'แฟลช' เยียวยาลูกค้า 'วังน้อย' - คืนเงินค่าส่ง 100% หาก 3 วัน ยังไม่ได้รับของ
แฟลช เอ็กซ์เพรส แจง 5 มาตรการเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดศูนย์กระจายพัสดุสาขาวังน้อย ยันชดใช้ค่าเสียหายให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบแน่นอน เร่งบริหารจัดการพัสดุคงค้างในศูนย์โดยเร็วที่สุด หากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่ออนุญาตให้เข้าพื้นที่
บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งแบบครบวงจร ย้ำมาตรการเยียวยาชดเชยค่าเสียหาย ให้ลูกค้าผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดศูนย์กระจายพัสดุสาขาวังน้อย ตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีมติให้ศูนย์กระจายพัสดุสาขาวังน้อยต้องปิดการดำเนินการเมื่อวันที่ 19 กรกฏาคมที่ผ่านมา โดยทางบริษัทฯ ยินดีรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยมารตการเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้
สินค้าที่ถูกจัดส่งระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม ถึง 31 กรกฎาคม 2564 หากเป็นปัญหาจากศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) ยกเว้น ช่วงขารับและขานำส่งพัสดุ โดยพัสดุอยู่ที่ศูนย์กลางกระจายพัสดุ(Hub) เกินกว่า 3 วัน ทางบริษัทฯ ยินดีคืนเงินค่าขนส่ง 100%
หากลูกค้าปลายทางปฏิเสธการรับพัสดุเนื่องจากความล่าช้าของปัญหาจากศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) ข้างต้น ทางบริษัทฯ รับผิดชอบค่าตีกลับไปยังผู้ส่งต้นทาง
พัสดุบางส่วนที่ถูกรับฝากส่งในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 และบริษัทฯ ทำการตีกลับคืนผู้ส่ง ทางบริษัทฯ จะคืนเงินค่าขนส่ง 100%
หากผู้รับปลายทางที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการส่งล่าช้าจากปัญหาของศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) ข้างต้น ทางบริษัทฯ จะมอบคูปองของแฟลช เอ็กซ์เพรสมูลค่ารวม 50 บาท
หากพัสดุเสียหายหรือสูญหายเนื่องจากปัญหาของศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) ข้างต้น ทางบริษัทฯ จะชดเชยค่าเสียหายเต็มจำนวนอย่างเร็วที่สุด (ภายใต้เงื่อนไขของบริษัทฯ ที่กำหนด)
สำหรับจำนวนพัสดุที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ในส่วนของการชดเชยค่าขนส่งและรูปแบบการชดเชย ทางบริษัทฯ จะชี้แจงแก่ลูกค้าอีกครั้งเพื่อให้เป็นตามข้อปฏิบัติทางกฎหมาย โดยลูกค้าผู้ใช้บริการสามารถติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าผ่านทางเว็บไซต์ www.flashexpress.co.th และแอพพลิเคชั่นแฟลช เอ็กซ์เพรส
ท้ายนี้บริษัทฯ ขอยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการจัดการพัสดุที่คงค้างภายในศูนย์กระจายพัสดุสาขาวังน้อยเพื่อนำส่งไปยังผู้รับปลายทางภายใน 7-10 วัน ภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้รับการอนุญาตให้กลับเข้าไปทำงานในพื้นที่จากคณะกรรมการควบคุมโรค