'สุภิญญา' ออกโรงจี้ 'ดีอีเอส-กสทช.' ให้เน็ตฟรีเด็กเรียนออนไลน์

'สุภิญญา' ออกโรงจี้ 'ดีอีเอส-กสทช.' ให้เน็ตฟรีเด็กเรียนออนไลน์

ย้ำต้องทำให้เป็น 'วาระแห่งชาติ' หลังมีเด็กนักเรียนหลุดวงโคจรการศึกษาสูงลิ่ว 72% เพราะไม่มีสตางค์เติมเงินในมือถือ

"อดีตบอร์ดกสทช." ทวีตเดือดกระทุ้งการทำหน้าที่ "กระทรวงดีอีเอส-กสทช." ชี้ต้องให้บรอดแบนด์ฟรีแก่ภาคการศึกษา อุดรูรั่ว อย่าให้เด็กถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แนะถ้าทำได้ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตบอร์ด กสทช. ทวีตข้อความผ่านทาง ทวิตเตอร์ ว่า ขอ calling กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า วาระแห่งชาติยามนี้ควรเป็นเรื่องผลักดัน #Broadband for All หาอินเทอร์เน็ตเน็ตและอุปกรณ์ให้ เด็กๆนักเรียน หรือนักศึกษาให้ได้เรียนออนไลน์ 100% เพราะปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากตกขบวนเรียนไม่ได้ถึง 72% ของผู้ใช้โทรคมนาคมเป็นแบบเติมเงิน ไม่เพียงพอที่จะเรียนหลายชั่วโมง


ดังนั้น สำนักงานกสทช. และ กระทรวงดีอีเอส ควรเร่งภารกิจเปลี่ยน Who have NOT เป็น Who have Net ประเทศวิกฤติมากแล้ว ควรช่วยกันอุดรูรั่ว อย่าปล่อยให้ชะตากรรมของเด็กๆถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เด็กส่วนมากเรียนออนไลน์ไม่ได้ เป็นงานของกสทช และกระทรวงดีอีเอส ต้องจับมือช่วยกันกับภาคเอกชนและกระทรวงศึกษาธิการแก้ปัญหาดังกล่าว

สิ่งที่ควรดำเนินการ คือ เร่งทำมาตรการเยียวยา ไม่ให้ค่ายมือถือตัดสัญญาณถ้าไม่มีเงินเติมในช่วงนี้ เพราะเขาเหล่านั้นจะได้โทรขอความข่วยเหลือต่างๆ ได้ รวมทั้งการคุยกับเอกชนให้ บริการซิมเรียนฟรีร่วมกับกระทรวงศึกษา หรือ ทำบริการไวไฟในพื้นที่ชุมชน ที่คนอาศัยแออัดหนาแน่น ช่วยหาอุปกรณ์การเรียน และอื่นๆ

"การแจกจ่ายข้าวสาร อาหารนั้น ประชาชนทั่วไปทำอาหาร บริจาคช่วยกันเองได้ แต่จะให้ประชาชนซื้อซิม สร้างเน็ตช่วยกันเองมันทำยาก มันเป็นนโยบายสาธารณะ เป็นภารกิจภาครัฐโดยตรงต้องคิดทำเร่งด่วน โดยเฉพาะกระทรวงดีอี และ กสทช ที่มีภารกิจโดยตรง"


นางสาวสุภิญญา ระบุด้วยว่า หลายประเทศมี มาตรการเยียวยาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ไอซีทีสารสนเทศให้กับประชาชนที่ต้องทำงาน เรียนออนไลน์ ซึ่ฝทำให้ ประเด็นลดความเหลื่อมล้ำดิจิทัลเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว

"สาเหตุ ที่ต้องพูดเรื่องนี้เพราะมีคนมาถามเราว่าในฐานะอดีต กสทช. จะทำอะไรได้บ้างไหม เราก็เสนอแนะไปหลายเรื่อง ฝากตรงไปยังคนใน กสทช. แล้วด้วย และขอฝากต่อกระทรวงดีอีเอสด้วยว่าควรมาให้ความสำคัญเรื่องนี้ ทำให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ระยะยาวฝากรัฐสภา ช่วยผลักด้วย"

ส่วนประเด็นอะไรคือข่าวปลอม (เฟค นิวส์) กันแน่ ส่วนตัวจะพยายามไม่ใช้คำนี้ เพราะมันเป็นคำที่ผู้มีอำนาจใช้ดิสเครดิตข่าวที่ตนเองไม่ชอบ แต่ทางแก้ต้องลองดูประเทศที่เจอปัญหาเรื่องนี้เยอะแต่รับมือได้ดีระดับนึงเช่นในอังกฤษ ประเด็นคือ เราต้องแยกว่า อะไรคือข้อเท็จจริงที่มีถูก ผิด ฟันธงได้ชัดเจนตามหลักฐาน แล้วหาข้อยุติในสังคมหรือหรือที่ศาล อะไรคือความคิดเห็น ความรู้สึก ความเชื่อ ที่รัฐธรรมนูญรองรับเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ไม่ควรนำมาปนกัน คนรับสารก็ต้องแยกว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือความเห็น

ประเด็นสำคัญคือการแก้ปัญหาข้อมูลข่าวสารยุคดิจิทัล ต้องใช้ข้อเท็จจริงเข้าสู้ ในพื้นที่เปิด เพื่อหาความจริงร่วม การใช้อำนาจปิดกั้นการแสดงออก ไม่เคยช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นในทุกรัฐบาล ที่ผ่านมา แต่ยิ่ง backfired หรือ วิกฤติศรัทธาบานปลาย