สกสว. หารือ PMU จัดสรรงบ ปี 65 เน้นนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
สกสว.ชงแนวทางและเงื่อนไขการเบิกจ่ายงบประมาณ ด้านการวิจัยและพัฒนา ขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างแท้จริง
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประชุม PMU Forum ครั้งที่6/2564 ในรูปแบบออนไลน์ โดยมี ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สกสว. และ คณะผู้บริหารของหน่วยบริหารจัดการทุน
ประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมการประชุม
เพื่อรับฟังแนวทางและเงื่อนไขการเบิกจ่ายงบประมาณ และ การจัดทำคำรับรองปีงบประมาณ 2565 รวมถึงหลักการและแนวทางการสนับสนุนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
โอกาสนี้ รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ว่า สำหรับการพิจารณางบประมาณปี พ.ศ. 2565 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร มีข้อเสนอแนะให้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นการขับเคลื่อน และผลักดันความรู้ ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เพื่อการแก้ปัญหาประเด็นสำคัญของประเทศ สร้างผลกระทบต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย
ทั้งนี้ข้อเสนอแนะดังกล่าว สกสว. ได้นำเสนอ (ร่าง) “กลไกการบริหารงานและการปรับงบประมาณด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565" ต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) โดยได้เสนอรูปแบบการบริหารงบประมาณด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดย กสว. มีมติ เห็นชอบในหลักการให้มีการส่งเสริมและขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างแท้จริง ในปีงบประมาณ 2565 โดยจะอยู่ในส่วนของ Strategic Fund พร้อมกับมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการกำกับ ติดตามการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ที่สำคัญ ยังสอดคลองกับมติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 7 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .… ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 494 เสียง
ซึ่งเป็น ความพยายามของ สกสว.และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รวมถึงหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ร่วมผลักดันกันมาอย่างต่อเนื่อง
ด้าน รศ.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว.กล่าวว่า เป้าหมายการนำผลการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศในปี 65 นั้น มีขอบเขตและกิจกรรมดำเนินงานการใช้ประโยชน์ ใน 3ด้าน คือ 1.ด้านนโยบาย ซึ่งเป็นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่มาทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ด้านนโยบาย โดยไม่ใช่การทำวิจัยใหม่ แต่สามารถทำ Quick Research เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ขึ้นได้ อีกทั้งเป็นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการกำหนดนโยบาย แผนแนวปฏิบัติ ระเบียบ มาตรการ กฎหมาย หรือใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย
โดยมีเป้าหมาย คือ ให้เกิดการพัฒนา กำหนดหรือปรับปรุงนโยบายที่เป็นลักษณะ Evidence Based และสามารถส่งผลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง
2. ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมาย คือ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตสินค้าและการบริการ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ
3.เป็นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการเปลี่ยนวิธีคิด พฤติกรรม ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหรือเกิดการนำไปปฏิบัติจริง โดยมีเป้าหมาย คือ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาคน ชุมชน ท้องถิ่น สร้างสังคมที่มีคุณภาพ และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น หรือนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชนหรือสังคมตลอดจนสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
โดยทั้งหมดที่กล่าวมา จะเป็นแนวทางการทำงานร่วมกันของ สกสว.และหน่วยบริหารจัดการทุนอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ให้งานวิจัยนั้นขึ้นหิ้ง