‘โควิด’ ปลุกเอสเอ็มอีลุย ‘อีคอมเมิร์ซ’
‘ดีเอชแอล’ ชี้ อีคอมเมิร์ซอาจช่วยธุรกิจ “เอ็ม-เอสเอ็มอี” รอดพ้นวิกฤติได้ แนะธุรกิจต้องปรับปรุง นำเสนอบริการใหม่ต่อเนื่อง วางเป้าความสำเร็จระยะยาว คาดปริมาณยอดขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ จะทะยานแตะ 172,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 68
การล็อคดาวน์ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาใช้บริการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน ทำให้ร้านค้าแบบดั้งเดิม (brick-and-mortar) ต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่การเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างรวดเร็ว
"ช่วงระบาดระลอกใหญ่ในไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว พบว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วถึง 40%-60%"
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักการเติบโตมาจากธุรกิจ เอ็ม-เอสเอ็มอี ซึ่งคิดเป็นกว่า 90% ของจำนวนผู้ประกอบการในอาเซียน และเป็นส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนถึง 30%-53% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของภูมิภาค (GDP) แสดงให้เห็นถึงขนาดและศักยภาพของธุรกิจ เอ็ม-เอสเอ็มอี ที่จะยังเติบโตต่อไปในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าปริมาณยอดขายสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ( E-commerce Gross Merchandise Value: GMV) จะสูงถึง 172,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568
เขากล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่ปรับตัวและเริ่มใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซได้เห็นผลตอบรับที่ดี จากการศึกษาพบว่า 2 ใน 5 ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบดิจิทัลเมื่อปี 2563 มีรายได้เติบโตสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ระบบดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซ
“อีคอมเมิร์ซเป็นรูปแบบทำธุรกิจที่เปลี่ยนรวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง ธุรกิจจำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุง และนำเสนอบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว”
ขณะเดียวกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้สำหรับธุรกิจเอ็ม-เอสเอ็มอี ที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ อาจเป็นแนวทางที่ง่ายที่สุดในการมอบประสบการณ์การซื้อของออนไลน์ที่เหนือกว่าให้แก่ลูกค้า เช่น แชทบอท และการไลฟ์สด ช่วยให้ผู้ประกอบการติดต่อกับลูกค้าได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ธุรกิจ เอ็ม-เอสเอ็มอี ควรต้องถามตัวเองก่อนเสมอว่า ธุรกิจจะสามารถปรับปรุงการมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าอย่างไรบ้าง เช่น สามารถปรับปรุงหน้าตาของเว็บไซต์ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นหรือไม่ เรามีอุปกรณ์พิเศษหรือทางลัดที่ง่ายต่อการใช้งานหรือไม่ เรามีการใช้ อี-วอลเล็ต และวิธีการชำระเงินอื่นๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าหรือไม่ การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจะช่วยให้ธุรกิจเอ็ม-เอสเอ็มอี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรักษาฐานลูกค้าได้ในระยะยาว" นายเกียรติชัย