เปิดเบื้องลึก ค้นประวัติ 7 อรหันต์ กสทช-การเมืองบีบ เสธ.ไก่อู-ฐากร ร่วง
ค้นประวัติ 7 อรหันต์ กสทช. ก่อนเสนอที่ประชุม วุฒิสภาลงมติ สมัยประชุมหน้า 1 พฤศจิกายน 2564 ขณะที่ วงในเชื่อ "การเมือง" บีบตัวเต็ง "ไก่อู - ฐากร" ร่วง
เปิดประวัติ 7 อรหันต์ กสทช. ฝ่าด่านคุณสมบัติเข้ม คนดังหลุดโผ โดยเฉพาะ เสธ.ไก่อู อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขา กสทช.
"กรุงเทพธุรกิจ" ได้รวบรวม ประวัติของทั้ง 7 อรหันต์ ไว้ดังนี้ :
1.นายศุภัช ศุภชลาศัย
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ทางวิชาการ
รองศาสตราจารย์ ดร.
และดำรงตำแหน่ง ทางบริหาร ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณวุฒิการศึกษา
ปี 2532 ปริญญาเอก เศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
ปี 2529 ปริญญาโท เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
ปี 2523 ปริญญาโท เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ปี 2520 เศรษฐศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ,ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ,กรรมการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับต่างประเทศ ,ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ,ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า
2.ร้อยโท ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (นบ.) จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท (Master of Laws) จาก The University of Auckland ประเทศนิวซีแลนด์ และปริญญาเอก (Doctor of Philosophy) ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีสารสนเทศ จาก The University of Southampton ประเทศอังกฤษ โดยเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทย (ทุน ก.พ.) (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย)
ร้อยโท ธนกฤษฏ์ฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (ซึ่งครอบคลุมด้านลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ความลับทางการค้า และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์)
มีประวัติการทำงานในหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง เช่น ดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการสำนักเครื่องหมายการค้า หัวหน้ากลุ่มงานจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ (เป็นผู้วางระบบการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศของไทย) หัวหน้ากลุ่มงานความร่วมมืออาเซียน เอเปค และจีน ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา เข้าร่วมคณะทำงานเจรจา FTA ไทย-อินเดีย และ WTO ขณะดำรงตำแหน่งนักวิชาการพาณิชย์ ณ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และมีประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ โดยดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ ณ กรุงบรัสเซลส์ รับผิดชอบภาพรวมนโยบายด้านการค้าของไทยกับสหภาพยุโรป
3.รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช. หมอโรคหัวใจชื่อดัง รพ.รามาธิบดี จบการศึกษาสาขาอายุรศาสตร์, สหรัฐอเมริกา สาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด, สหรัฐอเมริกา สาขาอายรศาสตร์โรคหัวใจ, ประเทศไทย และเคยได้เสนอชื่อนั่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในสมัยครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีเมื่อสมัยเป็นคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2558
4.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ การศึกษา ครุศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เคยเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติในชุดนางสาว สุภิญญา กลางณรงค์ ตำแหน่ง ที่ปรึกษา
ประสบการณ์ที่สำคัญ ประธานคณะกรรมการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์โทรคมนาคมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติคณะทำงานกิจการกระจายเสียงบริการชุมชน ในคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามบทเฉพาะกาลแห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 (2551-2554)คณะทำงาน/ประธานคณะทำงานด้านไม่ใช้คลื่นความถี่กิจการกระจายเสียงบริการชุมชนในคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามบทเฉพาะกาลแห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 (2551-2554)
5.นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม ตามมติบอร์ดเมื่อวันที่21 มี.ค.2555
ประวัติการศึกษา ปริญญาโทบริหารธุรกิจ (Finance และ Entrepreneurial Management) The Wharton School, University of Pennsylvania สหรัฐอเมริกา ปี 2535 , ปริญญาโทวิทยาศาสตร์ (Industrial Engineering) The University of Texas at Arlington สหรัฐอเมริกา ปี 2532, ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (Electronics)สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ประสบการณ์ทำงาน ปี 2553 Investment Director Thai Prosperity Advisory Co.,Ltd. ปี 2551 – 2552 กรรมการ/ กรรมการตรวจสอบ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ปี 2548 – 2550 รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ปี 2547 – 2548 Executive Director, Financial Advisory Services บริษัท ALTUS ADVISORY ปี 2545–2546 Regional Manager, Asia Pacific บริษัท AT&T
ปี 2543 Summer Associate SAFEGUARD INTERNATIONAL FUND,L.P สหรัฐอเมริกา ปี 2539 – 2541 :Associate Director, Corporate Finance Department บริษัท SOCGEN SECURITIES ปี2538 ผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ แอสเซท พลัส จำกัด (มหาชน)
6.ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต
ตำแหน่ง : ศาสตราจารย์ ประวัติการศึกษา Ph.D. (Communication Studies) Simon Fraser University Canada M.A. (Communication) University of Hawaii at Manoa U.S.A. อ.บ. (ภาษาอังกฤษ) (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติการทำงาน
อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ 2535-ปัจจุบัน
รองอธิการบดีด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล 2559-2563
หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ 2549-2553, 2557-2559
รองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ 2553-2555
งานวิจัยสำคัญ
-การกำกับดูแลเนื้อหาของสื่อใหม่ (New Media). ภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยการปฏิรูปสื่อ” ของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
-การกำกับดูแลเนื้อหาของสื่อหนังสือพิมพ์. ภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยการปฏิรูปสื่อ” ของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
-การกำกับดูแลเนื้อหาของสื่อวิทยุ โทรทัศน์. ภายใต้ “โครงการศึกษาวิจัยการปฏิรูปสื่อ” ของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
7.พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค ซึ่งพล.อ.ท.ธนพันธุ์ รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพทำหน้าที่การอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ปรับปรุงภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพิ่มเติมแล้ว และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบเวลาการดำเนินการประมูลฯ โดยกำหนดวันที่ 28 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายแล้วบอร์ดกสทช.ซึ่งเป็นชุดรักษาการลงมติเลื่อนการประมูลออกไปก่อน เนื่องจากมีบมจ.ไทยคม เพียงแค่บริษัทเดียวเข้ายื่นประมูล อีกทั้ง เพื่อความเหมาะสมจำเป็นต้องรอให้บอร์ดกสทช.ตัวจริงที่อยู่ระหว่างการสรรหามาดำเนินการแทน
สำหรับขั้นตอนต่อไป กรรมการสรรหาฯจะส่งรายชื่อให้วุฒิสภาพิจารณาและลงมติ ซึ่งจะต้องมีการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติของผู้ได้รับการสรรหาก่อนจจะให้ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติ ซึ่งพิจารณาตามกรอบเวลาแล้วน่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาในสมัยประชุมหน้าที่จะเปิดในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
"ไก่อู - ฐากร" ร่วงโผ คาดการเมืองบีบ
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่อนข้างพลิกล็อกพอสมควร เมื่อตัวเต็ง อย่างเช่น พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ “เสธ.ไก่อู” อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช. หลุดโผครั้งนี้ โดยมาจากการขาดคุณสมบัติ คือ ลาออกจากที่เดิมยังไม่ครบ 1 ปี เช่นเดียวกับ เสธ ไก่อู่ ก็ขัดคุณสมบัติข้อนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า "พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ" ที่ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 7 อรหันต์ ยังไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งเดิม ซึ่งปัจจุบันยังนั่งในตำแหน่ง รองเลขาธิการ กสทช. แต่ก็ยังผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ดังนั้นจึงอยู่ที่การพิจารณาของ วุฒิสภา มากกว่า และเชื่อว่า เบื้องลึกที่คนดังหลุดโผ น่าจะมาจาก "เกมการเมือง" !!!
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นเวลาเกือบ 9 ปี และ กสทช.มีสถานีวิทยุ 1 ปณ. อยู่ภายใต้การบริหารของสำนักงาน
ขณะที่ “เสธ.ไก่อู” ดำรงตำแหน่งเป็น อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ถือเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และมีสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 รวมทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค