จับตา อุตฯ ดาวเทียมไทย หลังปิดจ๊อบ!!! สัมปทาน "ไทยคม"
อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยถือว่าเข้าสู่ระบบเสรีอย่างเต็มตัว เมื่อทุกสัญญาสัมปทานทยอยสิ้นสุดลง เริ่มตั้งแต่สัมปทาน "ค่ายมือถือ" จากระบบอะนาล็อกมาถึงวันนี้เข้าสู่ยุค 5จี หลังจากที่มีการรับ "ไลเซ่นส์" จากกสทช. และได้มีการประมูลระบบ 3จีไปเมื่อ 9 ปีที่แล้ว
ล่าสุดระบบสัมปทานที่ยาวนานที่สุดในวงการคือ "สัมปทานดาวเทียม" ก็สิ้นสุดลงแล้วเป็นที่เรียบร้อยในวันนี้ 11 ก.ย. 2564 ถือว่าเป็นสัมปทานที่ยาวนานที่สุดคือมีอายุ 30 ปี ขณะที่สัมปทานค่ายมือถือมีอายุ 20-25 ปีเท่านั้น ผู้ที่ได้รับสัมปทานก็มีเพียงรายเดียวคือ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)
หากถามว่าภาพของอนาคตกิจการดาวเทียมไทยจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ถ้าให้ตอบชัดตอนนี้ก็คงยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากเมื่อมีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลง ย่อมจะต้องมีการประมูลเพื่อออกใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) สำหรับหาเจ้าภาพหรือเอกชนที่ชนะเข้ามาทำธุรกิจแข่งขันกันอย่างเสรี
แต่การประมูลดาวเทียมที่ "สำนักงานกสทช." หมายมั่นว่าจะจัดการประมูลให้ได้ก่อนสัมปทานไทยคมจบลงในวันนี้ ก็มีอันต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่กำหนด ด้วยสาเหตุหลัก 2 ข้อ คือ ผู้ที่ยื่นความจำนงขอประมูลก็มีเพียงบริษัทเอง เดาไม่ยากว่าเป็น "ไทยคม" และ 2.ขณะนี้การสรรหากสทช.ตัวจริง 7 คนได้รายชื่อแล้วรอเพียงเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาในการเปิดประชุมครั้งหน้า ดังนั้น หากกสทช.ขัดตาทัพชุดนี้ทำอะไรลงไปก็คงดูไม่เหมาะเท่าไรนัก
อุตฯเหลือดาวเทียมเสรี2ดวง
ที่ผ่านมาประเทศไทยดำเนินกิจการอวกาศผ่าน "ไทยคม" เพียงบริษัทเดียวให้บริการดาวเทียมทั้งหมด 8 ดวง ไล่ตั้งแต่ไทยคม 1 ไทยคม 2 ไทยคม 3 ไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ไทยคม 5 ไทยคม 6 ไทยคม 7 และ ไทยคม 8 แต่มาถึงวันนี้เหลือดาวเทียมที่ใช้งานได้จริงอยู่ 4 ดวงได้แก่ ไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ไทยคม 6 ไทยคม 7 และ ไทยคม 8 โดย 2 ดวงแรกไทยคมได้ส่งมอบคืนแก่รัฐเป็นที่เรียบร้อยตามสัมปทาน และอีก 2 ดวงหลังนี้ แม้จะมีข้อพิพาทกันว่าเป็นของดาวเทียมของรัฐเช่นกัน แต่ไทยคมอ้างว่าได้ยื่นขอใบอนุญาตแก่ไทยคม 7 และ ไทยคม 8 ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดสัมปทานลงดาวเทียม 2 ดวงดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของไทยคมต่อไป
โดยประเด็นดังกล่าวนี้จะสอดคล้องนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขากสทช. ที่ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุมกสทช.มีมติเห็นชอบให้ผู้ได้รับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และ/หรือ การอนุญาตให้ตั้งสถานีภาคพื้นดิน (Earth Stations) ทุกราย ที่ใช้งานร่วมกับดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 สามารถใช้คลื่นความถี่และตั้งสถานีภาคพื้นดินได้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น หรือ กสทช. จะกำหนดเป็นอย่างอื่น
พร้อมทั้งอนุญาตให้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม การอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และตั้งสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน
ธุรกิจดาวเทียมยังเป็นขาขึ้น
ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้กิจการดาวเทียมยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสร้างบริการและโอกาสธุรกิจใหม่ๆ จากเดิมที่บริการส่วนใหญ่มาจากดาวเทียมที่มีวงโคจรประจำ (Geostationary Satellite Orbit: GSO)
ในปัจจุบันแนวโน้มของโลกมุ่งไปสู่การลงทุนในบริการที่เกิดจากดาวเทียมแบบวงโคจรไม่ประจำที่ (Non-Geostationary Satellite Orbit: NGSO) เช่น ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) และดาวเทียมวงโคจรระยะปานกลาง (Medium Earth Orbit: MEO) ที่มีขนาดเล็กและสามารถส่งขึ้นไปบนฟ้าได้ครั้งละหลายพันดวง ดาวเทียมเหล่านี้สามารถให้บริการได้หลากหลาย เช่น การส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การส่งผ่านข้อมูลความเร็วสูง การส่งสัญญาณโทรทัศน์ด้วยเทคโนโลยีภาพที่คมชัดมากขึ้น รวมถึงการสำรวจ การนำทาง และการถ่ายภาพที่มีความชัดเจนในระดับสูงมาก
ในส่วนของประเทศไทยรัฐบาล (เคย) เตรียมพร้อมรับแนวโน้มใหม่นี้ ได้ผ่านความเห็นชอบ (ร่าง) แนวทางการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geostationary-Satellite Orbit : GSO) ตามที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบ เพื่อรักษาตำแหน่งวงโคจรและข่ายงานดาวเทียมของประเทศที่ชัดเจน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 60 ที่กำหนดให้ รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ
ดังนั้น กว่าที่โฉมหน้าของอุตสาหกรรมดาวเทียมจะเปลี่ยนโฉมก็น่าจะต้องรอให้ไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) สิ้นสุดอายุวิศวกรรมในอีก 2 ปี และไทยคม 6 สิ้นสุดอายุวิศวกรรมอีก 8 ปีต่อจากนี้ ก็น่าจะมีการขยับจากภาครัฐ เพราะในตอนนี้เอ็นทีจำเป็นต้องหาดาวเทียมดวงใหม่มาให้บริการ
ส่วนออฟชั่นจะเป็นการยิงดาวเทียมขึ้นไป ไปหาเช่าวงโคจรดาวเทียมของต่างชาติ หรือเปิดให้เอกชนที่มีความสามารถมาทำสัญญากันใหม่ ก็จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอีกระลอกหนึ่ง