'ไทย' ส่งมอบ 'หนังสือความรู้ดาราศาสตร์' ภาษาลาว 8,000 เล่ม

'ไทย' ส่งมอบ 'หนังสือความรู้ดาราศาสตร์' ภาษาลาว 8,000 เล่ม

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ส่งมอบหนังสือความรู้ดาราศาสตร์ภาษาลาว 8,000 เล่ม แก่กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว หวังสร้างความตระหนักด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ในสปป.ลาว เสริมสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

162703217081

โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีมอบหนังสือความรู้ดาราศาสตร์ภาษาลาว 8,000 เล่ม จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) แก่กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว มีรองศาสตราจารย์ ปริญญาเอก พุทธ ซิมมาลาวงษ์ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว เป็นผู้แทนรับมอบ

ด้าน ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย (ปัจจุบันเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) และ สปป.ลาว ได้ลงนามความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557  มีดาราศาสตร์เป็นหนึ่งในสาขาภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ตลอดระยะเวลา 7 ที่ผ่านมา สดร. ได้ร่วมหารือ และดำเนินการพัฒนาดาราศาสตร์ร่วมกับ สปป.ลาว อย่างใกล้ชิด อาทิ การจัดอบรมครูดาราศาสตร์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรทั้งสองหน่วยงาน มอบกล้องโทรทรรศน์แบบดอปโซเนียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว จำนวน 3 ชุด การอบรมดาราศาสตร์และการดูดาวเบื้องต้น เป็นต้น

สำหรับความร่วมมือล่าสุดที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ สดร. ร่วมกับ ทีมงานห้องการสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว นำหนังสือความรู้ดาราศาสตร์ฉบับภาษาไทย จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ ระบบสุริยะ ดาวหาง หลุมดำ และการค้นพบด้านแสง มาจัดทำเป็นภาษาลาว จัดพิมพ์โดย สดร. จำนวน 8,000 เล่ม เพื่อมอบแก่ สปป.ลาว สำหรับจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนของ สปป. ลาว ให้สามารถเรียนรู้ดาราศาสตร์อย่างเข้าใจ ปราศจากอุปสรรคทางภาษา ในอนาคต สดร. ยังมีแผนจัดทำสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์เป็นภาษาลาวเพิ่มเติม อาทิ แผนที่ดาว หนังสือความรู้ดาราศาสตร์เรื่องอื่น ๆ ฯลฯ

นอกจากนี้ สดร. ยังสนับสนุน และให้คำปรึกษาการสร้าง “ท้องฟ้าจำลองและหอดูดาวสำหรับประชาชนแห่งแรกใน สปป. ลาวตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง รวมถึงจัดอบรมบุคลากรที่จะปฏิบัติงานในสถานที่ดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ภายในปี พ.ศ. 2564  

ความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ สปป.ลาว เหล่านี้จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างความตระหนักด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืน สร้างแรงบันดาลใจใฝ่รู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน สร้างบุคลากรและกำลังคนที่จะช่วยพัฒนาทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค ยกระดับวงการดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เจริญรุดหน้ามากยิ่งขึ้น ดร. ศรัณย์ กล่าวปิดท้าย