‘Nokia 105 4G’ และ ‘Nokia 110 4G’ ฟีเจอร์ครบเครื่องในราคาเบาๆ

‘Nokia 105 4G’ และ ‘Nokia 110 4G’ ฟีเจอร์ครบเครื่องในราคาเบาๆ

มาดูกันว่าฟีเจอร์โฟน 2 รุ่นใหม่จากค่ายโนเกียมีอะไรน่าสนใจ ฟีเจอร์ ฟังก์ชั่นเป็นแบบไหน คุ้มค่าที่ต้องควักเงินในกระเป๋าออกมาหรือไม่

หลัง เอชเอ็มดี โกลบอล” บริษัทสัญชาติฟินแลนด์ได้สิทธิใช้แบรนด์ โนเกีย อดีตยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมมือถือในการทำตลาด ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจให้ติดตามอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดออกมาปลุกกระแสฟีเจอร์โฟนด้วยการส่ง “Nokia 105 4G” และ “Nokia 110 4G” ฟีเจอร์โฟนใหม่ รองรับ 4G ราคาเริ่มต้นต่ำกว่า 1 พันบาท ลงตลาดอย่างเป็นทางการ

“Nokia 105 4G” เปิดราคาที่  990 บาท เป็นฟีเจอร์โฟนที่มาพร้อมกับคุณภาพเสียงในระดับ VoLTE HD บนการเชื่อมต่อ 4G  เสียงคมชัดราวกับอยู่ในที่เดียวกัน ไม่ต้องตะโกนเพื่อให้ปลายทางได้ยินเหมือนรุ่นก่อนๆ ใช้งานง่ายกับฟังก์ชั่นซูมเมนู ช่วยให้ไอคอนและตัวอักษรมีขนาดใหญ่ขึ้นใช้งานหน้าจอได้ง่ายขึ้น 

พร้อมฟังก์ชั่น Readout ช่วยอ่านข้อความให้ออกมาเป็นเสียง แบตเตอรี่ 1,020mAh รูปลักษณ์ดีไซน์ลงตัวระหว่างความคลาสสิกและความทันสมัย ขนาดเล็กสามารถพกใส่กระเป๋าได้ง่าย  มีให้เลือก 3 สี ฟ้า แดง และดำ

162416632435

“Nokia 110 4G” ราคา 1,090 บาท นอกจากคุณภาพเสียงในระดับ VoLTE HD บนการเชื่อมต่อ 4G แล้ว มีกล้องหลัง QVGA (0.08MP) สำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการฟังก์ชั่นถ่ายภาพ พร้อม MP3 player และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลตามมาตรฐาน 128 + 48MB พร้อมรองรับการ์ด MicroSD สามารถเพิ่มหน่วยความจำได้สูงถึง 32GB  มีให้เลือก 3 สี คือ เหลือง ฟ้า และดำ 

162416632425

ทั้ง Nokia 105 4G และ Nokia 110 4G ยังมีฟังก์ชั่นที่โดดเด่น คือ สามารถฟังวิทยุ FM ได้สะดวกขึ้นแบบไม่ต้องใส่หูฟัง เพียงกดปุ่มสปีกเกอร์โฟนก็สามารถฟังวิทยุ FM ได้ทันที มีฟังก์ชั่นใช้งานเป็นไฟฉาย แอพ เกม แอพคำศัพท์ภาษาอังกฤษกับ Oxford ฯลฯ ทั้งสองรุ่นมีจำหน่ายที่ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายโนเกียทั่วประเทศ รวมทั้งช่องทางออนไลน์

+++ปลุกกระแสฟีเจอร์โฟน

ปัจจุบันทิศทางธุรกิจแบรนด์ของโนเกียให้ความสำคัญทั้งผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนและฟีเจอร์โฟน ที่น่าจับตามองอย่างมากคือการส่ง ฟีเจอร์โฟน รุ่นใหม่ลงตลาด พร้อมเปิดราคายั่วใจซึ่งนับเป็นการสวนกระแสตลาดแมสที่เต็มไปด้วยสมาร์ทโฟนหลากหลายสัญชาติ หลากหลายราคา

โนเกียบอกว่า สัดส่วนการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟนเทียบกับฟีเจอร์โฟนของโนเกียตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 90 ต่อ 10% ดังนั้นชัดเจนว่าความต้องการฟีเจอร์โฟนยังคงมีอยู่

โดยพฤติกรรมหลักๆ ของผู้ใช้ยังคงเป็นการโทรออก รับสาย อ่านข้อความเอสเอ็มเอส หรือใช้เพื่อความเพลิดเพลินตามไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง เช่น ฟังวิทยุหรือฟังเพลง เล่นเกมบนโทรศัพท์มือถือ หรือถ่ายรูป

นอกจากนี้ ด้วยประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ มีประชากรอายุ 60 ปี มากกว่า 20% ของจำนวนประชากร ผู้บริโภคกลุ่มนี้มองหาโทรศัพท์มือถือที่สามารถใช้งานได้ง่าย ตัวอักษรมองเห็นชัดเจน สามารถฟังวิทยุ แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานได้นาน ทั้งยังมีกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่มองหาโทรศัพท์มือถือที่ทนทาน แบตเตอรี่ใช้งานได้ยาวนาน ไว้สำหรับ โทรเข้า-โทรออก เพื่อการทำงานโดยเฉพาะ

หลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อว่าแผนของโนเกียและการปลุกฟีเจอร์โฟนให้เข้ามาอยู่ในกระแสอีกครั้งจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ออกมาในรูปแบบใด 

ต้องยอมรับว่ากลยุทธ์นี้มีความน่าสนใจ แต่อีกมุมหนึ่งอดคิดไม่ได้ว่าอาจไม่ได้ครอบคลุมไปทั้งหมด เหตุเพราะทุกวันนี้สมาร์ทโฟนราคาถูกมีให้เลือกเกลื่อนตลาด สังเกตจากคนใกล้ตัวผู้สูงอายุหลายๆ คนมีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี ใช้สมาร์ทโฟนได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถส่งข้อความและรูปภาพสวัสดีวันจันทร์และวันอื่นๆ ไปให้ลูกหลานได้ทุกวัน

+++ย้อนภารกิจฟื้นแบรนด์ดังในตำนาน’

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของภารกิจ ฟื้นแบรนด์ดังในตำนานเริ่มมาตั้งแต่ประมาณปี 2560 หรือราว 4 ปีก่อนที่ออกมาประกาศเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นแรกโอเอสแอนดรอยด์ในชื่อโนเกีย 6”  ราคา 246 ดอลลาร์ หรือราว 8,800 บาท เน้นผู้ใช้ในประเทศจีน 

แนวคิดของเอชเอ็มดีในขณะนั้นคือ การเลือกเปิดตัวในตลาดจีนเพราะเป็นตลาดที่น่าสนใจมีไดนามิกมากกว่าตลาด เช่น ยุโรป หรืออเมริกาเหนือ และจีนยังเป็นตลาดที่ยังเติบโตอยู่ การฟื้นแบรนด์ โนเกียจะสามารถเริ่มต้นจากจีนได้ง่ายกว่าที่อื่นๆ ที่อิ่มตัวแล้ว ทั้งยังลดต้นทุนด้านซัพพลายได้มากเพราะฐานผลิตตั้งอยู่ในจีนอยู่แล้ว

หลังจากนั้นพวกเขาก็มีความพยายามเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าเส้นทางของโนเกียไม่ค่อยราบรื่นนัก จากสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป การแข่งขันที่ดุเดือดรุนแรงในทุกระดับราคา 

กลุ่มพรีเมียมมีค่ายแอ๊ปเปิ้ลและซัมซุงยึดครองอยู่ ทั้งยังมีคู่แข่งหน้าใหม่สัญชาตจีนอย่างหัวเว่ย ออปโป้ วีโว่ เสียวหมี่ ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็สามารถผงาดขึ้นมาเป็นผู้เล่นแถวหน้าในตลาดได้

+++เปิดเดิมพันวัดใจแฟนโนเกีย 

ส่วนการเข้ามาในตลาดประเทศไทย เริ่มจากสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ 3 รุ่น ระดับราคาราคาต่ำกว่า 1 หมื่นบาทในปี 2560 เช่นกัน โดยเอชเอ็มดียกไทยเป็นตลาดเติบโตระดับท็อป 5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การทำตลาดมุ่งเจาะไปที่  แฟนโนเกีย โดยเชื่อว่ามีผู้ชื่นชอบอยู่ทั่วโลก และความเป็นเอกลักษณ์จะชนะใจและดึงดูดผู้บริโภคในไทยได้

หลังจากนั้นมีการปรับกลยุทธ์ขยายกลุ่มเป้าหมายไปที่ กลุ่มมิลเลนเนียล” กำลังซื้อสูง และค่อยๆ ขยับไปสู่สมาร์ทโฟนไฮเอนด์ ระดับราคาที่แพงขึ้น 19,000-20,000 บาท ยึดข้อได้เปรียบชื่อชั้นของแบรนด์ที่ยังเป็นที่จดจำของคนทั่วโลก เน้นสื่อสารไปที่กลุ่มเป้าหมายผ่านผู้มีอิทธิพลทางคิดด้านต่างๆ อาทิ ดารา ศิลปิน เน็ตไอดอล หรือ บล็อกเกอร์ 

หลายปีที่ผ่านมาโนเกียมีความพยายามอย่างมากที่จะทวงบัลลังก์ตลาดมือถือกลับมาคืนมา นอกจากเปิดตัวสินค้าใหม่ เดินหน้าขยายช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพิ่มความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งแง่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงคนไทยทั่วประเทศ 

ด้านกลยุทธ์การสื่อสารมีกิจกรรมครบ 360 องศาทั้งบนออนไลน์และออฟไลน์ ตอบโจทย์ฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มมิลเลนเนียล ผู้ชื่นชอบการสื่อสาร บริโภคออนไลน์คอนเทนท์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค