"บอร์ดดีอี"ไฟเขียวอัดเงินเข้ากองทุนฯอีก 3,000 ล้านบาท
"บิ๊กป้อม"นั่งหัวโต๊ะประชุมแผนบริหารกองทุนดีอีประจำปี 64 หลังปิดรับคำขอไปแล้วเมื่อพ.ค.ที่ผ่านมา ระบุปีนี้อยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 3,000 ล้านบาท ขอรับทุน 649 โครงการ
วันนี้ (23 มิ.ย.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดกองทุนดีอี) ครั้งที่ 2/2564 โดยมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ในที่ประชุมวันนี้ ได้รับทราบผลดำเนินงานของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และการปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรม ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 1 ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งครบกำหนดปิดรับข้อเสนอไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 มีหน่วยงานและผู้สนใจ ยื่นคำขอรับทุนฯ เข้ามาจำนวน 649 โครงการ
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบโครงการเพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการศึกษาและพัฒนาทักษะทางสังคม (Soft Skills) และทักษะดิจิทัล (Digital Skill) เพื่อรองรับการพัฒนาแห่งอนาคต ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ และ 2.โครงการศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการ ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ด้านนางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ยังได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงาน ได้แก่ คณะทำงานวิเคราะห์โครงการ หรือกิจกรรมฯ ตามประกาศเปิดรับทุนปี 2564 จำนวน 5 คณะย่อย และคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองโครงการ สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย และเห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์การอนุมัติค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามมาตรา 26 (6) แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำหรับพิจารณาอนุมัติค่าใช้จ่ายตามมาตรา 26 (6) ให้เป็นไปอย่างชัดเจน มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก่อนเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความเห็นชอบต่อไป