์เหตุการณ์ที่ต้องพึงระวังที่อาจนำมาซึ่งความเสียหาย รวมถึงในภาคการเกษตร ที่ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ผ่านระบบประมวลผลจากการรวบรวมข้อมูลสภาพดิน ฟ้า อากาศ ที่มีผลต่อการเกษตรในแต่ละประเภท
Robotics ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด – 19 ช่วงปีที่ผ่านมา นวัตกรรมดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะกับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์ตรวจจับผู้ที่มีความผิดปกติทางร่างกายที่อาจนำไปสู่การเป็นพาหะของเชื้อ หุ่นยนต์ที่ช่วยในการผ่าตัดสำหรับทีมแพทย์และพยาบาล หรือแม้กระทั่งการนำมาใช้บริการในร้านอาหาร สำหรับในภาคการผลิตขนาดใหญ่ มีความสำคัญในด้านการทุ่นแรง การทำงานแทนในพื้นที่เสี่ยงหรืออันตราย อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบความคิด การประมวลผล ในบางธุรกิจ เช่น สื่อมวลชน ธุรกิจสุขภาพ อีกด้วย
Immersive เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง สำหรับในเมืองไทยนั้น เทคโนโลยีดังกล่าวมีบทบาทอย่างมากในอุตสาหกรรมบันเทิงและการสื่อสาร ซึ่งช่วยให้ผู้รับชมได้รับประสบการณ์กับ “สื่อ” ที่ดียิ่งขึ้น เช่น การรายงานสภาพอากาศ การรายงานข่าวในลักษณะลำดับเหตุการณ์ หรือแม้กระทั่งการจัดงานอีเว้นท์ งานแฟร์ ที่ทำให้คนไทยได้เข้าถึงกิจกรรมของแต่ละหน่วยงานได้ดังเดิมผ่านทางเครื่องมือสื่อสาร
เป้าหมายดันสตาร์ทอัพ ARITech สัญชาติไทย
แม้ประเทศไทยจะยังไม่เห็นสัดส่วนของดีพเทคสตาร์ทอัพ ARITech ในจำนวนที่สูง และเพียงพอต่อความต้องการในภาคอุตสาหกรรม แต่ประเทศไทยก็มีความได้เปรียบในเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่เป็นเสมือนแซนด์บ็อกซ์ : SandBox หรือพื้นที่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรม เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวก สิทธิพิเศษ และความพร้อมให้การลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และจากการมีข้อได้เปรียบของ Sandbox ในพื้นที่อีอีซี NIA จึงได้ริเริ่มกิจกรรม “NIA Deep Tech Incubation Program @EEC” โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในสาขาอารีเทคให้มีโอกาสเติบโตในพื้นที่ศักยภาพของประเทศ และเพื่อให้สตาร์ทอัพได้มีโอกาสทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่
ตลอดจน ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปใช้กระบวนการทำงานมากขึ้น รวมถึงเป็นการยกระดับพื้นที่เพื่อดึงดูดบริษัทสตาร์ทอัพในระดับโลกเข้ามาลงทุนหรือจัดตั้งบริษัทดีพเทคต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ โอกาสการเติบโตของดีพเทคสตาร์ทอัพสาย ARItech ในพื้นที่อีอีซีนั้นมีค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งมีศักยภาพในการเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเข้าถึงงานวิจัยของทางสถาบันทางการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ โดยในปี 2564-2566 NIA ตั้งเป้าว่าจะต้องมีบริษัทที่สามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านอารีเทคประมาณ 10 ราย พร้อมทั้งคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพในระดับ Pre-series A อย่างน้อยประมาณรายละ 30 ล้านบาท
อนาคตสดใสอีก 5 ปีมูลค่าแตะ 3.2 แสนล้านดอลลาร์
"ในอนาคต ARItech มีโอกาสที่จะเติบโตค่อนข้างมากและมีมูลค่ามากถึง 3.2 แสนดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะเทคโนโลยีในกลุ่ม AI ซึ่งมีแนวโน้มจะเติบโตมากที่สุดเพราะ AI เป็นเทคโนโลยีที่นิยมใช้กันมากในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตไมโครชิพ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ด้าน Robotic จะเติบโตประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ส่วน Immersive ถือว่าเป็นโอกาสใหม่ของดีพเทคสตาร์ทอัพที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของประเทศไทยตามที่ NIA ได้มีเป้าหมายแจ้งเกิดบริษัทด้าน ARItech 10 ราย ตั้งเป้าว่าในจำนวนนี้จะต้องส่วนแบ่งมูลค่าการตลาดอย่างน้อย 1%หรือราว ๆ 3.2 พันล้านเหรีญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากสามารถดำเนินการสำเร็จจะส่งผลให้ศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น" พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย