นักลงทุนฟันธง ‘ชีววิทย์’ โตก้าวกระโดดสวนวิกฤติโควิด
สถานการณ์โควิดในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละกว่า 3 พันคน เดือนละประมาณแสนคน ซึ่งตัวเลขนี้ยังคงอยู่เกือบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา เป็นการระบาดระลอกที่หนักมาก แต่กลับมีโอกาสเกิดขึ้นในเรื่องของการลงทุนด้าน “ชีววิทยาศาสตร์”
ซึ่งครอบคลุมทั้งยา เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอางและอาหารเสริม และบริการสุขภาพ ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งขิง กระชายขาว ฟ้าทลายโจร พบว่าราคาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจนกระทั่งขาดตลาดในช่วงที่มีการระบาดของโควิด
“เทรนด์ด้านอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทยเติบโตเกือบ 10% ตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงโควิดทั้งสามระลอก สวนทางกับบางอุตสาหกรรมที่ติดลบ 3-8% เห็นได้ชัดในกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มงานบริการและยานยนต์ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้" ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือทีเซลส์ กล่าวในการเสวนาออนไลน์ “Business Forum and Business Matching ลงทุนอย่างไรให้มั่งคั่งในยุคโควิด-19 กับธุรกิจ Life Science”
ลงทุนมั่งคั่งในยุคโควิด
ไพรบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในสถานการณ์โควิด และโอกาสในการลงทุนว่า การลงทุนในวันนี้สามารถให้ผลตอบแทนได้ดี เพราะเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยถูกกดต่ำทั่วโลกเพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ
"ช่วงที่ผ่านมา หากลงทุนในตลาดทุนจะได้รับผลตอบแทนที่สูง เมื่อหมดช่วงตกใจแรกๆ หรือเกิดโควิดใหม่ๆ ตลาดหุ้นไทยจึงตกลงไปเหลือประมาณพันจุด จนถึงวันนี้พันหกร้อยจุด คิดเป็น 60% ภายในระยะเวลา 1 ปี จากนี้ไปสภาพคล่องยังอยู่ ดอกเบี้ยยังต่ำ และเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากมีการฉีดวัคซีน ดังนั้น การลงทุนในตลาดทุนถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสร้างผลกำไรได้ดี”
จีโนมิกโตสวนกระแส
นอกจากตลาดหุ้นไทยแล้วก็มีสินค้าจากต่างประเทศ ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนนำเข้ามาจำหน่ายให้กับนักลงทุนไทย เช่น เซกเตอร์ของไบโอเทคโนโลยีที่มีค่อนข้างมาก อาทิ การลงทุนในกองทุนในบริษัทที่พัฒนาด้านจีโนมิก ซึ่งกองทุนเหล่านี้เติบโตสูงมากในช่วงที่ผ่านมา
การระบาดระลอกใหม่จะมีผลต่อการลงทุนหรือไม่นั้น หากเทียบกับประเทศอินเดีย พบว่ากราฟตลาดหุ้นยังคงขึ้นสูง ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนมองข้ามการแพร่ระบาดโดยหันไปโฟกัสเรื่องวัคซีนมากขึ้น ในมุมมองอนาคตการลงทุนในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ หากดูในตลาดหุ้นเทคโนโลยีในประเทศไทยถือได้ว่ามีน้อยมาก ซึ่งหุ้นในอุตสาหกรรมนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศแสวงหาเช่นกัน
“ปีนี้หุ้นในบริษัททางด้านการแพทย์และบริการสุขภาพพุ่งขึ้นสูง ข้อด้อยของไทยนอกจากสินค้าไม่มีแล้ว ก็มีเรื่องที่นักลงทุนในระยะยาวมีน้อย และนักลงทุนยังไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในบริษัทที่เป็น R&D เพราะไทยไม่มีวัฒนธรรมการวิจัยฯ ขณะที่บริษัทที่จะเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่ทำกำไรแล้ว ดังนั้น นักลงทุนก็จะเลือกในบริษัทที่ทำกำไร ด้วยหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างกลุ่มนักลงทุนกองทุนประเภทเหล่านี้ขึ้นมาที่จะเน้นในเมกะเทรนด์จริงๆ”
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์มองเห็นข้อด้อยนี้ จึงเริ่มสนับสนุนธุรกิจด้านการแพทย์และเมกะเทรนด์ต่างๆ เริ่มมีการนำกองทุนในต่างประเทศมาจำหน่ายในไทย ซึ่งสามารถจำหน่ายได้กว่าหลายหมื่นล้านบาท
“3 อ.”ขับเคลื่อนอุตฯชีววิทย์ฯ
ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เสริมว่า สามปัจจัยที่จะทำให้ภาพเศรษฐกิจดีขึ้น คือ 1.การกระจายตัวของวัคซีน 2.การใช้จ่ายของภาครัฐ 3.การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ดังนั้น ในปี 2565 อาจจะมีการขยายตัวได้มากกว่าปีนี้ 3-5% ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยข้างต้นนี้ ขณะเดียวกันปัจจัยสำคัญที่คาดเดายากคือ การท่องเที่ยวของต่างประเทศ เพราะต่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตาม อีกทั้งประเทศไทยยังคงพึ่งพาตลาดจีน ดังนั้น ประเด็นการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อาจจะยังไม่พอ แต่จะต้องดูเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารฟื้นตัวช้า
ในส่วนของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์นั้น มีปัจจัยขับเคลื่อนคือ “3 อ.” ได้แก่ 1.อายุ จากการให้ความสำคัญกับการป้องกันเพื่อสุขภาพที่ดีและยั่งยืน จึงยินดีที่จะใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุนด้านนี้ 2.อาเซียน การที่ไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน ทำให้เกิดการลงทุนและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ พร้อมกับฐานลูกค้าในอาเซียน เนื่องจากกำลังซื้อในภูมิภาคนี้ค่อนข้างสูง ฉะนั้น ต้องมองจุดแข็งที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่มีประชากรเพียง 70 ล้านคนเท่านั้น แต่ต้องมองทั้งภูมิภาคหลายร้อยล้านคน ที่สามารถทำให้เกิดการเติบโตในธุรกิจนี้ได้ 3.อาหาร จากความต้องการสุขภาพที่ดีและอาหารที่มีประโยชน์
ดังนั้นด้วย 3 ปัจจัยนี้โอกาสของธุรกิจในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์จะสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งทำให้เห็นถึงกำลังซื้อระดับกลางและระดับบนที่มีอยู่ค่อนข้างมาก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่รวมไปถึงตลาดโลก เมื่อไทยเป็นฐานการผลิตที่ดีจะส่งผลให้เกิดการกระจายสินค้า รวมทั้งการเดินทางจากต่างประเทศที่จะมาใช้ประโยชน์จากชีววิทยาศาสตร์ที่จะทำให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ด้วยเช่นกัน จึงเพียงพอจะสรุปได้ว่า Life Science ถือเป็น New S Curve ของธุรกิจด้านสุขภาพในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย