แอพฟู้ดดิลิเวอรี่ คึกคัก !! รับปิดเมือง 14 วัน
ปิดเมือง 14 วัน จับตาสั่งอาหารผ่านแอพโตกระโดด แบบโตแล้วโตอีก!! ทุกแอพ เร่งแคมเปญหนุนทั้งผู้ซื้อ และร้านอาหาร เน้นส่วนลด โปรโมชั่น ผนึกพันธมิตรข้ามสาย ขณะที่ ผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มหันซื้อตุนอาหารสด-แห้ง จากซูเปอร์มาร์เก็ต ทำอาหารเองลดค่าใช้จ่าย
มาตรการ ล็อกดาวน์ 14 วัน ในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงสูง ที่มีผู้ติดเชื้อ โควิด-19 สูงสุด เช่น กทม นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำของประชาชน สถานบริการ สถานที่จับจ่ายซื้อสินค้า มีเวลาเปิดปิดตามกำหนด โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านอาหาร ยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน ด้วยไม่สามารถเปิดให้ลูกค้านั่งรับประทานภายในร้านได้
การพึ่งพาบริการ แอพดิลิเวอรี่ต่างๆ คือ "ทางรอด" ในห้วงเวลาเช่นนี้ แต่ร้านอาหารที่ต้องใช้บริการ อาจต้องเสีย ค่าคอมมิชชั่น หรือ ค่า GP ให้แอพเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เกิดเสียงสะท้อนจากหลายร้านอาหาร โดยเฉพาะรายเล็ก มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้จะทำยอดได้จากดิลิเวอรี่ แต่เมื่อคำนวณรายรับ ก็ยังไม่ครอบคลุมรายจ่ายที่เป็นต้นทุนในแต่ละวัน
ที่ผ่านมา แอพฟู้ดดิลิเวอรี่ทุกราย งัดสารพัดกลยุทธ์ให้ความช่วยเหลือร้านอาหารผ่านแคมเปญต่างๆ ทั้ง งดเก็บ GP สำหรับร้านที่ยังไม่เคยอยู่บนแพลตฟอร์ม รวมถึงส่วนลดค่าส่ง โปรโมชั่น เพื่อบรรเทาผลกระทบ โดยเฉพาะรายเล็กให้ช่องทางนี้ เป็นตัวพยุงความอยู่รอดได้
จากการสำรวจของ "กรุงเทพธุรกิจ" ปัจจุบัน แอพฟู้ดดิลิเวอรี่แต่ละราย ส่วนใหญ่กำหนดค่า GP ไว้โดยเฉลี่ย 20- 30% แต่ก็เปิดช่องทางให้ร้านอาหารไม่ต้องเสียค่า GP ก็ได้เช่นกัน ผ่านมาตรการที่กำหนดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ยกเว้น แอพโรบินฮู้ด (Robinhood) ในเครือ SCB ที่เป็นเพียงแอพเดียว ไม่เก็บค่า GP รวมถึงล่าสุด ก็ฟรีค่าจัดส่ง ในช่วงปิดเมือง 14 วัน อ่านข่าวต่อที่ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/948266
"แกร็บ" ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด มีจำนวนร้านอาหารบนแพลตฟอร์ม รวมถึงไรเดอร์ทั่วประเทศมากกว่า 400,000 ราย ปัจจุบันกำหนด ค่า GP เฉลี่ย 20-30% และจะโอนเงินให้ร้านอาหารวันถัดไป
ไลน์แมน วงใน มีจำนวนร้านบนแพลตฟอร์ม 200,000 ร้าน กำหนดค่า GP อยู่ที่ 20-30% โอนเงินให้ร้านอาหารวันถัดไป (ถ้ามูลค่าเกิน 500 บาท) ส่วน ฟู้ดแพนด้า มีจำนวนร้านบนแพลตฟอร์ม 120,000 ร้าน กำหนดค่า GP เฉลี่ยกว่า 30% โอนเงินให้ร้านอาหารตามรอบเวลาขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ขณะที่ โรบินฮู้ด ไม่คิดค่า GP ไม่คิดค่าส่ง โอนเงินให้ร้านอาหารภายใน 1 ชั่วโมง มีจำนวนร้านอาหารบนแพลตฟอร์มมากกว่า 80,000 ร้าน
แกร็บลด GP 0% ร้านที่ไม่เคยอยู่ในระบบ
ที่ผ่านมา แกร็บ เปิดช่องทางให้ร้านอาหารที่ไม่เคยจำหน่ายอาหารผ่านแกร็บเลยใน 7 จังหวัด กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และยะลา สามารถสมัครเข้าเป็นพาร์ทเนอร์ร้านอาหารของแกร็บ โดยได้รับการยกเว้นค่า GP เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ (สำหรับร้านที่สมัครเป็นพาร์ทเนอร์ร้านอาหารระหว่างวันที่ 1 - 30 กรกฎาคม 2564)
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการ ปรับลดค่า GP ให้พาร์ทเนอร์ร้านอาหารเหลือ 0% สำหรับการสั่งอาหารแบบ “รับอาหารที่หน้าร้านด้วยตนเอง” (Self Pick-up) เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งเริ่มไปตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม และจะสิ้นสุดถึง 1 สิงหาคม 2564
ก่อนหน้านี้ อเลฮานโดร โอโซริโอ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ขณะนี้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนมากกว่าครั้งที่ผ่านมา ซึ่งแกร็บได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ พร้อมปรับแผนการดำเนินงาน ทั้งธุรกิจบริการการเดินทาง (เรียกรถผ่านแอพ) ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการที่ประชาชนงดออกจากบ้าน และธุรกิจดิลิเวอรีเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างเต็มที่
ไลน์แมนวงในเปิด2ทางเลือก
“ไลน์แมน วงใน” มีโมเดลการคิดค่า GP อย่างชัดเจนมาแต่แรก ร้านอาหารเลือกได้ว่า จะเสียค่า GP หรือไม่เสียค่า GP ก็ได้ ซึ่งสัดส่วนของร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์ของไลน์แมน วงใน ก็มีทั้ง 2 รูปแบบ โดยนับเป็นแพลตฟอร์มที่มีโมเดลยืดหยุ่น สำหรับการเปิดรับร้านอาหารที่จะเข้ามาร่วมขายบนแอพ ร้านอาหารสามารถสมัครและขายบนแอพได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่เสียค่า GP และสำหรับค่าส่งอาหาร จะคำนวณตามระยะทางจริง
ส่วนร้านที่ต้องการเข้าร่วมประเภทเสียค่าคอมมิชชั่น จะทำข้อตกลงเพิ่มเติม เริ่มตั้งแต่ 20-30 % ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจและข้อตกลงที่ร้านค้าสมัครใจ ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ ร้านอาหารมีสิทธิ์เลือกได้เอง ไม่ได้มีการบังคับ
ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์แมน วงใน กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มกระจายเป็นวงกว้างและเร็วกว่าที่คาดคิด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ สภาพคล่อง และการจ้างงานในระยะยาวกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะในธุรกิจอาหาร ซึ่งบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจเเละติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และทราบดีว่าผู้ประกอบการร้านอาหารกำลังแบกรับต้นทุนค่าบริหารจัดการต่างๆ
ที่ผ่านมา ไลน์แมน วงใน ออกมาตรการช่วยเหลือร้านอาหาร รวมถึงบรรดา ผับ บาร์ มาเป็นระยะ อย่างล่าสุด เปิดโครงการ #SupportLocalBarTH เพิ่มช่องทางการขายผ่านแอพไลน์แมน รูปแบบดิลิเวอรี่แบบ Non-GP หลังร้านประเภทดังกล่าวได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยถูกสั่งปิดบริการเป็นเวลานาน และมักเป็นธุรกิจท้ายๆ ที่จะได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดอีกครั้ง
ปัจจุบัน เจ้าของธุรกิจบาร์และผับต่างสรรหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้บาร์เทนเดอร์และทีมงานยังมีอาชีพและมีรายได้ ด้วยการปรับตัวจากขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาเป็นการขายเมนูพิเศษต่างๆ ทั้งอาหาร ของหวาน และม็อกเทล
สำหรับแคมเปญนี้ไลน์แมน วงใน ใช้วิธีรวมถึงลงพื้นที่ไปถ่ายทำเมนูพิเศษจากร้านต่างๆ โดยนำมาโปรโมทผ่านช่องทางของ Wongnai เพื่อให้ลูกค้าประจำหรือผู้ที่สนใจร่วมสนับสนุนร้านเหล่านี้สั่งอาหารเพื่อสร้างรายได้ให้กับธุรกิจผับบาร์ได้ต่อไป
ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการ “โรบินฮู้ด” กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ในส่วนของ โรบินฮู้ด มีนโยบายจะไม่เก็บค่า GP ตลอดไป เพื่อมุ่งช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ และสร้างรายได้ที่เป็นธรรมให้กับร้านค้า ร้านค้าจะได้รับเงินจากการขายภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งช่วยให้ร้านค้ามีเงินหมุนเวียนในการพยุงธุรกิจต่อไปได้ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับไรเดอร์ท่ามกลางการว่างงานที่ดีดตัวสูงขึ้น
'ค่ายมือถือ-อีคอมเมิร์ซ' ร่วมวงหนุนช่วย
ความคึกคักไม่เพียงบังเกิดอยู่ในฝั่งผู้เล่นหลักเท่านั้น ค่ายมือถือ ต่างก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งในอีโคซิสเต็มส์นี้ด้วยเช่นกัน
เอไอเอส ผนึกกำลังกับ ผู้บริการฟู้ดิลิเวอรี่รายใหญ่ทั้งหมด แกร็บ ฟู้ดแพนด้าไลน์แมน วงใน และโรบินฮู้ด ให้สิทธิพิเศษให้ลูกค้าเอไอเอส ใช้คะแนนเอไอเอส พอยท์ แลกส่วนลด 60 บาท เมื่อสั่งอาหารจากทั้งแอพฟู้ดฯ เหล่านี้ เอไอเอส เผยว่า ในส่วนของ แอพ My AIS นั้นที่ผ่านมามีการใช้งานเพิ่มขึ้น เห็นปริมาณการใช้สิทธิพิเศษด้านฟู้ดดิลิเวอรี่เติบโตมากถึง 180% เลยทีเดียว
เช่นเดียวกับ ดีแทค ก็มีรีวอร์ดให้กับลูกค้าแลกซื้อสินค้า รวมถึงส่วนลดดีลพิเศษจากบรรดาแอพฟู้ดฯ เหล่านี้ ส่วน ทรู ผุด "ฟู้ดดิลิเวอรี่" ของตัวเองในนาม "ทรูฟู้ด" True Food ซึ่งร้านอาหารที่ทรูดึงมาเป็นพันธมิตร เช่น au bon pain, Baskin Robbins, Bar B Q Plaza, Charna, Craft Tea & co., D‘ORO, DUNKIN’, Funky Fries, Fuji, Sukishi Buffet, Sukishi Korean Charcoal Grill, WawaCha
และล่าสุด ช้อปปี้ (Shopee) ผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน ในเครือ Sea กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีภูมิภาคอาเซียน เตรียมเปิดบริการ ShopeeFood ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และประกาศในเฟซบุ๊คแฟนเพจ Shopee Food Rider เร่งรับสมัครไรเดอร์ส่งอาหาร เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างคึกคัก
แหล่งข่าวในวงการแอพฟู้ดดิลิเวอรี่ ให้ข้อมูลว่า ช่วงสถานการณ์โควิด ยอดสั่งซื้ออาหารผ่านแอพฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ยิ่งช่วงล็อกดาวน์ การสั่งอาหารผ่านแอพฟู้ดจะโตอย่างก้าวกระโดดมาก ยอดออเดอร์แต่ละวันโดยเฉลี่ยของผู้ให้บริการทุกรายสูงขึ้น เกิน 200-300%
แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ เริ่มมีความคุ้นชินกับมาตรการปิดเมืองของรัฐ หันไปเน้น ซื้อหรือตุนอาหารสด อาหารแห้งเอง เพื่อมาทำอาหารภายในบ้าน ซึ่งกลุ่มนี้ในระยะหลังมีเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด!!!