'ไอแทป' พัฒนา 'ชุดตรวจสอบการเกษตร-น้ำยาล้างผักผลไม้’ ลดเคมีปนเปื้อน
"ไอแทป" สวทช. หนุนผู้ประกอบการ พัฒนาชุดตรวจสารเคมีตกค้างในภาคการเกษตร ใช้จริงแล้วกับร้านอาหารชั้นนำ โรงแรมระดับ 5 ดาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านอาหารปลอดภัยแก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ยังผลิตนวัตกรรมน้ำยาล้างผักและผลไม้ เอาใจสายเฮลท์ตี้ ปราศจากจุลินทรีย์
ศ.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) โดยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้สนับสนุนให้ทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อช่วยผู้ประกอบการพัฒนาชุดตรวจสอบสารเคมีทางการเกษตรอย่างง่าย และทดสอบประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักจากหยาดน้ำดอกมะพร้าว เพื่อลดปริมาณสารเคมีตกค้างและลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนในผักและผลไม้ ให้กับ 2 บริษัท
ประกอบด้วย บริษัท เอิร์ธแคร์ อินโนซิส จำกัด โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดตรวจสอบ CHEMISPOT ซึ่งเป็นชุดตรวจสอบสารกำจัดวัชพืช 2 ชนิด คือ พาราควอต (Paraquat) และไกลโฟเซต (Glyphosate) สำหรับใช้คัดกรอง (screening) การตกค้างของสารเคมีในผักและผลไม้ โดยแสดงผลว่า ‘พบ’ หรือ ‘ไม่พบสารตกค้าง’ สามารถนำไปใช้งานได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว และทราบผลทดสอบได้ทันที
“ชุดตรวจสอบพาราควอต อยู่ในรูปของ “เจลทดสอบ” มีสีขาวขุ่น อยู่ในภาชนะพลาสติกขนาดเล็ก การทดสอบทำได้ง่ายๆ โดยใส่ตัวอย่างของเหลว ลงในสารทดสอบ หากไม่มีสารพาราควอต สารทดสอบจะมีสีขาวใสเหมือนเดิม แต่ถ้ามีสารพาราควอต สารทดสอบจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้าทันที โดยความเข้มของสีจะเปลี่ยนไปตามปริมาณของสารพาราควอตที่พบ”
“ชุดตรวจสอบไกลโฟเซต อยู่ในรูป“ของเหลวทดสอบ” มีลักษณะสีขาวใส บรรจุในขวดแก้ว ใช้งานโดยเติมตัวอย่างที่ต้องการทดสอบ ในขวดทดสอบ เขย่าและสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสีที่เกิดขึ้น จากการทำปฏิกิริยาของสารทดสอบกับสารไกลโฟเซต จะทำให้เกิดสีเหลืองขุ่น โดยความเข้มของสีจะเปลี่ยนไปตามปริมาณของสารไกลโฟเซตที่พบ”
ทั้งนี้ชุดตรวจสอบนี้ถูกนำไปใช้ทดสอบผักและผลไม้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโรงแรม 5-6 ดาว รวมถึงร้านอาหารชั้นนำต่างๆ
นายอุกฤษฏ์ วิศิษฐ์กิจการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอิร์ธแคร์อินโนซิส จำกัด กล่าวว่า บริษัท เอิร์ธแคร์ฯ เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศเพื่ออาหารปลอดภัย และสนใจที่จะพัฒนาชุดตรวจสอบที่ใช้ง่าย สามารถใช้ได้เองที่บ้าน ซึ่งการที่ได้ร่วมโครงการกับโปรแกรม ITAP สวทช. ทำให้สินค้าของบริษัท ทั้งผลิตภัณฑ์ Paraquat หรือ Glyphosate ได้รับการตอบรับจากทั้งภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงาน นอกจากนี้ตัวชุดตรวจสอบได้ถูกใช้จริงในโครงการของสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แล้ว เพื่อนำร่องในโครงการอาหารปลอดภัยสำหรับให้คนในชุมชน โรงเรียน สถานพยาบาล ตื่นตัวถึงปัญหาสารเคมีตกค้างในผักและในน้ำ ทำให้นักเรียนผู้เข้าร่วมในโครงการอาหารปลอดภัย มีโอกาสใช้ชุดตรวจสอบและเห็นถึงปัญหาด้วยตนเองด้วย
ศ.พวงรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นแล้วยังมีผลิตภัณฑ์อีกหนึ่งตัวคือ “ชีวาดี ฟรุต แอนด์ เวจจี่ วอช” (Chiwadi Fruit Veggie Wash) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ บริษัท ชีวาดี โปรดักส์ จำกัด ได้พัฒนาขึ้นจากหยาดน้ำดอกมะพร้าว ซึ่งได้มีการทดสอบในห้องปฏิบัติการ พบว่าประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์เริ่มแรกสามารถลดแบคทีเรียและสารเคมีปราบศัตรูพืชได้ในระดับหนึ่ง แต่เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าจะได้ผักผลไม้ที่ปลอดภัยจริง ทีมวิจัยได้ปรับสูตรน้ำยาล้างผัก โดยต่อยอดจากสูตรเดิม ทั้งการเพิ่มสารสำคัญ ปรับสัดส่วนของสารต่างๆ ในน้ำยาล้างผักและปรับปริมาณการใช้น้ำยาล้างผัก
ทำให้สามารถล้างผักและผลไม้ ให้ปลอดจากเชื้อจุลินทรีย์และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผักผลไม้ ได้ในเวลาอันสั้น โดยผลทดสอบพบว่า Chiwadi Fruit Veggie Wash สูตรใหม่ สามารถกำจัดจุลินทรีย์ตกค้าง ได้หมด และช่วยลดยาฆ่าแมลง ที่ใช้ทดสอบสองชนิด คือ Methomyl และ Lambda-Cyhalothrin จากในระดับที่ ‘ไม่ปลอดภัยมาก’ ให้เป็นระดับ ‘ปลอดภัย’ ได้
ด้าน นางสารภี ยวดยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชีวาดี โปรดักส์ จำกัด กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ดำเนินการทดลองและช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก สามารถเข้าถึงงานวิจัย เข้าใจลักษณะงานที่เป็นขั้นตอน ซึ่งนอกจาก ผลการทดลองที่ทำให้ได้รับความมั่นใจในตัวสินค้าแล้ว ยังได้รับคำแนะนำการปรับให้สูตรสมดุล เพื่อประโยชน์สูงสุดกับขนาดธุรกิจของตนเอง และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคด้วย