“เอนก”หนุนใช้ปัญญาประดิษฐ์ ช่วยผู้ป่วยโควิด-19 จัดการตัวเอง

“เอนก”หนุนใช้ปัญญาประดิษฐ์ ช่วยผู้ป่วยโควิด-19 จัดการตัวเอง

“เอนก” หนุนใช้ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ช่วยผู้ป่วยจัดการตัวเองจากโควิด-19 เพื่อลดภาระของแพทย์ พยาบาล ชี้ไทยผ่านวิกฤติได้เพราะคนไทยมีวินัยและมีคนเก่งกระจายตัวในที่ต่างๆ

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และส่วนภูมิภาคโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงมหาดไทย  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) 

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีฯ กล่าวว่า ขอชื่นชมทุกหน่วยที่มาร่วมมือกันพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะ วช. ที่เป็นหน่วยให้ทุนสนับสนุน ที่สำคัญ วันนี้ (28 ก.ย.64) เป็นวันแรกในรอบ 2 เดือนที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ของไทยต่ำกว่า 1 หมื่นคน ที่ผ่านมา ตนไปตรวจเยี่ยมที่ไหนก็จะเน้นย้ำตลอดว่า เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน เพราะเชื่อเสมอว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลวยากมาก 

คนไทยมีลักษณะพิเศษ คือ มีความเมตตาสูง พร้อมช่วยเหลือกัน มีการระดมบริจาคกันมากมาย แม้คนที่ลำบากก็ยังจะมีน้ำใจกับผู้อื่น เราถึงสู้ได้ในทุกวิกฤติ ที่สำคัญ คนไทยมีวินัยมากพอ รู้ว่าเวลาใดควรเข้มงวดกับตนเอง ไม่เช่นนั้นมาตรการต่างๆ ที่ออกมาคงไม่ได้รับความร่วมมืออย่างดี และเรายังมีคนเก่งกระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ มากมาย  อย่าง อว. ก็พร้อมเป็นกองหนุนสนับสนุนการทำงานของ สธ. ทั้งการเปิดโรงพยาบาลสนาม การจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน นำบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาสนับสนุนการทำงานทุกด้าน 
 

โดยเฉพาะการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงงานวิจัยต่างๆ มาใช้ประโยชน์ เช่น การนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาช่วยให้ผู้ป่วยจัดการตัวเองได้ เพื่อลดภาระของแพทย์และพยาบาล นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังสนใจใช้เทคโนโลยี AI ของ อว. ในการป้องกันอาชญากรรม ซึ่ง อว. ก็พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการนำเทคโนโลยี AI ไปสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่   

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI : Arificial Inteligence) มาใช้ประโยชน์ในการร่วมป้องกันโควิด -19 โดยได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อดำเนินการโครงการเรื่อง  “ปัญญาประดิษฐ์เพื่อประเมินพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของประชาชนในช่วงโควิด-19" 

ในระยะแรกได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครและบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในการสร้างระบบวิเคราะห์ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เพื่อวิเคราะห์การสวมหน้ากากอนามัยและการสัญจรของภาคประชาชนในสถานที่ต่าง ๆ โดยมีการรายงานผลการวิเคราะห์ไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และมีการสื่อสารต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง 


วช.เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อป้องกันโควิด–19 ภาย ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค โดยนำระบบปัญญาประดิษฐ์/เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการคัดกรองและสนับสนุนการป้องกันสุขภาพประชาชน ได้แก่ การส่งเสริมการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง การส่งเสริมการเว้นระยะห่าง การให้ความรู้เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเพื่อการรับรู้สุขภาพของประชาชน 

ทั้งนี้ ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI  สามารถพัฒนาระบบตรวจจับหน้ากากอนามัย การพัฒนาระบบการเว้นระยะห่าง และระบบหลังบ้านที่ใช้ในการบริหารการเฝ้าระวัง โดยจะมีการนำเสนอข้อมูลหรือดาต้าวิชวลไลเซชั่น (Data Visualization) จากข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ ในการประเมินพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยของประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค เพื่อส่งเสริมและขอความร่วมมือในการใส่หน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่อง 

ระบบประเมินและติดตามการใส่หน้ากากอนามัย ระบบวัดการเว้นระยะห่างจะช่วยทำให้มีข้อมูลนำเสนอต่อภาครัฐ รวมไปถึงภาคประชาชน ในการให้ความร่วมมือในการป้องกันตัวจากโรคระบาดในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และส่วนภูมิภาคต่าง ๆ   

ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย (AiMASK) ได้รับการสนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยจาก วช. ในการดำเนินโครงการ เพื่อประมวลผลการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชน 

ระบบเอไอ ดังกล่าวนี้ มีประโยชน์อย่างมากเนื่องจากสามารถที่จะติดตามและวัดผลว่าประชา ชนในแต่ละพื้นที่ได้ใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ใส่ รวมทั้งมีการใส่แต่ไม่ถูกต้อง ซึ่งระบบสามารถประมวลผลอย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็วแบบเรียลไทม์ จึงเป็นข้อมูลสำคัญในการบริหารสถานการณ์ว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง หรือในเวลาใด รวมทั้งใช้ในการประเมินภาพรวมว่าได้มีความเข้มงวดหรือระมัดระวังในการป้องกันการแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าการ์ดสูงหรือการ์ดตก 

รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวังและหาบริเวณที่มีความเสี่ยงเพื่อจะลดโอกาสเสี่ยงได้ล่วงหน้า ทำให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ในการเตือนประชาชนให้กระชับมาตรการในบางช่วงบางเวลาได้ด้วย ทั้งนี้ยังจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับใช้ในการติดตามสถานการณ์ในช่วงที่มีการผ่อนคลาย