ส่องเส้นทางฝันคนรุ่นใหม่กับอาชีพ 'สตาร์ทอัพ' ที่ขับเคลื่อนด้วยไอเดีย

ส่องเส้นทางฝันคนรุ่นใหม่กับอาชีพ 'สตาร์ทอัพ' ที่ขับเคลื่อนด้วยไอเดีย

หากถามเยาวชน และคนรุ่นใหม่ว่าเรียนจบแล้วอยากเป็นอะไร แน่นอนว่าคำตอบส่วนใหญ่ที่ได้คงจะเป็น “ฟาวน์เดอร์ และสตาร์ทอัพ” เนื่องจากมีความยืดหยุ่น สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่อยู่รอบตัวขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างง่ายดาย และไม่ต้องอยู่ในกรอบแนวคิดแบบเดิม

เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า

เพื่อพิสูจน์ความเจ๋งและพลังไอเดียของคนรุ่นใหม่ วันนี้ “เอ็นไอเอจึงอาสาพาไปพูดคุยกับ 3 คนรุ่นใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมจาก “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หน่วยงานที่สนับสนุนการทำธุรกิจนวัตกรรมให้กับคนในทุกระดับ ขอบอกเลยว่าไม่เพียงแต่จะมีแนวคิดที่เจ๋งเท่านั้น แต่วันนี้พวกเขายังสามารถสานฝันตนเองสู่เส้นทางสตาร์ทอัพได้จริง และพร้อมที่ตกผลึกสิ่งดี ๆ เหล่านี้ออกสู่สังคมอีกด้วย

เริ่มกันที่ต้นกล้าต้นแรก อย่าง นางสาวนัฐสุนันท์ ไชยเทพ อายุ 24 ปี กรรมการผู้จัดการวิชาสหกิจชุมชน Paepo: ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์จากโปรตีนพืช (Paepo Meat) เล่าว่า ตนเรียนในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาล และเริ่มมีความคิดที่อยากจะเป็นผู้ประกอบการหลังจากที่เรียนจบแล้ว จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจนั้นมาจากการมองหาโอกาสที่อยู่รอบตัว ซึ่งพบว่าจังหวัดนราธิวาสมี “ถั่วหรั่ง” จำนวนมาก จึงได้ปรึกษากับอาจารย์ในคณะว่าจะสามารถนำถั่วหรั่งมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไรบ้าง 

และเมื่อหาข้อมูลก็พบว่าแพลนต์เบสกำลังเป็นที่นิยมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และแนวโน้มตลาดก็มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การทำเนื้อแพลนต์เบสจึงกลายเป็นตัวเลือกอันดับ 1 ของทีม เพราะสามารถนำถั่วหรั่งมาเป็นส่วนประกอบหลักได้ ซึ่งหากผลิตเนื้อจากถั่วหรั่งได้สำเร็จจะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

จึงเริ่มเข้าร่วมโครงการอบรมเยาวชนรุ่นใหม่ และโครงการ Deep South Innovation ซึ่งเป็นหลักสูตรการจัดการธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กับทาง เอ็นไอเอ โดยโมเดลธุรกิจการทำเนื้อสัตว์จากถั่วหรั่งก็ได้ผ่านเข้ารอบและได้รับทุนสนับสนุนจากทาง เอ็นไอเอ หลังจากนั้นทางทีมจึงได้มีการทดลองทำเนื้อจากถั่วหรั่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการทดสอบทุกขั้นตอนเรียบร้อยไปกว่า 80% โดยวางเป้าหมายว่าจะเริ่มทดลองจำหน่ายในช่วงปลายปีนี้

ต้นกล้าผู้ต้องการพลิกโฉมไอโอที

ตามมาด้วยต้นกล้าต้นที่สอง อย่าง นายธนโชติ วงษ์เกิด อายุ 23 ปี ผู้ร่วมก่อตั้ง FutureFarm agriculture innovation เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจอยากลองทำนวัตกรรมและลองเป็นสตาร์ทอัพมาจากที่ตนได้คลุกคลีอยู่ในวงการด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย และได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเยาวชนกับทาง เอ็นไอเอ อย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างที่เข้าร่วมโครงการทำให้เข้าถึงความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ และมีโอกาสทำความรู้จักกับคนที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ

ประกอบกับตนเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ และผ่านการฝึกงานกับสตาร์ทอัพที่ให้บริการด้านเทคโนโลยี ทำให้สนใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานของเทคโนโลยี Iot หลังจากนั้นจึงเริ่มหาข้อมูลและพบว่า Iot เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเติบโตสูงมากและยังสามารแก้ไขปัญหาที่คนไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะการนำมาใช้ในการทำเกษตรกรรม สำหรับจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากลองนำเอาเทคโนโลยี Iot เข้ามาให้ในการทำเกษตรมาจากปัญหาของเกษตรกรที่ทำฟาร์มเห็ดญี่ปุ่นในพื้นที่ต่างจังหวัด

ซึ่งส่วนมากพบว่า เกษตรกรไม่สามารถควบคุมอุณภูมิที่เหมาะสมในโรงเรือนเพาะเห็ดได้ ส่งผลให้ผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงเริ่มคิดค้นการทำโรงเรือนเพาะเห็ดแบบเคลื่อนที่ โดยภายในมีระบบการควบคุมอุณหภูมิที่ใช้ระบบ Iot เป็นเทคโนโลยีหลัก เพื่อควบคุมสภาพอากาศให้เหมาะสมแก่การเติบโตของเห็ด ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มทดลองกับฟาร์มเห็ดญี่ปุ่นของเกษตรกรในพื้นที่จ.สุรินทร์ และพบว่าสามารถลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างดี เกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตได้ในปริมาณที่มากขึ้น

เพราะ 'หุ่นยนต์' ไม่ได้มีดีแค่บังคับ

และต้นกล้าต้นสุดท้าย อย่าง นายธีรธัช เจียระผกานนท์ อายุ 17 ปี เจ้าของโครงการ Volta หุ่นยนต์ ยานพาหนะตรวจตราอัจฉริยะสำหรับการจับกุ้ง เล่าว่า ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และอยากหารายได้เสริมระหว่างที่เรียนอยู่ จึงมีความสนใจที่จะพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อทุ่นแรงเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้ง ดังนั้น จึงได้เริ่มปรึกษาอาจารย์ว่ามีแนวคิดที่อยากลองทำหุ่นยนต์จับกุ้งและปู เพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสามารถจับกุ้งได้ครั้งละมาก ๆ และลดปัญหาที่เกษตรกรต้องใช้เวลานานในการจับกุ้งแต่ละบ่อ

อาจารย์จึงแนะนำให้เข้าร่วมโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (Youth Startup Fund) กับเอ็นไอเอและได้รับทุนสนับสนุนในขั้นตอนการนำเสนอไอเดีย สำหรับพัฒนาหุ่นยนต์ Volta ให้กลายมาเป็นผู้ช่วยเกษตรกรฟาร์มกุ้งในอนาคต โดยหุ่นยนต์นี้จะเข้ามาแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานคนในการจับกุ้ง ซึ่งแต่ละครั้งต้องใช้คนจำนวนมากและใช้เวลานาน

โดยระบบการทำงานของหุ่นยนต์จะมีลักษณะเหมือนแขนมนุษย์ แต่สามารถจับกุ้งได้จำนวนมากในคราวเดียว ขณะนี้มีการทดลองกับบ่อเลี้ยงกุ้งในโรงเรียนอยู่ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตหากตนและทีมทำสำเร็จจะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรฟาร์มกุ้งและฟาร์มปูได้อย่างดี

จึงสรุปได้ว่าหลายปีที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า "คนรุ่นใหม่คือพลังทางนวัตกรรม พลวัตทางเศรษฐกิจ และเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนสังคม" จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น และควรที่จะสนับสนุนแนวความคิดที่แปลกใหม่ แตกต่าง เพื่อสร้างอนาคตให้กับพวกเขาเหล่านั้น รวมถึงอนาคตของทุก ๆ คน