เปิดใจ "สมชัย เลิศสุทธิวงค์" ดัน เอไอเอส ร่วม SCBX ปลุกโลกการเงินดิจิทัล
หลังจากที่ “เอไอเอส” และ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ประกาศร่วมทุน ตั้งบริษัทลูกภายใต้ชื่อ “เอไอเอสซีบี” เพื่อให้บริการการเงินดิจิทัล บริการด้านสินเชื่อ นับเป็นก้าวย่างสำคัญของการผนึกกำลังจากทั้งสององค์กรที่ "ยืนหนึ่ง" อยู่ในระดับแถวหน้าของประเทศ
"สมชัย เลิศสุทธิวงค์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงการร่วมทุนครั้งสำคัญนี้ว่า บริษัทร่วมทุนดังกล่าว ได้นำเอาจุดเด่นของพันธมิตรทั้งสอง คือ ความแข็งแกร่งด้าน เทคโนโลยีดิจิทัล เครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ นวัตกรรมอันล้ำสมัย ตลอดจนศักยภาพในการให้บริการลูกค้าของเอไอเอส มาผสานเข้ากับความน่าเชื่อถือของแบรนด์ รวมถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านบริการทางการเงินของธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมและ บริการการเงินดิจิทัล ที่สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้ลูกค้า และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินให้คนไทยได้มากยิ่งขึ้น ท่ามกลางบริบทของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ขยายสู่นาโนไฟแนนซ์
ความร่วมมือที่เกิดขึ้น เป็นการข้ามสายพันธุ์ธุรกิจ “ครอส บิสซิเนส” จาก กลุ่มการเงิน-กลุ่มโมบาย โอเปอเรเตอร์ เอไอเอส มองเห็นโอกาส 3 ส่วน คือ
1.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมจากจุดแข็งของทั้งสอง 2 ฝ่าย
2. ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านการเงินให้แก่คนไทย โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤตจากโควิด ทำให้รูปแบบการประกอบอาชีพของคนไทยเปลี่ยนไป การมีบริการลักษณะนี้ ช่วยให้คนไทยมีทางเลือก ไม่ต้องหันไปหาแหล่งเงินกู้นอกระบบ
3. เป็นการต่อยอดรูปแบบบริการของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างการเติบโตทางธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่ายอย่างยั่งยืน
สมชัย กล่าวว่า รูปแบบบริการที่ร่วมกัน คือ "นาโน ไฟแนนซ์" หรือการปล่อยกู้รายย่อย รวมถึงบริการไฟแนนซ์การซื้อมือถือด้วย ซึ่งเอไอเอสเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายแรกที่เริ่มให้บริการโมบาย เพย์เม้นท์ ในเมืองไทย เพราะเชื่อมั่นว่า บริการด้านการเงิน คือ บริการหลักที่อยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน
ขณะที่ โมบาย เพย์เม้นท์ ยังคงเป็นหนึ่งในดิจิทัล เซอร์วิส ที่เอไอเอสโฟกัสมาอย่างต่อเนื่อง และอยากขยายขอบเขตการทำงานเพิ่มขึ้น เป็นที่มาของการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมนี้ เพื่อให้สามารถเพิ่มบริการที่หลากหลาย ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มได้มากขึ้น โดยความชัดเจนของธุรกิจหรือ เอไอเอสซีบี จะเริ่มเห็นได้ในไตรมาสแรกของปี 2565
ขับเคลื่อนดิจิทัลไลฟ์คู่“5จี”
เขา เสริมว่า ภายใต้ความตั้งใจของเอไอเอส ที่มุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์ จึงเร่งพัฒนาความแข็งแกร่งของธุรกิจ ในการให้บริการด้านดิจิทัลได้อย่างตรงจุด ขับเคลื่อนและพัฒนาแสวงหาช่องทางใหม่ให้บริการ ที่ตรงความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น
ปัจจุบันเอไอเอส ขับเคลื่อนบริการดิจิทัลเซอร์วิส ครอบคลุมทั้งลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร ทั้งหมด 5 ด้าน คือ ธุรกรรมทางการเงินบนมือถือ (Mobile Money) วีดิโอแพลตฟอร์ม (VDO Platform) คลาวด์สำหรับองค์กร (Business Cloud) บริการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ (IoT) และบริการแพลตฟอร์มอื่นๆ
การประกาศว่า เอไอเอสจะผันตัวเป็น ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์ สิ่งหนึ่งที่สำคัญ และเอไอเอสมุ่งมั่นในการพัฒนา คือ "ดิจิทัล แพลตฟอร์ม" ที่จะเป็นรากฐานสำคัญให้เอไอเอสได้ต่อยอด พัฒนาบริการลูกค้าให้ได้อย่างตรงใจ หนุนเป้าหมายของเอไอเอสที่ต้องการเป็นผู้ให้บริการ “ดิจิทัลแพลตฟอร์มคอนเทนท์” ด้วย
ปรับเพื่อเปลี่ยนคือทางรอด
สมชัย กล่าวต่อว่า หลังได้รู้จักและอยู่ร่วมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเกือบสองปี บทเรียนในวิกฤติที่ผ่านมา ทำให้เชื่อว่า ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด คือ การเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัว ในวันนี้ เทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ได้อยู่ไกลตัวเราอีกต่อไป อยู่ที่ว่าใครจะปรับใช้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร สำหรับเอไอเอส วันนี้เรามีทั้ง Core Business และการเติบโตในกลุ่มธุรกิจใหม่เหมือนที่พูดไว้ข้างต้น ซึ่งล้วนมีความท้าทายและสร้างโอกาสอย่างมหาศาล
ดังนั้น สิ่งที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด ฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจ และเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืน
"เรายังเชื่อมั่นว่า โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5จี ซึ่งปัจจุบัน เอไอเอสถือครองคลื่นความถี่ ทั้ง 4จี และ 5จี มากที่สุด ครอบคลุมมากที่สุดในไทย จำนวน 1420 เมกะเฮิรตซ์ จะสามารถรองรับการใช้งานของลูกค้าคนไทย และผลักดันส่งเสริมให้เกิดการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม นโยบายของเอไอเอส นอกจากเดินหน้าพัฒนาบริการดิจิทัลอย่างดีที่สุดแล้ว การร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศและช่วยเหลือสังคมก็เป็นหน้าที่หลักที่เร่งดำเนินการอย่างสุดความสามารถเช่นกัน"
สมชัย บอกว่า สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เอไอเอสมุ่งมั่นใช้จุดแข็งที่มี คือ โครงข่ายดิจิทัล รวมถึงฐานลูกค้ากว่า 43.2 ล้านรายเข้าไปเชื่อมต่อ ช่วยเหลือ สนับสนุน เพื่อรักษาไว้ให้ได้ทั้งร้านค้ารายเล็ก ที่เป็นเสมือนฟันเฟืองจำนวนมากที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานราก และร่วมลดภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้าเอไอเอสไปด้วยในเวลาเดียวกัน