ยกระดับ ‘ใยกัญชง’ สู่ 'วัสดุการบิน' ในอนาคต
เปิดคุณสมบัติเด่นจาก "ใยกัญชง" ที่เป็นได้มากกว่าการสกัดเป็นยา หรืออาหารเสริม เพราะวันนี้ หลายส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับ "เทคโนโลยีอวกาศ" กำลังดำเนินการวิจัยการใช้ใยกัญชง สู่ "วัสดุการบิน" อย่างจริงจัง
ตามข่าวที่ปรากฏในเรื่อง "การผลิตเครื่องบินเล็กจากใยกัญชง" โดยชาวแคนาดา ทำให้เรื่องนี้ถูกพูดถึงไปอย่างแพร่หลายกับคุณสมบัติที่โดดเด่นจากใยกัญชง และหลายส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศก็กำลังจับตาพร้อมดำเนินการวิจัยกันอย่างจริงจัง
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของ “กัญชง” กันมาบ้างแล้วในก่อนหน้านี้ ในเรื่องคุณประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมายทั้งในเรื่องของการสกัดเป็นยา อาหารเสริม น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือน้ำมันหอมระเหยไปจนถึงใช้ถูนวดบรรเทาอาการต่างๆ มากมาย
ในอดีตใครเพาะปลูกพืชชนิดนี้หรือมีไว้ครอบครองก็จะมีความผิด มีโทษต่างๆมากมาย จนกระทั่งเมื่อปี 2560 พืชชนิดนี้ได้รับการอนุมัติจาก ครม.ให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ในพื้นที่ที่กำหนด โดยจำกัดพื้นที่ 15 อำเภอใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก เพชรบูรณ์และแม่ฮ่องสอน
จากกฎกระทรวงในด้านการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 ม.ค.2564 เป็นต้นมา ก่อเกิดเป็นงานวิจัยต่างๆ ซึ่งรวมถึงข้อมูลการผลิตและทดสอบเส้นใยกัญชง พบมีความแข็งแรงกว่าใยไฟเบอร์กลาส 25-30% เทียบต่อน้ำหนัก ทำให้ลดการใช้พลังงานได้ และที่สำคัญมีคุณสมบัติดูดกลืนเสียงได้ดีด้วย
ดังนั้น ในอนาคตจะมีการใช้ประโยชน์จากใยกัญชงในรูปแบบของ วัสดุคอมโพสิท FRP (Fiber Reinforced Polymer) เริ่มที่ชิ้นส่วนภายในอากาศยานก่อนหรือใช้ผลิตโครงสร้างทั้งหมดของโดรน ทั้งโดรนเชิงพาณิชย์และโดรนเชิงความมั่นคง หรือโครงสร้างอากาศยานทางทหารที่เป็นเทคโนโลยีล่องหนจากคุณสมบัติดูดซับคลื่นเสียงที่ดี หรือใช้ลดการแพร่กระจายรังสีจากเครื่องยนต์ของยานยนต์ทางทหารต่างๆ เพื่อลดการตรวจจับด้วยกล้องรังสีความร้อน เป็นต้น หากสามารถทำได้จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการปลูก แปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกิดการขยายตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน จิสด้า เริ่มนำใยกัญชงมาทดสอบหา "คุณสมบัติ" ของใยกัญชง ทั้งด้านความแข็งแรง ทนทาน ด้านความถี่ ด้านอุณหภูมิ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านโครงสร้างของอากาศยานไร้คนขับ หรือชิ้นส่วนภายในเครื่องบิน ซึ่งจิสด้ามีพาร์ทเนอร์ด้านนี้อยู่แล้ว หรือหากมีคุณสมบัติที่เข้ากันได้กับการใช้งานบนอวกาศ ก็เป็นไปได้ที่จะนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในดาวเทียมดวงต่อๆ ไปที่เกิดขึ้นจากการสร้างโดยฝีมือคนไทย
ในส่วนของขั้นตอนการทดสอบจะเริ่มอย่างไร ทดสอบที่ไหน พอจะสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้คือ เริ่มจากจัดเตรียมข้อมูลมาตรฐานการทดสอบด้านคอมโพสิท โดยในเบื้องต้นจะทดสอบคุณสมบัติเชิงกลในแล็บ GALAXI ที่ศรีราชา ซึ่งได้รับการรับรอง AS9100 ISO/IEC17025 และ NADCAP จากนั้นเตรียมวัสดุผ้าใยกัญชง (ใยธรรมชาติ) เพื่อทำการขึ้นรูปเป็นแผ่นความหนาตามมาตรฐานทดสอบ ตัดและเตรียมชิ้นงานให้ได้ตามมาตรฐานการทดสอบ และทดสอบความแข็งแรง (Tensile Strength) หลังจากนั้นสรุปผลเปรียบเทียบกับไฟเบอร์กลาส/คาร์บอนไฟเบอร์จากฐานข้อมูล
ขั้นตอนต่อมาจะดำเนินการจัดหา ทดลองใช้ เส้นใยไฟเบอร์กัญชง (ปัจจุบันในประเทศไทยมีบริษัทที่ผลิตเส้นใยไฟเบอร์จากใยกัญชงคือ บริษัทก้องเกียรติเทกซ์ไทล์ จำกัด) ที่บริสุทธิ์กว่าใยกัญชงที่ใช้ทอผ้าทั่วไป ทั้งนี้ จากสรุปผลการทดสอบ หากมีข้อได้เปรียบจริงดังข้อมูลอ้างอิง จะต้องสร้างกลไกในการกระตุ้น การผลิต การใช้วัสดุสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศและการบินให้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศต่อไป
เรื่องราวจากใยกัญชงมีความน่าสนใจมาก อนาคตอาจจะค้นพบคุณประโยชน์ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นได้ เทคโนโลยีเมื่อผสานกับงานวิจัยและองค์ความรู้มักจะก่อเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆที่สร้างคุณค่าให้กับประเทศมากมาย การส่งเสริมและผลักดันงานวิจัยจะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาควบคู่กันไปกับการดำเนินงานในทุกมิติ