'ล็อกดาวน์’ บีบคนไทยแห่ช้อปออนไลน์ ดันอีคอมเมิร์ซพุ่ง ' 5แสนล้าน' !!
‘วิกฤติโควิด’ลาม มาตรการล็อกดาวน์บีบ "ผู้บริโภค-ธุรกิจ" ปรับตัวสู่ออนไลน์เต็มรูปแบบ ดันคนไทยชอปผ่านเน็ตโซเชียลติดอันดับ 3 ของโลก หนุนอีโคซิสเต็มส์ ‘อีคอมเมิร์ซ' ไทยขยายตัวลุ้นแตะ 5 แสนล้านสิ้นปีนี้
’แชทคอมเมิร์ซ’ อิทธิพลแรง
นางสาวแพร ดํารงค์มงคลกุล ผู้อำนวยการ เฟซบุ๊ค ประเทศไทย กล่าวถึง ผลศึกษาล่าสุดโดยเฟซบุ๊ค และบีซีจีว่า การเลือกซื้อสินค้าที่ค้นพบและการซื้อขายผ่านการ“ทักแชท”กลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในเส้นทางการซื้อสินค้าของผู้บริโภคบนโลกออนไลน์
ปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงจาก “การออกไปชอปปิง” เป็น “การชอปปิงได้ตลอดเวลา”ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่สินค้าที่ตนเองรู้จัก สามารถค้นพบ และเลือกซื้อสินค้าที่อยู่ในความสนใจได้มากขึ้น
โลกชอปปิงจะถูกขับเคลื่อนด้วยสองปัจจัย คือ “การค้นพบบนโลกออนไลน์” และ “การซื้อขายผ่านการทักแชท” ในทิศทางเดียวกันการระบาดของโควิด-19 มีส่วนทำให้ภาคธุรกิจปรับการดำเนินธุรกิจไปสู่โลกออนไลน์ และมอบประสบการณ์การมีส่วนร่วมมากขึ้น
“พฤติกรรมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนจากการทักทายเป็นสั่งซื้อถูกดึงดูดด้วยประสบการณ์การชอปปิงที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความสะดวกสบายมากขึ้น และการแชทมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเข้าถึงผู้บริโภคแบบโมบายเฟิร์ส”
’โซเชียลคอมเมิร์ซ’แรงไม่ตก
นายเลอทัด ศุภดิลก หัวหน้าฝ่ายธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า ครึ่งปีหลังภาพรวมโซเชียลคอมเมิร์ซในไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอีมาร์เก็ตเพลส และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตได้สูงขึ้นจากจำนวนร้านค้ารายย่อยที่เข้ามาสู่ธุรกิจออนไลน์
สำหรับภาพรวมกำลังซื้อนับว่ามีความน่าเป็นห่วง ทว่า ขณะนี้ยังเห็นการจับจ่ายที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้ว่าไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างระยะแรกที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด ปีนี้คาดว่าโซเชียลคอมเมิร์ซไทยจะขยายตัวได้ 15-20% ปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 60% ของตลาดอีคอมเมิร์ซ 2.7 แสนล้านบาท
’เมกะเซล’กระตุ้นกำลังซื้อ
นางสาวสิรินิธิ์ วิรยศิริหัวหน้าฝ่ายการตลาดเพื่อธุรกิจ TikTok กล่าวว่า ครึ่งปีหลังเทศกาลเมกะเซล จะเป็นอีกหนึ่งเป็นปรากฏการณ์สำคัญในวงการอีคอมเมิร์ซ ที่ขับเคลื่อนให้เกิดแรงกระตุ้นในการจับจ่ายและถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่แบรนด์ต่างรอคอยที่จะพิชิตยอดขาย
โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้าย ถือเป็นไฮไลท์สำคัญ ตั้งแต่ 9 เดือน 9, 10 เดือน 10, 11 เดือน 11, 12 เดือน 12 พร้อมด้วยเทศกาลชอปปิงส่งท้ายปีที่มีต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นช่วงเวลาที่แบรนด์และผู้ประกอบการต่างงัดกลยุทธ์มาพิชิตยอดขาย
“เมกะเซลคือช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอยและเป็นโอกาสสำคัญของแบรนด์ในสร้างยอดขาย ตอบโจทย์พฤติกรรมนักช้อปในปัจจุบันที่นอกจากต้องการดีลที่ดีที่สุดแล้ว ยังต้องการประสบการณ์การจับจ่ายที่มาพร้อมความสุขด้วย”
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์สำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ผู้คนนิยมซื้อสินค้าบนออนไลน์มากขึ้น จะมาจากประสบการณ์แห่งความสุขในระหว่างการซื้อสินค้า หรือที่เรียกว่า “ช้อปเปอร์เทนเมนท์" ที่กำลังมาแรงและโดนใจนักช้อปออนไลน์
’วีดิโอ’เพิ่มกระแสนักช้อป
นายกวิน ประชานุกูล ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการ ช้อปแบ็ค (ShopBack) ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมอีคอมเมิร์ซครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นจากข้อจำกัดของการออกไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์ คาดว่า จะเกิดการแข่งขันที่รุนแรงช่วงเทศกาลเลขเบิ้ลต่างๆ โดยเฉพาะ 9.9. 11.11 และ 12.12
หลังจากนี้ผู้ค้าจะเพิ่มงบการตลาดไปกับการพัฒนาเว็บไซต์ของตัวเอง เพื่อรวบรวมข้อมูลผู้ใช้งานและนำไปต่อยอดทางการตลาด รวมไปถึงการพัฒนาโมเดลการตลาดที่ช่วยยึดฐานลูกค้า ผลักดันให้เกิดการซื้อซำ้และการทำแบรนด์ดิ้งต่างๆ
ที่น่าจับตามองคือ การมาของคอนเทนท์ประเภทวีดิโอ ซึ่งคาดว่าต่อไปจะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อ ด้วยเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ง่ายและมีความน่าสนใจ บริษัทเองพบว่าผู้รับชมวีดิโอกว่าครึ่งมีการคลิกต่อเพื่อเข้าไปเลือกชมสินค้าและบริการ
ลาซาด้าประเมินทะลุ 4แสนล.
นางสาวธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปี 2563 ที่ผ่านมาเดิมตลาดอีคอมเมิร์ซคาดโต 35% หรือมีมูลค่าราว 2 แสนล้านบาท แต่จากสถานการณ์โควิด-19 พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาชอปปิ้งออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคมียอดสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว หม้อทอดไร้น้ำมันโต 3 เท่า รวมถึงสินค้าตกแต่งบ้านก็โตขึ้น ทำให้ปีก่อนตลาดอีคอมเมิร์ซโตขึ้นกว่า 81% หรือมีมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ พบว่าผู้บริโภคยังคงใช้จ่ายผ่านชอปปิ้งออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปีนี้มองว่าตลาดอีคอมเมิร์ซจะยังมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 2 หลัก หรือมีโอกาสที่จะมีมูลค่ารวมถึง 400,000 ล้านบาทได้
ในส่วนของลาซาด้า ปี 2564 นี้พร้อมใช้งบการตลาดและโปรโมชันมากกว่าปีก่อน ภายใต้การจัดเมกะแคมเปญใหญ่ 6 แคมเปญ มากกว่าปีก่อนที่จัด 5 แคมเปญใหญ่ ซึ่งปีนี้มีแคมเปญ 3.3 เพิ่มเข้ามา นอกจากนี้จะมีการทำโปรโมชันการขายราคาถูก ราคาต่ำกว่า 9 บาท เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้มากขึ้นด้วย เพื่อผลักดันให้ภาพรวมปีนี้โตขึ้น 100% หรือ 3 เท่าตัว ทั้งใน 3 ส่วนหลัก คือ ยอดขาย, ออเดอร์การสั่งซื้อ และจำนวนผู้ขายที่ต้องเพิ่มขึ้น 3 เท่าเช่นกัน
เปิดรายได้ 3 ยักษ์อีคอมเมิร์ซ
ขณะที่ ข้อมูลจาก Creden data เผยรายได้ของอีมาร์เก็ตเพลส 3 รายใหญ่ ช้อปปี้ ลาซาด้า และเจดีเซ็นทรัลฯ ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยมากที่สุด พบว่า
ลาซาด้า ประเทศไทย มีรายได้ปี 2563 อยู่ที่ 10,011,765,022 เพิ่มขึ้นจากรายได้ปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 9,413,215,643 บาท เติบโตราว 6% ขณะที่ ปี 2563 ลาซาด้า ขาดทุนมากถึง 3,988,774,672 บาท ส่วนธุรกิจขนส่งของลาซาด้า ในแบรนด์ ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส มีรายได้ปี 63 ราว 6,844,532,558 บาท โตขึ้น 46% จากปี 2562
ช้อปปี้ ประเทศไทย มีรายได้ปี 2563 ที่ 5,812,790,479 บาท โตขึ้น 192.69 % จากปี 2562 ที่มีรายได้ราว 1,986,021,185 บาท ขณะที่ ปีที่ผ่านมา ช้อปปี้ ขาดทุนมากถึง 4,170,174,144 บาท ส่วนธุรกิจขนส่งในนามบริษัท ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้ปี2563 อยู่ที่ 1,880,871,52 บาท เติบโตกว่า 273% จากปี 2562 ที่มีรายได้ราว 503,924,985 บาท
ส่วนบริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด หรือเจดีเซ็นทรัล มีรายได้ปี 2563 ที่ 3,491,691,996 บาท เติบโต 171% จากปี 2562 มีรายได้ 1,284,831,719 บาท