‘เต็ดตราแพ้ค’ เผยข้อมูลเชิงลึก ‘เทรนด์ดิพิเดีย’ ฟันธงพฤติกรรมผู้บริโภค!
เต็ดตรา แพ้ค ในฐานะผู้นำเสนอโซลูชั่นการแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารชั้นนำของโลก เผยรายงาน “เทรนด์ดิพิเดีย” ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นการศึกษาที่เจาะกลุ่มเป้าหมายของเทรนด์ผู้บริโภค เผยผลกระทบที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ส่งผลต่อความวิตกกังวลของผู้บริโภค
นายสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในโลกที่ “ความไม่ปกติ” คือ ความปกติใหม่ หรือ “No Normal” is New Normal สถานการณ์การแพร่ระบาดยังทำให้เทรนด์ที่สำคัญในตลาดถูกจัดวางลำดับใหม่อีกด้วย โดยพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบการใช้จ่ายกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ผู้บริโภค 57% มองว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเพียงแต่ต้องใช้เวลา 1 ปีขึ้นไป ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลค่อนข้างมองในแง่ดี แต่มองในความระมัดระวัง ส่วน56% พยายามหลีกเลี่ยงการจับกลุ่ม หรือสถานที่แออัด และอีก 74% สามารถใช้ระบบออนไลน์ได้มากขึ้น
ดังนั้นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจึงจำเป็นต้องมีความคล่องตัวมากพอที่จะเข้าถึงผู้บริโภคที่มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างสรรค์เทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องที่จะสามารถรับมือกับความท้าทายที่แท้จริงได้
นั่นคือ เรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยทางอาหาร โดย ‘เทรนด์ดิพิเดีย’ ของเต็ดตรา แพ้ค ได้ระบุถึงเทรนด์หลัก 8 เรื่องสำหรับปี 2564 นี้ ได้แก่ 1.สุขภาพคือเรื่องแรก (Health First) ซึ่งมีความชัดเจนมาอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เมื่อสุขภาพร่างกายและจิตใจกำลังกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริโภค ผู้คนจึงต่างมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินเสริมหรือคุณค่าทางโภชนาการเฉพาะด้านเพื่อบำรุงสุขภาพและความสุขของตนเอง
โดยอาหารที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและวิตามินดีกำลังเป็นที่นิยม เช่นเดียวกับอาหารที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตใจ ทั้งนี้ในผลกระทบนั้นผู้บริโภคต้องการหาอาหาร เครื่องดื่มที่เข้ามาตอบโจทย์การพัฒนาร่างกาย อาทิ 62% ของคนอินเดียได้มีการใส่ใจในการบริโภคอาหาร ผลไม้ ซึ่งทั้งหมอนี้เพื่อให้สุขภาพถูกพัฒนาไปในทิศทางที่ถูก
2.การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Consumption) ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับโลก ผู้คน และชุมชน ดังนั้นแง่การทำธุรกิจขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) จะมีความสำคัญระบุถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับโลก ผู้คน และชุมชน เมื่อการใส่ใจต่อสังคมมีความสำคัญมากขึ้นต่อความสำเร็จทางธุรกิจ แบรนด์ต่าง ๆ จึงได้สร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องในเรื่องนี้เพื่อเพิ่มความโปร่งใสของผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และผลกระทบทางสังคม โดยผลิตภัณฑ์อาหารได้รับการคาดหวังให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และไม่สร้างขยะ ในขณะที่บรรจุภัณฑ์จะต้องติดฉลากข้อมูลอย่างชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย
3.ความสะดวกสบายภายในบ้าน (Convenience In-Home) ซึ่งต้องยอมรับว่าความสะดวกสบายของชีวิตประจำวันภายในบ้าน ทั้งการทำอาหารและความต้องการที่จะบริโภคเมื่อไหร่ก็ได้นั้น กลายเป็นความนิยมมากขึ้นในโลกที่ผู้คนถูกกำหนดให้ทำงานที่บ้านในระยะยาว ผู้บริโภคซื้อหาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มและชำระเงินผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการแบบอัตโนมัติและไร้การสัมผัส อาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูปและปรุงสำเร็จพร้อมบรรจุภัณฑ์อาหารที่พัฒนาขึ้นสำหรับการจัดเก็บในบ้าน แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้นในการสนองตอบความต้องการความสะดวกสบายที่มากยิ่งขึ้นด้วย
4.ประสบการณ์อาหารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Food Experience) เมื่อชีวิตเปลี่ยนเข้าสู่ระบบออนไลน์และข้อมูลเสมือนจริงเริ่มกลายเป็นความเป็นจริงรูปแบบใหม่ที่ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องของความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอาหารและเครื่องดื่มด้วย ตัวอย่างของเทรนด์เรื่องนี้คือการสแกนคิวอาร์โค้ด ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหาร ที่จะมอบโอกาสในการมีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมด้านอาหารเมื่อถูกจำกัดการเดินทางและท่องเที่ยว
“แพลตฟอร์มออนไลน์สามารถมาแทนที่ประสบการณ์การรับสื่อดั้งเดิมได้ ดังนั้นผู้คนเริ่มตระหนัก ในมุมของโอกาสจะต้องเน้นรูป รส กลิ่น สี มากขึ้น เสริมประสบการณ์โดยใช้ VR/AR ประสบการณ์ครบรูปแบบมากขึ้น เพื่อเปิดโลกทรรศน์การรับประทานอาหาร เครื่องดื่มที่มีมุมมองมากขึ้น”
5.การเชื่อมสัมพันธ์ทางสังคม (Social Reconnect) ต่อให้มีล็อกดาวน์แต่การเชื่อมความสัมพันธ์ยังคงมี เพราะฉะนั้นในแง่ของผู้ผลิตอาหารต้องทำให้อาหาร และเครื่องดื่มเข้าไปอยู่ในความคิดของผู้บริโภค
6.ต้นกำเนิดและแหล่งที่มา (Heritage and Provenance) โควิดเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจ local food มากขึ้น
7.ความดื่มด่ำที่ตั้งใจ (Intentional indulgence) 70% ของผู้บริโภคบริโภคขนมหวานมากขึ้น ของกิน ของใช้ การให้รางวัลตนเองยังคงมีอยู่ ดังนั้นต้องหาโมเม้นท์ให้เจอ อาทิ สแน็ค ส่วนบรรจุภัณฑ์จะต้องมีความพรีเมี่ยม สนุก และน่าสนใจ
8.ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) การเข้าใจข้อมูลส่วนบุคคลจะทำให้รู้จักพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้สามารถสร้างสรรค์โปรดักท์และบรรจุภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้น
“เทรนด์ผู้บริโภคมีความสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาและวิเคราะห์ตลาด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่วุ่นวายเช่นนี้ เทรนด์คือการแสดงออกถึงความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ที่มาจากแรงกระตุ้นของความต้องการและความปรารถนาสิ่งต่างๆ ซึ่งเทรนด์ที่เกิดขึ้นในวันนี้อาจเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาขึ้นไปอีกในอนาคต ซึ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมผู้บริโภครูปแบบใหม่ในตลอดหลายๆ ปีที่ผ่านมา รายงาน เทรนด์ดิพิเดียของเต็ดตรา แพ้ค จะช่วยให้ธุรกิจสามารถมองเทรนด์ในเรื่องเหล่านี้ในรูปแบบของโอกาสเพื่อการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สำหรับผู้บริโภคต่อไป”