"เอ็นเรส" ส่งไอโอที-เอไอ ปฏิวัติพลังงานในอาคาร

"เอ็นเรส" ส่งไอโอที-เอไอ ปฏิวัติพลังงานในอาคาร

จากประสบการณ์กว่า 10 ปี ในการให้คำปรึกษาและค้นคว้าวิจัยด้านพลังงาน พบว่า กิจการส่วนใหญ่มักเผชิญกับปัญหาต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงเกินความเป็นจริง "เอ็นเรส" ในฐานะสตาร์ทอัพด้านพลังงาน จึงปักหมุดส่งเทคโนโลยีไอโอที-เอไอ เพื่อเดินหน้าปฏิวัติด้านพลังงาน

ที่ผ่านมาต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของกิจการส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น อาคารขนาดใหญ่ โรงงาน ห้างสรรพสินค้า ที่สูงเกินความเป็นจริง เกิดจากการขาดข้อมูลในการบริหารจัดการอุปกรณ์ เครื่องจักร ทำให้มีพลังงานมากกว่า 30% สูญเสียไปโดยไม่จำเป็น ที่สำคัญคือ ปัญหานี้ผู้ประกอบการไม่สามารถรับรู้ได้ หรือกว่าจะรู้ก็สายไป 

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ "เอ็นเรส (ENRES)" สตาร์ทอัพด้านพลังงาน ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของเพื่อนๆ ทั้งห้าคน ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทำงานแตกต่างกัน แต่มีแนวคิดที่จะจัดการพลังงานในอาคารขนาดใหญ่ ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้ข้อมูลวิเคราะห์ ผนวกกับเทคโนโลยีไอโอทีและบิ๊กดาต้า เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตและนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน

ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล-เทคโนโลยี

กฤษฎา ตั้งกิจ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เอ็นเนอร์จี้ เรสปอนส์ จำกัด กล่าวว่า “เอ็นเรส” คือ แพลตฟอร์มบริการระบบข้อมูลพลังงาน วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ เพื่อโอกาสในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ เฝ้าระวังเหตุการณ์ ผ่านมุมมองใหม่ในการดำเนินธุรกิจ ทำให้การจัดการอาคารและโรงงานเป็นเรื่องง่าย ด้วยเทคโนโลยีไอโอทีและเอไอ

เพราะปัจจุบันอุปกรณ์และระบบต่างๆในอาคารและโรงงาน จะถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือระบบเหล่านี้ยังคงต้องใช้แรงงานคนในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากระบบต่างๆ มาวิเคราะห์ จึงทำให้การควบคุมระบบไม่มีประสิทธิภาพ

“จุดเด่นของเราคือ การเข้าไปเปลี่ยนระบบหน้างานให้เป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด เพื่อที่จะเห็นสถานะและพฤติกรรมแบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า อากาศ น้ำและพลังงานไฟฟ้า จะช่วยให้เข้าใจปัญหาของสุขภาพ และการใช้พลังงานภายในอาคารที่ซ่อนอยู่ โดยการติดตั้งอุปกรณ์ไอโอที เพื่อที่จะดึงข้อมูลจากเซ็นเซอร์ หรือ ระบบเก่าที่มีข้อมูลอยู่แล้ว และการเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ กับอินเทอร์เน็ต พร้อมกับตรวจสอบความเรียบร้อยแบบเรียลไทม์”

หลังจากนั้นก็จะประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นผ่านเอไอ ทำให้ทราบสถานะและพฤติกรรมของพลังงาน จากนั้นจะส่งภาพขึ้นคลาวด์แพลตฟอร์ม พร้อมกับส่งข้อมูลทั้งหมดไปยัง business Application ให้ลูกค้า อาทิ แอพพลิเคชั่นไลน์ นำไปสู่การกำหนดวิธีการช่วยในการวางแผน และควบคุมเป้าหมายการปฏิบัติงาน การบำรุงรักษา ตลอดจนความปลอดภัย ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับกรณีตัวอย่างของผู้ใช้งาน อาทิ หอระบายความร้อนของน้ำในโรงพยาบาล โดยเอ็นเรสได้ติดตั้งเซ็นเซอร์สำรวจการทำงานของพัดลมระบายความร้อน จากนั้นเมื่อทำการแก้ไข พบว่าช่วยลดพลังงานได้ประมาณ 3 หมื่นบาทต่อเดือน

อีกหนึ่งจุดแข็งสำหรับองค์กรที่มีหลายไซต์ จะสามารถดูข้อมูลอาคารได้ทุกไซต์พร้อมกันผ่านมุมมองแบบองค์รวม ช่วยทำให้บริหารจัดการบุคลากรได้ง่าย และมอนิเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว

กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของเอ็นเรส จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ อย่างภูเก็ต เชียงใหม่ รวมแล้วกว่า 100 อาคารทั้งอาคารสำนักงาน สถานศึกษา โรงพยาบาล ที่มีสูงถึง 30% ถัดมาเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจค้าปลีก ขณะที่อาคารและโรงงานทั้งประเทศมีกว่า 1.7 แสนแห่ง และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประมาณ 10 ล้านแห่ง จึงเป็นขนาดตลาดที่กว้างและสามารถไปต่อได้อีก

เทคโนโลยีมาเร็วไปเร็ว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเอ็นเรสยังคงทำการตลาดเพียงในประเทศ เพราะต้องการที่จะทำให้เติบโตมากขึ้น แต่ในอนาคตมีแผนที่จะขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศคือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ด้วยจำนวนอาคารและโรงงานตลาดค่อนข้างใหญ่ และพาร์ทเนอร์ภูมิภาคสามารถหาได้ง่าย

สำหรับความท้าทายในมุมของเทคโนโลยี เขามองว่า ทุกอย่างเปลี่ยนไปค่อนข้างรวดเร็วและมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ จึงต้องมีการอัพเดต และปรับเทคโนโลยีตลอดเวลา ส่วนในมุมของธุรกิจมองว่า เอ็นเรสเข้าตลาดมากว่า 4 ปี ดังนั้นการทำงานค่อนข้างที่จะเข้าใจตลาดมากขึ้นแต่จะต้องมีการมอนิเตอร์ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ส่วนทางด้านสถานการณ์โควิดที่ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน จากการที่เอ็นเรสมีบิซิเนสโมเดลเป็น B2B ฉะนั้น จะมีบางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ อาทิ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เนื่องจากมีความยากในการติดตั้งระบบ แต่ในทางกลับกันเมื่อมีมาตรการเว้นระยะห่างจะมีโจทย์บางพื้นที่ๆต้องการนำระบบเข้ามาช่วยในการจัดการในมุมของรีโมทซิสเต็ม เพื่อรวบรวมข้อมูลโดยไม่ต้องใช้คน โดยจะได้เซกชั่นอื่นเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรงงาน และโรงพยาบาล ที่เพิ่มเข้ามา

ธุรกิจเติบโตบนเส้นทาง“ข้อมูล” 

“เราจึงแผนที่จะพัฒนาแพ็คเกจ self service เพื่อให้สามารถส่งไปหน้างานและติดตั้งได้ด้วยตนเอง เนื่องจากจุดสำคัญอยู่ที่แพลตฟอร์ม และซอฟต์แวร์เป็นหลัก และในมุมการทำงานจะปรับเป็นออนไลน์มากขึ้น ส่วนในอนาคตมองหาลู่ทางเซอร์วิสใหม่ๆ เพื่อให้เป็นอัตโนมัติเพิ่มขึ้น เฉลี่ยจะออกโปรดักท์ใหม่ทุกๆ 3-6 เดือน”

ปัจจุบัน เอ็นเรสผ่านการระดมทุนมาประมาณ 2 รอบ ซึ่งจะเป็นรอบ Seed และ Pre-series A และตั้งเป้าว่าภายใน 2 ปีจะระดมทุนอีกครั้ง รวมทั้งเอ็นเรสยังเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่ชนะเลิศจากโครงการ Depa smartcity accelerator ในปีที่ผ่านมาอีกด้วย 

กฤษฎา เชื่อว่า การที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตและยั่งยืนจะต้องใช้จุดแข็งที่มี นั่นคือในเรื่องของข้อมูลและซอฟต์แวร์ โดยจะโฟกัสการพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เป็นหลัก ส่วนการขยายพื้นที่การให้บริการจะร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่มีจำนวนมาก 

การทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้นั้น เมื่อลูกค้าใช้ระบบจะทำให้เขาสามารถเปลี่ยนวิธีการคิด มุมมอง และเมื่อเกิดการใช้อย่างต่อเนื่องจากส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นและภักดีต่อแบรนด์ เมื่อนั้นจะส่งแรงกระเพื่อมทำให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนเช่นกัน