‘เบ็นคิว’ ปรับเกมลุยศึก 'โปรเจคเตอร์'
“เบ็นคิว” ชี้โควิด-19 สร้างผลกระทบหนักธุรกิจโปรเจคเตอร์ ปรับกลยุทธ์เบนเข็มสู่ลูกค้าผลกระทบน้อย เสริมบริการโซลูชั่น เพิ่มโมเดลเช่าซื้อ-เช่าใช้ เจาะโลจิสติกส์ ประกันภัย เฮลธ์แคร์ พร้อมชูแนวคิดการเรียนแบบผสมผสานออนไลน์-ออนไซต์ ดันผลิตภัณฑ์จออัจฉริยะ
รวมไปถึงเพิ่มโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการขยายความร่วมมือไปกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ให้การสนับสนุนด้วยการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โปรเจคเตอร์ทั้งแบบเช่าซื้อหรือเช่าใช้ การนำเสนอสินค้าจะสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่มโดยมีสินค้าที่หลากหลายทั้งดิจิทัลไซเนจ สมาร์ทมอนิเตอร์ โปรเจคเตอร์ พร้อมบริการโซลูชั่น
สำหรับแนวทางธุรกิจครึ่งปีหลัง กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์จะสอดคล้องไปตามพฤติกรรมการใช้งานจริงของผู้บริโภคและธุรกิจ รองรับการใช้งานห้องประชุมตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ตลาดการศึกษา รวมถึงความบันเทิงภายในบ้าน
โดยไฮไลต์เช่น สมาร์ทโปรเจคเตอร์รุ่น “E600-Series” ที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ไวไฟ และบลูทูธเข้าไปในตัวเครื่อง เน้นกลุ่มตลาดห้องประชุมใหม่ๆ ด้วยการติดตั้งโดยไม่จำเป็นต้องมีการเดินสายเคเบิล หรือสายเอชดีเอ็มไอ
พร้อมชูแนวคิด “Blended Learning Solution” การเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างออนไลน์และแบบออนไซต์ ที่มีรูปแบบโมเดลที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ช่วยให้สถาบันการศึกษาลดความแอดอัดของจำนวนนักเรียนในแต่ละห้อง และทางเบ็นคิวได้นำเข้าผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 รุ่น ได้แก่ จอภาพอัจฉริยะ “IFP รุ่น RE9802” ขนาดหน้าจอ 98 นิ้ว ราคา 499,000 บาท และ รุ่น “CP6501K” ขนาดหน้าจอ 65 นิ้ว ราคา 299,000 บาท กลุ่มเป้าหมายเน้นที่โรงเรียนนานาชาติ ธุรกิจภาคเอกชน และรัฐบาล
ปี 2563 เบ็นคิวสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจโปรเจคเตอร์ที่ 7.64% รั้งอันดับที่ 4 ในตลาดไทย เมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการค้าทั้งหมด 15 แบรนด์ และโตขึ้น 6.11% เมื่อเทียบกับปี 2562 ส่วนปี 2564 นี้ตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดไว้ที่ 8%
ทั้งนี้ เฉพาะจอภาพแบบทัชสกรีน(IFP) ปี 2563 มีส่วนแบ่งทางการตลาด 9.51% ครองอันดับ 4 ซึ่งถือว่าเติบโตได้แบบก้าวกระโดดจากปีก่อนหน้า จากการสร้างแบรนด์เชิงลึกเพื่อเจาะกลุ่มตลาดการศึกษาเอกชน พร้อมปรับกลยุทธ์เพิ่มช่องทางการจำหน่าย เปิดช่องการจำหน่ายแบบเช่าซื้อและเช่าใช้ ไตรมาสแรกปีนี้ไต่ขึ้นมาอยู่อันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 18.52% หรือเติบโตกว่า 400% สิ้นปีนี้หวังว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดไม่น้อยกว่า 12%