‘หนี้ทางเทคนิค’ มหันตภัย คุกคาม ‘นวัตกรรม’ องค์กร
การปล่อยปัญหาทิ้งไว้ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม กระทั่งกลายเป็น “หนี้ทางเทคนิค(Technical Debt)” กำลังนำไปสู่ภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อการพัฒนานวัตกรรมของภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ดี ปัญหาหนี้ทางเทคนิคเกิดจากหลายปัจจัย ผู้บริหารด้านไอที 52% กล่าวว่าเกิดจากการใช้ภาษาและเฟรมเวิร์คในการพัฒนาที่หลากหลายเกินไป, 49% เกิดจากการเปลี่ยนตัวผู้พัฒนาภายในทีมพัฒนา และ 43% การปล่อยผ่านข้อบกพร่องที่ทราบอยู่แล้วเพื่อให้สามารถส่งมอบงานให้ทันตามกำหนด
ทุกวันนี้ องค์กรต่างๆ ยังคงชะลอการจัดการหนี้ทางเทคนิค ซึ่งจะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น มีเพียง 20% เท่านั้นที่บอกว่าสามารถจัดการปัญหาหนี้ทางเทคนิคได้เป็นอย่างดี และมีเพียง 36% ที่ระบุว่าจะสามารถจัดการหนี้ทางเทคนิคเหล่านี้ได้ในอนาคต โดยภาระหนี้ทางเทคนิคขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จะใช้งบประมาณด้านไอทีประมาณ 41% ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กใช้งบประมาณที่ 27%
เดิมพัน ‘ความสามารถธุรกิจ’
ไอแซค จูเบิร์ต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ เจทีซี กรุ๊ป กล่าวว่า หนี้ทางเทคนิคอาจมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผู้บริการทางด้านการเงินที่เติบโตจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินที่เน้นการบริการอย่างรวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือ
รุย กอนซาเวส พาร์ทเนอร์ เคพีเอ็มจี โปรตุเกส เสริมว่า หลายปีที่ผ่านมาได้เห็นผลกระทบของหนี้ทางเทคนิคที่มีต่อความสามารถทางธุรกิจ โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมและสร้างความยืดหยุ่นในองค์กร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สามารถรักษาและสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขัน
งานวิจัยดังกล่าวมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารด้านไอทีทั่วโลกจำนวน 500 ราย ครอบคลุมองค์กร บริษัท ธุรกิจขนาดใหญ่ บริษัทการค้า และธุรกิจขนาดเล็ก ครอบคลุมอุตสาหกรรมการเงิน ค้าปลีก การดูแลสุขภาพ การศึกษา การให้บริการทางธุรกิจ รัฐบาลและการบริหารภาครัฐ สื่อและโทรคมนาคม สาธารณูปโภค และอสังหาริมทรัพย์