‘ฮาโลเจน’ สเปซเทคเจนซี ส่งบอลลูนสำรวจอวกาศ

‘ฮาโลเจน’ สเปซเทคเจนซี ส่งบอลลูนสำรวจอวกาศ

“ฮาโลเจน (Halogen)” สตาร์ทอัพสายอวกาศ ผู้พัฒนา “High Altitude Balloon Platform - HABP” บอลลูนที่จะนำอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ (payload) เพื่อการศึกษาวิจัยและการสำรวจ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ ระดับความสูง 15-50 กิโลเมตร 

“ฮาโลเจน (Halogen)” ชื่อทีมสตาร์ทอัพสายอวกาศ มีจุดเริ่มต้นจากความหลงใหลในอวกาศของสมาชิกทั้งห้าคน เมื่อครั้งที่เรียนอยู่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และสาธิต มศว ประทุมวรรณ ในขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทั้งยังเคยมีประสบการณ์ทำการทดลองในอวกาศ ไปจนถึงการสร้างและควบคุมดาวเทียม

เช่น BCC Space Program ที่สอนให้นักเรียนสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก 1U (Unit) สำหรับทำภารกิจถ่ายภาพเพื่อการสำรวจ โดยส่งเข้าสู่วงโคจรเมื่อ 22 มี.ค.2564 ไปจนถึงโครงการงานวิจัยด้านพันธุวิศวกรรมในอวกาศ MESSE ที่ผสมผสานศาสตร์และศิลป์หลายด้านเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

การที่คนไทยส่วนใหญ่ยังคิดว่าเทคโนโลยีอวกาศเป็นเรื่องไกลตัว ประกอบกับปัญหาใหญ่ที่อุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยกำลังเผชิญคือ การขาดแคลนกลุ่มลูกค้าและบุคลากร เพราะคิดว่าการทำอะไรที่เกี่ยวกับอวกาศจำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล และผลที่ได้ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ลงทุนไป จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา “High Altitude Balloon Platform - HABP” เพื่อที่จะทำให้เทคโนโลยีและการทำงานด้านอวกาศเหล่านี้มีราคาถูกลงและสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ส่ง ‘แฮปปี้’ สำรวจอวกาศ

ชวัลวัฒน์ มาตรคำจันทร์ ในฐานะซีทีโอฮาโลเจน ปัจจุบันเป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมนาโน นานาชาติ จุฬาฯ และประธานนักเรียนขององค์กร UNISEC Thailand ที่ทำเกี่ยวกับการให้ความรู้และจัดอบรมด้านวิศวกรรมอวกาศทั่วโลก กล่าวว่า HABP (แฮปปี้) เป็นบอลลูนที่จะนำอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ (payload) เพื่อการศึกษาวิจัยและการสำรวจ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ ระดับความสูง 15-50 กิโลเมตร 

แพลตฟอร์มนี้จะทำให้ลูกค้าสามารถทำการทดลอง วิจัย พัฒนา หรือตรวจสอบประสิทธิภาพในการทำงานของดาวเทียม อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ได้ในราคาที่ถูกกว่าการใช้จรวดเป็นอย่างมาก ทำให้ทุกภาคส่วน อาทิ โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือบริษัทเอกชน ก็สามารถเข้าถึงนวัตกรรมอวกาศได้ง่ายขึ้น

หนึ่งในเทคโนโลยีหลักของ HABP คือระบบ Automatic Guidance Decent System (AGDS) ซึ่งเป็นระบบควบคุมทิศทางการตกของ payload หลังจากที่บอลลูนแตกออกให้ไปตกลงที่ที่สามารถเข้าไปเก็บกู้ได้ง่าย และไม่เป็นอันตรายต่อชุมชนหรือสิ่งมีชีวิตต่างๆในพื้นที่ใกล้เคียงแบบอัตโนมัติ โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยยกระดับความปลอดภัยของภารกิจขึ้นเป็นอย่างมาก

สำหรับเหตุผลที่ว่าทำไมต้องเป็นบอลลูน เขาเล่าว่า ถ้าให้เปรียบเทียบแพลตฟอร์มที่เกี่ยวกับอวกาศระหว่าง cansat บอลลูน และจรวด โดยที่ cansat จะมีระบบคล้ายกับดาวเทียมและราคาต่ำ แต่ว่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องของความสูงที่ไม่ใกล้เคียงกับอวกาศ จรวดที่สามารถไปได้ถึงอวกาศต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล และสิ้นเปลืองทรัพยากรเป็นอย่างมาก แต่ตัดมาที่บอลลูนสามารถลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับอวกาศและใช้เงินทุนไม่สูงเกินไป

พังเกราะราคา-การศึกษา

ชวัลวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอวกาศได้กลายมาเป็นจุดสนใจของนักลงทุนและผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะในโซนยุโรปและอเมริกา ทำให้มีเงินและเทคโนโลยีจำนวนมากที่ไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ แต่ไทยกลับไม่มีการพูดถึงด้วยเหตุผลของราคาที่สูง มีเพียงภาครัฐและภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่เข้าถึงได้ ขณะที่การศึกษาไทยไม่ได้ให้ความสำคัญด้านอวกาศมากนัก 

HABP จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยมี 3 ขั้นตอนดำเนินการหลัก 1.ขั้นออกแบบและพัฒนา โดยจะร่วมกับลูกค้าออกแบบตัวภารกิจหรือ payload ร่วมกับการประเมินราคาและวางแผนงานที่เกี่ยวข้อง 2.ขั้นดำเนินการ โดยส่งบอลลูนขึ้นไปพร้อมกับ payload ที่ความสูงประมาณ 35 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล และ 3. การเก็บกู้อุปกรณ์หลังจากสิ้นสุดภารกิจ และนำมาพัฒนาต่อเพื่อทำการทดลองครั้งใหม่ หรือสรุปผลในโครงการนั้น ๆ

“ทั้งนี้ ฮาโลเจนจะเน้นไปที่การให้ความรู้ คำแนะนำ เพื่อทำให้ลูกค้ามีความรู้สามารถในการออกแบบ payload ได้ตามต้องการ ทำให้บริการของฮาโลเจนเหมาะต่อการนำมาใช้ในการศึกษาโดยตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น หน่วยงานด้านการศึกษา อาทิ โรงเรียน สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย ฯลฯ หน่วยงานอื่น ๆ อาทิ หน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ที่ต้องการจะทดสอบโปรดักท์ต่างๆที่จะนำไปใช้ในอวกาศในอนาคต”

เตรียมทยานสู่ห้วงอวกาศ

ไทม์ไลน์ของทีมงานในช่วงปีแรก จะเน้นการวิจัยพัฒนาต้นแบบของ HABP เพื่อให้ทำงานได้ตามที่ทีมวิจัยต้องการ คาดว่าไม่เกินปี 2565 จะสามารถทำการทดสอบจริงได้ หากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศทุเลาลง และในปีที่สองจึงจะเริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ และในระยะเวลา 5 ปี ทีมงานต้องการที่จะพัฒนาเพื่อที่จะนำ HABP มาใช้ส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรในห้วงอวกาศอีกด้วย

ข้อได้เปรียบสำคัญอย่างหนึ่งของฮาโลเจน คือ ไม่มีคู่แข่งในเซกเมนต์เดียวกัน สำหรับในไทย และในระดับโลกก็ยังมีไม่มาก จึงทำให้รายได้หลักนั้นสามารถที่จะมาจากงานด้านการศึกษา, บริการให้คำปรึกษา, บริการส่งการทดลองต่างๆ ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศด้วย HABP, และการจำหน่ายเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์

ขณะนี้เงินทุนส่วนใหญ่ยังคงถูกวางแผนที่จะใช้ไปกับการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม และจะเริ่มทำกำไรได้ในปีที่ 2 เป็นต้นไป (J-Curve) ทางทีมงานตั้งเป้าที่จะทำกำไรให้ได้อย่างต่ำ 5 ล้านบาทภายในระยะเวลา 5 ปี

ทั้งนี้ ฮาโลเจน เป็น 1 ใน 10 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศจากโครงการ Space Economy: Lifting Off 2021 ที่่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สนับสนุนและส่งเสริมให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการทำเทคโนโลยี ระบบ หรือบริการด้านกิจการอวกาศสามารถต่อยอดสู่ธุรกิจจริง และสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจอวกาศโลกที่ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะพุ่งถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 20 ปีข้างหน้า

co-founder Halogen

นายศุภวิชญ์ เยี่ยมแสนสุข CEO

นายชวัลวัฒน์ มาตรคำจันทร์ CTO

นายปัณณ์ พัฒนกิจจารักษ์ CFO

นายพริษฐ์ ฉันทเตยานนท์ CDO

นายฌาณัฐย์ สิทธิปรีดานันท์ CMO